ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนาการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ผ่านมุมมองภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมถกเถียงกรอบกติกาการจัดเลือกตั้ง ภายใต้กติกา คสช. พร้อมอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการจัดเลือกตั้งอย่างเสรีและปลดล็อกคำสั่งจำกัดสิทธิพรรคการเมือง ต้านสืบทอดอำนาจรัฐบาลทหาร

เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรมและมีผลในทางปฏิบัติ หรือ FFFE จัดเสวนา "การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมกับอนาคตสังคมและการเมืองไทย" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากภาคประชาชน ประกอบไปด้วย นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw, นายขุนกลาง ขุขันธิน เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม, นายบุญยืน สุขใหม่ สมัชชาคนจน และนายปรเมศวร์ เหล็กเพชร นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

จี้ทุกพรรคการเมืองต้องสร้างการเมืองเสรีและเป็นธรรม

นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นหัวใจของประชาธิปไตย แน่นอนว่าการเลือกตั้งต้องมีเสรีภาพ ซึ่งมนุษย์ต้องมีวิธีการในการเลือกการปกครองประเทศ หลายๆ ครั้งที่เกิดความขัดแย้งทางการเมืองและการรัฐประหาร รวมถึงการใช้ข้ออ้างของผู้มีอำนาจที่ว่าประชาชนไม่มีความสามารถหรือศักยภาพในการตัดสินใจเลือกอนาคต ขณะพรรคการเมืองต้องสามารถสื่อสารกับประชาชน ไม่ใช่บางพรรคการเมืองสามารถทำได้ ขณะที่บางส่วนกลับไม่สามารถทำได้ ซึ่งพรรคการเมืองต้องถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

อย่างไรก็ดี หลายครั้งที่ผู้มีอำนาจได้ปฏิเสธว่าจะไม่มีการสืบทอดอำนาจ แต่ในความเป็นจริงกลับมีความพยายามในการสืบทอดอำนาจ ซึ่งหลักการของประชาธิปไตยต้องประกอบไปด้วยเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ การดำเนินการเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้ง ที่มีการใช้ข้อบังคับกฎหมาย จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าวว่ามีการใช้อำนาจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ควรได้รับการรับผิดทั้งในทางสังคมและกระบวนการยุติธรรม


"ความเสียหายในการใช้กฎหมายของคสช. อาจะทำให้เกิดวัฒนธรรมผู้ละเมิดสิทธิลอยนวล จึงหวังว่าพรรคการเมืองควรจะบรรจุเข้าไปในนโยบาย” นายเอกพันธ์ กล่าว

ส่วนหากการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างเสรีและเป็นธรรม อาจทำให้การสืบทอดอำนาจไม่เป็นดังหวัง หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างเสรีและเป็นธรรม ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าจะมีการใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้ง จึงอยากเสนอให้พรรคการเมืองมองไปที่อนาคตของประเทศไทย ถ้าพรรคการเมืองออกมาแสดงเจตจำนงค์ต่อการหาเสียงและการตั้งรัฐบาล ว่าพรรคการเมืองต้องไม่ซื้อเสียงและไม่ใช้กลไกในการใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อผลประโยชน์ จะทำอย่างไรในการหาเสียงที่ไม่สร้างความขัดแย้งในหมู่ของประชาชนหรือปลุกเร้าให้สังคมใช้ความรุนแรง

ส่วนภายหลังการเลือกตั้ง ที่มีช่องทางในการเสนอรายชื่อนายกฯคนนอก อยากให้พรรคการเมืองต้องตกลงกันว่าจะไม่เสนอนอกเหนือจากรายชื่อที่แต่ละพรรคเสนอ เพื่อให้เกิดความปรองดอง ต้องมีการค้นหาความจริงว่าใครละเมิดใครอย่างไร และการเยียวยาผู้ถูกละเมิดตั้งแต่ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน

