แถลงการณ์ดังกล่าวของสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์มีขึ้นหลังพระองค์และสมเด็จพระราชินีแม็กซิมา ทรงร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการจากประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ของอินโดนีเซียที่กรุงจาการ์ตา ระหว่างการเสด็จเยือนอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 4 วัน โดยในการแถลงข่าวร่วมสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ได้ตรัสว่า สอดคล้องกับแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ พระองค์ทรงต้องการแสดงความเสียใจและขอโทษต่อความรุนแรงซึ่งมากเกินกว่าจะยอมรับได้ที่เนเธอร์แลนด์ได้กระทำในช่วงเวลาดังกล่าว และทรงตระหนักอย่างลึกซึ้งว่าความเจ็บปวดและโศกเศร้าของครอบครัวที่ได้รับผลกระทบยังคงรู้สึกได้จนถึงปัจจุบัน โดยทรงย้ำว่าอดีตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถลบได้ และเป็นสิ่งที่คนในแต่ละรุ่นต่อมาควรจะต้องยอมรับ
ในระหว่างแถลงร่วม สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ ยังได้ตรัสแสดงความปรารถนาที่จะได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ขณะที่ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ก็ย้ำความจำเป็นในการเดินหน้าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศบนพื้นฐานการเคารพซึ่งกันและกัน โดยระบุว่าถึงแม้เราไม่สามารถลบประวัติศาสตร์ได้ แต่เราสามารถเรียนรู้จากอดีตได้ อินโดนีเซียประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หลังถูกยึดครองช่วงสั้นๆโดยญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกและเป็นอาณานิคมของฮอลแลนด์หรือเนเธอร์แลนด์มาหลายร้อยปี แต่กว่าเนเธอร์แลนด์จะยอมรับอำนาจอธิปไตยของอินโดนีเซียก็จนกระทั่งปี 2492 โดยเมื่อปี 2556 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ขอโทษอินโดนีเซียอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกต่อการสังหารหมู่โดยกองทัพเนเธอร์แลนด์ ระหว่างที่อินโดนีเซียทำสงครามประกาศเอกราชในช่วงทศวรรษ 1940 แต่รายงานระบุว่า แถลงการณ์ของสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ครั้งนี้ ถือเป็นการออกมาขอโทษครั้งแรกโดยพระมหากษัตริย์ของเนเธอร์แลนด์
ขณะที่เว็บไซต์ข่าว The Jakarta Post ของอินโดนีเซียก็รายงานว่า นี่ยังถือเป็นการกลับจุดยืนของกษัตริย์เนเธอร์แลนด์หลายพระองค์ก่อนหน้าในการปฏิเสธขอโทษต่ออาชญากรรมสงครามในอดีตของเนเธอร์แลนด์ที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย โดยเมื่อปี 2538 ระหว่างที่สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์เสด็จเยือนอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ ก็ทรงถูกขัดขวางจากนายวิม โกก นายกรัฐมนตรีของเนเธอร์แลนด์ในเวลานั้น ไม่ให้พระองค์มีพระราชดำรัสขอโทษ ด้วยเหตุผลว่าเนเธอร์แลนด์ยังไม่พร้อม
ที่มา France24/The Jakarta Post