แม้ว่า พล.อ.อภิรัชต์ จะออกมาแถลงข่าวทั้งน้ำตาถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ จ.นครราชสีมา นำมาสู่แนวทางการล้างบาง ‘หม้อข้าวทหาร’ ในการจัดการ ‘สวัสดิการเชิงพาณิชย์’ ของ ทบ.ในการลงนาม MOU กับกระทรวงการคลัง ในเรื่องการจัดเก็บรายได้ต่างๆ เพราะเป็นพื้นที่ราชพัสดุ รวมทั้งการจัดระเบียบ ‘บ้านพักทหาร’ ที่คนเกษียณฯ ต้องออกไป ต่อมากลับมี ‘ข้อยกเว้น’ ให้กับบุคคลที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศอยู่ เช่น นายกรัฐมนตรี รองนายกฯ คณะรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และองคมนตรี
ส่วนความคืบหน้าการเยียวยาเหตุการณ์โศกนาฏกรรม ที่ จ.นครราชสีมา ที่ผ่านมากว่า 3 เดือนแล้ว หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการชี้แจงความคืบหน้าใดๆผ่านสื่อ โดยสัปดาห์ก่อน พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก ทบ. ออกมาชี้แจงว่า ทุกอย่างมีความคืบหน้าและมีการเปลี่ยนแปลง อีกทั้ง ผบ.ทบ. ได้มีการปรับระบบการบริหารจัดการภายในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการทั้งหมด รวมถึงการปรับเปลี่ยนบุคลากร
“ส่วนสาเหตุและผลสรุป เป็นเรื่องคดีความที่ต้องใช้เวลา เนื่องจากมีขั้นตอน และปัจจุบันก็ยังเยียวยาภรรยาและบุตรของผู้ได้รับผลกระทบ บางคนก็ยังบาดเจ็บ รักษาตัว ทำหน้าที่ไปรับ-ส่ง พร้อมหาอาชีพให้ และปรับปรุงบ้านพักให้ ซึ่งการไม่ได้ออกมาชี้แจง เพราะมองว่าคนที่สูญเสียคงไม่อยากให้ใครมาพูดถึงเรื่องดังกล่าวบ่อยๆ ขอยืนยันว่าทุกเรื่องที่สังคมสงสัย สามารถอธิบายได้ เพียงแต่บางเรื่องต้องใช้เวลา” พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าว
หลังพรรคก้าวไกล นำโดย ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’โฆษกพรรค ออกมาซัด พล.อ.อภิรัชต์ ผ่านมากว่า 3 เดือน สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ ‘การปฏิรูป’ แต่เป็นเพียง ‘ปาหี่’ ยื้อเวลาเท่านั้น
เพราะมองว่าสิ่งที่ พล.อ.อภิรัชต์ ทำยังไม่มีความชัดเจน ทั้งเรื่องการจัดการสวัสดิการเชิงพาณิชย์ในเฟสแรกทั้ง 40 แห่ง มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง การโยกย้ายนายทหารที่ลงนามคำสั่งย้าย ‘ผู้พัน’ ไปนั้น มีบทลงโทษทางวินัยทหารและทางอาญาหรือไม่ รวมทั้งความคืบหน้ากรณี ‘สนามมวยลุมพินี’ ที่ผ่านมา 2 เดือนแล้ว ยังไร้คำตอบที่ชัดเจน
แม้ว่า พล.อ.อภิรัชต์ จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหาข้อเท็จจริง โดยมี พล.ท.อยุทธ์ ศรีวิเศษ เจ้ากรมกำลังพล เป็น ประธานคณะกรรมการฯ พร้อมทั้งแขวน พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการ ทบ. ในฐานะนายสนามมวยเวทีลุมพินี และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดแข่งมวย เข้ามาช่วยราชการที่ บก.ทบ. เพื่อเปิดทางให้มีการหาข้อเท็จจริงขึ้น