ก่อนเลือกตั้ง 'พรรคการเมือง' ต้องนำเสนอนโยบายได้อย่างเสรี

นายบุญยืน สุขใหม่ กรรมการบริหารสมัชชาคนจนกล่าวถึงความกังวลของภาคประชาสังคมว่า ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง ก็หวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย เนื่องจากหลังการรัฐประหารการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนได้ถูกจำกัดในการเรียกร้องสิทธิของตนเอง ซึ่งการเลือกตั้งที่จะถึงนี้จะเป็นหมุดหมายที่มีตัวแทนที่จะเข้าไปในรัฐสภาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นธรรมจริงหรือไม่ แม้ว่าจะมีการคลายล็อกพรรคการเมือง แต่ยังมีปัจจัยว่าจะเกิดการเลือกตั้งที่เสรีได้อย่างไร ดังนั้นสิ่งสำคัญคือพรรคการเมืองต้องนำเสนอนโยบายได้อย่างเสรี รัฐต้องยุติการแทรกแซงการดำเนินงานของพรรคการเมือง ขณะที่การสืบทอดอำนาจอาจนำไปสู่วิกฤติทางการเมือง และเชื่อว่าภายหลังเลือกตั้งถ้ามีรัฐบาลผสม ท้ายที่สุดแล้วการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองอาจไปไม่สามารถไปสู่เป้าหมายได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ถูกกำหนดจากทั้งรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ไม่ได้เอื้อให้ประเทศเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยที่ประชาชนคนคาดหวัง

ธุรกิจที่มีธรรมาภิบาล เกิดไม่ได้ในประเทศที่ไม่มีธรรมาภิบาล

นายขุนกลาง ขุขันธิน เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและผู้ก่อตั้ง บริษัท เฟลเวอริช จำกัด กล่าวว่า มุมมองของธุรกิจมีทั้งแบบมีธรรมาภิบาลและไม่มีธรรมาภิบาล การทำธุรกิจแบบมีธรรมภิบาล ถ้าเกิดขึ้นในประเทศที่ไม่มีธรรมาภิบาลก็เป็นไปได้ยากมาก ส่วนประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการจะมีการผูกขาด ซึ่งภาคธุรกิจก็ย่อมคาดหวังถึงความเท่าเทียม ดังนั้นการเลือกตั้งจึงมีผลกับภาคธุรกิจอย่างแน่นอน ขณะการเลือกตั้งที่จะมาถึง ต้องบอกว่ามีกติกาพิกลพิกาล ตั้งแต่กระบวนการส.ว. สรรหา ส่วนพรรคการเมืองที่จะตั้งรัฐบาลต้องมีมากว่า 375 เสียง จึงต้องตั้งคำถามว่าแล้วเสียงของประชาชนที่ใช้งบ 2,000 กว่าล้านบาท มันตกหล่นไปไหนหมด

ขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติ ที่กลายเป็นความผูกขาดอำนาจและถูกเขียนโดยรัฐบาลเผด็จการทหารน่ากังวลเป็นอย่างมาก รวมถึงกรณีเศรษฐกิจพิเศษที่มีการเอื้อผลประโยชน์


"วันนี้กติกาที่ไม่เป็นธรรม และอยู่ในมือไม่กี่คน และไม่มีการตรวจสอบ มันจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศแน่นอน ดังนั้นต้องช่วยกันตรวจสอบและส่งเสียงในประเด็นที่ไม่เป็นธรรมด้วยวิธีการสันติและเป็นธรรม” นายขุนกลาง กล่าว


นายกสมาคมนักข่าวฯ ชี้จับตา 'กฎหมายความปลอดภัยไซเบอร์' จำกัดสิทธิประชาชน

นายปรเมศวร์ เหล็กเพชร นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของสื่อในการเลือกตั้งครั้งนี้ ว่า บทบาทของสื่อได้เข้าไปเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน ปัจจุบันองค์กรสื่ออยู่ระหว่างการเตรียมตัวในการเลือกตั้ง ขณะที่กติกาที่ซ่อนอยู่ในรัฐธรรมนูญเป็นหลุมพรางที่เราตีไม่แตก ซึ่งจะมีเสี้ยวนึงในการทำให้เกิดวิฤติได้ ส่วนระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความสุ่มเสียงที่จะทำให้เกิดการทำผิดกฎหมาย

สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้ คือขณะที่ร่างกฎหมายไซเบอร์ ที่มีเนื้อหาเกือบทุกมาตรา เป็นอุปสรรคที่คุกคามเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเรามีโอกาสที่จะโดนสแกนได้ จึงจำเป็นต้องออกมากดดันไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)


"ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็ไม่มีความจำเป็น ซึ่งกฎหมายเหล่านี้มีความซับซ้อน ดังนั้นเราต้องเกาะติด ในฐานะองค์กรสื่อตอนนี้จะจับมือกับภาคประชาชน และฝากถึงพรรคการเมืองอย่าลืมเงื่อนไขว่าเวลามีอำนาจแล้ว ควรแก้ไขอำนาจของ คสช." นายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าว

