ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันพร้อมผลักดันให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทั่วไทย ได้รับค่าตอบแทน 500 บาทต่อคน เต็มระยะเวลา 19 เดือน เพื่อเป็นกำลังใจและสมกับความทุ่มเท เสียสละ ในการขจัดโรคโควิด 19 ให้หมดจากไทย

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การที่ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลกนั้น นอกจากได้รับความร่วมมือจากประชาชนชาวไทยเป็นอย่างดี อาทิ การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม

และปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐอย่างเคร่งครัดแล้วนั้น ยังได้รับความร่วมมือจากขุมพลังสำคัญคืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ ที่ร่วมทำหน้าที่ขับเคลื่อนระบบเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเข้มแข็ง ทั้งการลงพื้นที่ให้คำแนะนำ เยี่ยมเยียนพี่น้องในชุมชน และติดตามผู้มีความเสี่ยงให้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรค หรือกักตัว

ซึ่งเป็นการทำงานที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้พี่น้อง อสม.หลายคนต้องเจ็บป่วย หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติงาน ดังนั้นการสร้างเสริมขวัญกำลังใจของพี่น้อง อสม.จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐพึงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะพลัง อสม.มีส่วนในขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขไทยให้สามารถผ่านวิกฤตโรคโควิด 19 ได้

ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด 19 อสม.ได้มีส่วนสำคัญในการป้องกัน ควบคุมโรคอย่างเข้มแข็ง จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยมีการเคาะประตูบ้านให้ความรู้แก่ประชาชน แนะนำและเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน ควบคุมโรค ภายใต้วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) สร้างความตระหนักไม่ให้ชุมชนการ์ดตก

อีกทั้งรับหน้าที่เป็นด่านหน้าในการค้นหา คัดกรองประชากรกลุ่มเสี่ยงกว่า 14 ล้านครัวเรือน และติดตามกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งเป็นการทำงานที่มีความเสี่ยงสูง ต้องทุ่มเท เสียสละทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายของ อสม. ทั้งที่ตัวของ อสม.เองก็เป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบในด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคโควิด-19 เฉกเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป

ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบแทนและให้กำลังใจต่อความทุ่มเท เสียสละ ตรากตรำทำงานอย่างหนักของพี่น้อง อสม. กระทรวงสาธารณสุขเห็นควรให้ อสม. ได้รับค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยในการป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 500 บาท เป็นระยะเวลา 19 เดือน (มี.ค. 2563-ก.ย. 2564) ตามระยะเวลาพระราชกำหนดเงินกู้

ถึงแม้ว่าสถานการณ์ของโรคโควิด-19 จะดีขึ้น แต่ อสม. ยังคงปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชนต่อไปอย่างเข้มข้น ทั้งการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และการดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ของประชาชนอันเกิดจากผลกระทบของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการฟื้นฟูเยียวยาด้านจิตใจแก่คนในชุมชน