รายงานของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Population Fund ระบุว่า ภายในปี 2050 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 2,200 ล้านคน ซึ่งอัตราการเติบโตของประชากรกว่าครึ่งจะเกิดในภูมิภาคแอฟริกา จะส่งผลให้ประชากรในทวีปแอฟริกามีมากถึงร้อยละ 26 ของประชากรทั่วโลก
ในรายงานยังระบุว่า ทวีปแอฟริกาเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเกิดของประชากรสูงที่สุด โดยส่วนใหญ่พบว่ามีการตั้งครรภ์ในเด็กอายุ 15 ปี หรือต่ำกว่านั้นเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มการเกิดใหม่ของประชากรในเมืองน้อยกว่าในพื้นที่ชนบท เช่น ในเอธิโอเปียจะมีการกำเนิดประชากรเฉลี่ย 2.1 คนต่อผู้หญิง 1 คน ขณะที่ในเขตชนบทจะมีอัตราการเกิดสูงกว่า โดยผู้หญิง 1 คนจะมีบุตรราว 5 คน
ปัจจุบัน ประชากรกว่าร้อยละ 60 ในทวีปแอฟริกามีอายุต่ำกว่า 25 ปี และ 38 ประเทศในภูมิภาคนี้ ผู้หญิงมีบุตรราว 4 คนโดยเฉลี่ย ขณะที่ประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง เช่น อิรัก อัฟกานิสถาน มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
สำหรับประเทศไทยและประเทศที่พัฒนาแล้วอีกหลายประเทศอย่างสหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น และประเทศในทวีปยุโรป รวมถึงจีน ต่างถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเกิดของประชากรต่ำ และพบว่าในประเทศเหล่านี้อัตราการแต่งงานของประชากรหญิงเฉลี่ยอยู่ที่ 30 - 40 ปีขึ้นไป ซึ่งรายงานระบุว่าประเทศเหล่านี้ต่างมีความกังวลกับค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับการมีลูก รวมไปถึงอัตราค่าครองชีพที่สูง จนนำไปสู่อัตราการมีบุตรของแต่ละครอบครัวที่ต่ำ รวมไปถึงความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ของผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้นด้วย
โมนิก้า เฟอร์โร ผู้อำนวยการกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า ผู้หญิงจำนวน 671 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนา เลือกที่จะใช้วิธีการคุมกำเนิดสมัยใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้หญิงอีกกว่า 250 ล้านคนที่ต้องการคุมกำเนิดยังขาดการเข้าถึงวิธีการคุมกำเนิดสมัยใหม่
นอกจากนี้เฟอร์โรยังกล่าวว่า ในแต่ละปีมีผู้หญิงกว่า 300,000 คนเสียชีวิตขณะตั้งครรภ์หรือระหว่างการคลอดลูก เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพของแม่ได้ และนอกจากนี้ในทุกๆ วันยังมีเด็กผู้หญิงนับพันคนที่ถูกบังคับให้แต่งงานในขณะที่อายุยังน้อย
รายงานของ UN Population Fund ยังเตือนด้วยว่า จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เยาวชนในอนาคตเส่ียงเผชิญปัญหาเข้าไม่ถึงการศึกษา สาธารณสุข และตกงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: