นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการรถเอกชนร่วมบริการ ขสมก. ว่า เข้าใจและเห็นใจผู้ประกอบการ เนื่องจากแบกรับต้นทุนสูงขึ้นจริง ทั้งต้นทุนบุคลากร ค่าซ่อมบำรุง และมาตรการช่วยอุดหนุนราคาก๊าซธรรมชาติ (NGV) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กำลังจะหมดลงในเดือน พ.ค. 2562 จึงมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) นำข้อเสนอขอปรับขึ้นค่าโดยสารของผู้ประกอบการทั้ง 3 ประเด็น ไปเสนอให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางพิจารณา ภายในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ซึ่งมีอำนาจพิจารณาว่าควรปรับขึ้นค่าโดยสารหรือไม่ แต่จะปรับในอัตราเท่าไหร่นั้น ยังตอบไม่ได้ ขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการกลางฯ หากอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสาร ควรดำเนินการหลังเทศกาลปีใหม่ 2562 เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน
นอกจากนี้ได้หารือกับผู้ประกอบการว่า ต้องปรับปรุงบริการในภาพรวมให้ดีขึ้น มีการติดตั้งระบบอี-ทิคเก็ต, จีพีเอส , ปรับปรุงมารยาทพนักงานบนรถ ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการรถร่วมฯ และขสมก.พร้อมให้ความร่วมมือ
นายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชน (รถเมล์ร่วม ขสมก.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาผลการศึกษาจากองค์กรวิชาการต่างๆ ระบุว่าต้นทุนการเดินรถในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับรายได้ของผู้ประกอบการ แต่ภาครัฐไม่เคยอนุญาตให้ปรับค่าโดยสาร
สำหรับการประชุมวันนี้รู้สึกพอใจ โดยหากคณะกรรมการขนส่งทางบกอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสาร อาจจะปรับขึ้นค่าโดยสารในวันที่ 5 หรือ 6 ม.ค. 2562 พร้อมยกระดับบริการให้ดีขึ้นภายในระยะเวลา 1 ปี
"เราต้องการให้กระทรวงคมนาคมเข้ามาดูช่วยแผนธุรกิจ ทั้งเรื่องต้นทุน ความคุ้มค่า ช่วงเวลาการคืนทุน เพื่อให้ผู้ประกอบการกล้าลงทุนและสามารถอยู่รอดได้" นายวิทยากล่าว
นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ยอมรับว่า คุณภาพของรถร่วมฯ อยู่ในเกณฑ์ต่ำ เพราะไม่มีทุนไปพัฒนา หากได้รับการปรับขึ้นค่าโดยสารจะนำเงินไปปรับปรุงสภาพรถและพัฒนาคุณภาพบริการ
สำหรับข้อเสนอขอปรับขึ้นค่าโดยสารมี 3 ส่วน ดังนี้
1.ขอปรับค่าโดยสารรถเมล์ร้อน จาก 9 บาทตลอดสาย เป็น 12 บาท
2.รถเมล์ปรับอากาศ จาก 13 บาท เป็น 15 บาท พร้อมปรับเพิ่มระยะทางละ 2 บาท
3.รถเมล์ใหม่ที่จะเข้าสู่โครงการปฏิรูป ขอให้จัดเก็บค่าโดยสารเริ่มต้น 20 บาทใน 4 กิโลเมตรแรก และระยะต่อไปให้จัดเก็บ 25 บาท โดยมีแค่ 2 อัตราเท่านั้น