ซึ่งภายใน ทบ. ถือว่าจับตาอยู่ด้วยเช่นกัน เพราะ พล.ต.ราชิต เป็นเพื่อน ตท.20 กับ พล.อ.อภิรัชต์ ด้วย และถือเป็นการแขวน ‘ระดับเจ้ากรม’ ทว่าก็ยังไม่สร้างความเชื่อใจจากสังคมภายนอก เพราะเป็นการ ‘ตรวจสอบกันเอง’ ของทหาร และ พล.อ.อภิรัชต์ เองก็มีตำแหน่งเป็น ปธ.อำนวยการสนามมวยเวทีลุมพินี ด้วย
อย่างไรก็ตามมีรายงานเบื้องต้นว่า เป็นเรื่องที่ต้องนำ ‘พฤติการณ์’ ที่เกิดขึ้น ไปเทียบกับ ‘กฎระเบียบวินัยทหาร’ ข้อใดได้บ้าง เพราะการออกบทลงโทษใดๆ จะเป็นมาตรฐานในครั้งต่อไป หากนำหนังสือ ‘ข้อสั่งการนายกฯ’ ที่สั่งการในที่ประชุม ครม. เมื่อ 3 มี.ค. โฟกัสสำคัญอยู่ที่ข้อ “1.7 ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคเอกชนหลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยไม่จำเป็น เช่น การแข่งขันกีฬา การจัดคอนเสิร์ต และการจัดมหรสพ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีความจำเป็นต้องจัดกิจกรรมโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ให้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
ในกรณีที่เป็นกิจกรรมที่ต้องขออนุญาตจากส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้มีอำนาจอนุญาตพิจารณาความเหมาะสมของการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก ให้พิจารณาอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสาธารณชนโดยรวมต่อการแพร่ระบาดของโรคเป็นสำคัญ”
ซึ่งข้อนี้เองที่เป็นฐานของ ‘หนังสือขอความร่วมมือ’ ของ สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย กกท. ที่ทำหนังสือถึง นายสนามมวยเวทีลุมพินี (พล.ต.ราชิต) ที่อิงข้อสั่งการนายกฯ ในการขอความร่วมมือผู้ประกอบการสนามมวยและนายสนามมวยที่อยู่ในการดูแล ซึ่งกองทัพบกอยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหม ที่เป็นกระทรวงในกำกับของนายกฯด้วย ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ ทบ. ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ และสะเทือนมาถึง พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย
นอกจากนี้ในเดือน พ.ค.นี้ เป็นเดือนแห่งการครบรอบเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ โดยเฉพาะการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ปี2553 ที่ครบรอบ 10 ปี โดย ‘คณะก้าวหน้า’ นำโดย ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ – ปิยบุตร แสงกนกกุล – พรรณิการ์ วานิช’ ได้ปฏิบัติการ ‘เลเซอร์ตามหาความจริง’ ขึ้นมา ในการเล่าถึงเหตุการณ์ พ.ค.2553 ผ่านสถานที่เกิดเหตุในพื้นที่ กทม. และที่กระทรวงกลาโหม เพราะเป็นพื้นที่เชิงสัญลักษณ์สำคัญ ซึ่งคณะก้าวหน้าไม่ได้เจาะจงเพียงเหตุการณ์ พ.ค. 2553 แต่ย้อนไปถึงเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 , 6 ต.ค.2519 และพฤษภาทมิฬ 2535 ที่มี ‘กองทัพ’ เป็นคู่ขัดแย้ง
ซึ่งเป็นสิ่งที่ พล.อ.อภิรัชต์ เคยกล่าวบนเวทีแผ่นดินของเราฯ เมื่อต้นเดือน ต.ค. 2562 โดยเฉพาะเหตุการณ์ปี 2553 ที่ พล.อ.อภิรัชต์ เป็นที่รู้จักและติดแบล็คลิสต์ของคนเสื้อแดง ผ่านปฏิบัติการยึดคืนสถานีดาวเทียมไทยคม จ.ปทุมธานี (เม.ย.53) ขณะเป็น ผู้การ ร.11 รอ. ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ได้ยกทฤษฎี Hybrid Warfare มาอธิบายเหตุการณ์
“ภาพเหตุการณ์เผาเมืองเมื่อปี 52-53 ผมได้มีโอกาสเดินทางไป เพราะรู้สึกว่าวัยรุ่น นิสิต นักศึกษา มีความอ่อนไหวมาก แล้วจะต้องเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง เขาต้องรู้ความจริง เด็กบางคนที่ผมไปพูด ไปพบกับนักศึกษาวิชาทหาร พบกับนักเรียน ผมถามว่า เกิดปี พ.ศ. อะไร อายุเท่าไหร่ สมัยก่อนเด็ก 6-7 ขวบ ไม่รู้หรอกว่า มีการเผาศาลากลางจังหวัด ลืมไปหมดแล้ว แต่ก่อนเด็กไม่สนใจอะไร ไปถามเขาก็บอกไม่รู้เรื่อง ไม่เคยได้ยิน แล้วภาพเหล่านี้ ถูกระบบที่เขาเรียกว่า Big Data Analytics ใช้ระบบเพิ่มข้อมูลซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนให้ข้อเท็จจริงหายไปจากโซเชียลฯ หรือเสิร์ชไปหายาก นี่คือเรื่องจริงที่มันเกิดขึ้น” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว
แต่ละฝ่ายทั้ง ‘กองทัพ’ และ ‘คณะก้าวหน้า’ ต่างถือความจริงคนละชุด และเลือกเนื้อหาที่จะนำเสนอ แต่สิ่งที่ทั้ง พล.อ.อภิรัชต์ และ คณะก้าวหน้า หวังสร้างการรับรู้ก็คือกับ ‘คนรุ่นใหม่’ นั่นเอง
เพราะคนกลุ่มนี้ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ยังไม่สามารถจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ผ่านมา 10 ปี เด็กกลุ่มนี้เติบโตมาเป็นวัยรุ่นและวัยเข้าเรียนมหาวิทยาลัย สามารถที่จะมีวิจารณญาณที่จะเลือกเชื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้
ดังนั้นการเผชิญหน้าในการ ‘ตามหาความจริง’ ของทั้ง 2 ฝ่ายยังคงดำเนินต่อไป
แน่นอนว่า ‘กระบวนการตามหาความจริง’ ปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมมีการเมืองเข้าแทรกแซง โดยเฉพาะการถือครองอำนาจของขั้วใดในเวลานั้น
โดยในปัจจุบันเป็น ‘ขั้วทหาร’ ที่ถือครองอำนาจจากยุค คสช. เดิม ซึ่งอดีตนายทหารที่อยู่ในยุค คสช. หลายคน ก็เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ พ.ค.2553 โดยเฉพาะ ‘3 ป.บูรพาพยัคฆ์’ และ พล.อ.อภิรัชต์ ทำให้ คณะก้าวหน้า ทำผังอดีตนายทหารที่ต่างได้ดิบได้ดีออกมา
ย้อนไปเหตุการณ์ที่ ทบ. ตรวจสอบตัวเอง กรณีสนามมวยลุมพินี และการค้นหาความจริงท่ามกลางแนวคิดทางการเมืองที่แตกเป็น 2 ขั้วชัดเจน ระหว่างเอาและไม่เอาทหาร กับ เหตุการณ์ พ.ค.53 รวมถึงเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 , 6 ต.ค.2519 และพฤษภาทมิฬ 2535 ที่มี ‘กองทัพ’ เป็น ‘คู่ขัดแย้ง’
ในสภาวะที่ทหารยังคงมีบทบาททางการเมืองสูง หรือที่เราเรียกกันว่า ‘รัฐทหาร’ กระบวนการทำความจริงให้ปรากฏย่อมต้อง ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ควบคู่
ไม่เช่นนั้นก็ยากจะ ‘ตามหาความจริง’ ต่อเหตุการณ์ทั้งหมด รวมทั้ง ‘ความน่าเชื่อถือ’ ของความจริงนั้นๆ เพราะอีกด้านก็ต้องพิจารณาความจริงที่ฝั่งคณะก้าวหน้านำเสนอมาด้วย
เข้าสำนวนที่ว่า ‘สงครามเกิด ความจริงหาย’ !!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง