ไม่พบผลการค้นหา
ดัชนีอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 62 ติดลบครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังการบริโภคภายในประเทศหดตัวต่ำตามเศรษฐกิจ และการส่งออกติดลบ หวั่นเงินบาทแข็ง-ภัยแล้ง กระทบปี'63 ซ้ำหนัก วอนรัฐหาแนวทางสร้างรายได้กลุ่มรากหญ้าเพิ่ม

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยปี 2562 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.0 นับเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยสินค้าหลักที่มีปริมาณการผลิตลดลง คือ น้ำตาลทราย ลดลงร้อยละ 6.1 แป้งมันสำปะหลัง ลดลงร้อยละ 4.7 กุ้ง ลดลงร้อยละ 1.2 และสัปปะรดกระป๋อง ลดลงร้อยละ 20 

โดยสาเหตุหลักเป็นผลมาจากการบริโภคภายในประเทศที่อ่อนตัวลงตามการชะลอของเศรษฐกิจในประเทศ ประกอบกับรายได้ครัวเรือนลดลงตามปริมาณผลผลิตการเกษตร ซึ่งสวนทางกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาอาหารสด โดยการส่งออก-นำเข้าในปี 2562 แม้ไทยจะได้ดุลการค้า แต่การส่งออกยังหดตัวลงถึงร้อยละ 3.8 มีมูลค่า 1,025,500 ล้านบาท ทั้งนี้ในปี 2563 คาดว่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยอาจจะติดลบต่อเนื่องร้อยละ 0.3 หากค่าเงินบาทแข็งค่าหลุดกรอบ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นกระทบเกษตรและอาหารเป็นลำดับแรก ซึ่งการที่ภาครัฐพยายามให้ผู้ประกอบการหาโอกาสจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรในราคาถูกลง มองว่าเป็นเรื่องที่ยาก เพราะหากจะนำเข้าเครื่องจักรจากสหรัฐฯ ยุโรป จีนที่มีมูลค่าสูง จำเป็นที่จะต้องจ้างคนเข้ามาดูแลเพิ่ม ขณะที่การบำรุงรักษาจากผู้ผลิตเป็นเรื่องที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายสูง หรือทำได้แค่ปีละ 1-2 ครั้งเท่านั้น ดังนั้นขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังเข้ามาดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน หรือแข็งค่าจนเกินไป

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2562 ที่หดตัวลง หลักใหญ่ คือ การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งมาตรการที่รัฐบาลออกมากระตุ้นการบริโภค คือ ชิมช้อปใช้ ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะรายได้ต่อเดือนและรายได่ต่อหัวของประชากรหดตัวลดลง ขณะที่ค่าครองชีพปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับภาวะภัยแล้งที่คาดว่าปีนี้จะรุนแรงจะกระทบสินค้าเกษตรสูง ดังนั้นขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้า เพราะจะกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศซ้ำเติใ เนื่องจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้มีส่วนช่วยมากนัก แต่กลับเป็นการเพิ่มต้นทุน