อย่างไรก็ดี ถ้าติดตามประวัติศาสตร์ทางการเมือง สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เลือกตั้งเสรีและเป็นธรรมได้ ประชาชนต้องรณรงค์พื้นที่ทุกตารางนิ้วของประเทศไทย และออกไปใช้สิทธิ์กันมากที่สุดเพื่อสร้างปรากฏการณ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้

คำสั่ง คสช. ปิดทาง สร้างการเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw กล่าวว่าคำสั่งคสช. ตอนนี้มีคำสั่ง 57/2557 มีเนื้อหาสำคัญในข้อ 2 คือ ห้ามมิให้พรคคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุม หรือกิจกรรมใดๆ ในทางการเมือง ซึ่งตามหลักการแล้วพรรคการเมืองก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แม้ว่าจะทำธุรกรรมได้เพียงบ้างส่วนเท่านั้น ขณะที่คำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ถ้าทั้งสองคำสั่งยังอยู่ก็ไม่มีทางที่จะเกิดการเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรมได้

ส่วนกติกาเลือกตั้งของคสช. ที่มีบทบาทในการเขียนกติกาเอง ตีความเองบังคับใช้กติกาเอง รวมถึงลงเล่นเอง อาจกล่าวได้ว่าจะมีการล็อกผลในการเลือกตั้ง ทั้งนี้ไอลอว์ได้ร่วมกันรณรงค์เพื่อล่ารายชื่อหนึ่งหมื่นรายชื่อ เพื่อยื่นสนช. ให้ยกเลิกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน 35 ฉบับ ตามช่องทางรัฐธรรมนูญ ส่วนการเลือกตั้งตอนนี้เลื่อนมาแล้ว 5 ครั้ง ตราบใดที่คสช. ไม่พร้อมในการเลือกตั้ง ก็สามารถหาช่องทางเลื่อนออกไปได้


"การเลือกตั้งภายใต้เครื่องมือแบบนี้ มันก็ก็จะเป็นเพียงการเลือกตั้งของคสช. โดยคสช. และเพื่อคสช." นายยิ่งชีพ กล่าว


นอกจากนี้ สิ่งที่สามารถทำได้คือการลงชื่อเพื่อยกเลิกคำสั่ง และการออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่จะสามารถทำให้ไม่สามารถล็อกผลการเลือกตั้งได้ ดังนั้นถ้าทุกคนเลือกไม่ให้คสช.กลับเข้ามา ก็จะทำให้ปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้

เสวนาการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

ทั้งนี้ ภายหลังเสวนาเสร็จสิ้นกลุ่มเครือข่าย FFFE ได้อ่านแถลงการณ์โดยผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ร่วม เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ โดยระบุว่า สังคมไทยเผชิญความขัดแย้งมากว่าทศวรรษ เนื่องจากสถาบันและกลไกที่เกี่ยวข้องไม่ได้ถูกใช้ในการคลี่คลายปัญหา

นอกจากนี้ ในช่วง 4 ปีเศษที่ผ่านมา ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้สภาวะไม่ปกติโดยมีความขัดแย้งดังกล่าวเป็นข้ออ้าง ทว่าช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าสภาวะไม่ปกติไม่สามารถช่วยให้สังคมไทยก้าวพ้นความขัดแย้งได้ จำเป็นจะต้องอาศัยสถาบันและกลไกในสภาวะปกติ อันได้แก่ระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เจรจาต่อรองกันอย่างเสมอหน้าภายใต้กฎเกณฑ์กติกาเดียวกัน ระบอบประชาธิปไตยประกอบด้วยหลายส่วน ทว่าส่วนที่สำคัญและขาดไม่ได้คือการเลือกตั้ง

การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ประกาศจะจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 รวมทั้งการที่กฎหมายที่จำเป็นต่อการจัดการเลือกตั้งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นสัญญาณว่าประเทศไทยจะได้กลับสู่สภาวะปกติอีกครั้ง ทว่าการเลือกตั้งจะสามารถเป็นประตูไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้จะต้องประกอบด้วยปัจจัยต่อไปนี้

1. มีเสรี (Free) คือ ประชาชนสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี สามารถแสดงความเห็นต่อกระบวนการเลือกตั้งได้โดยไม่ถูกจำกัดโดยกฎหมาย สามารถสืบค้นข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นได้อย่างอิสระ และไม่ถูกข่มขู่คุกคามหรือขัดขวางการใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ว่าในลักษณะใด ขณะเดียวกันผู้สมัครสามารถลงสมัครได้อย่างอิสระ และพรรคการเมืองสามารถสื่อสาร รับฟัง และเสนอนโยบายกับประชาชนได้อย่างเต็มที่ ไม่ถูกจำกัดขัดขวางโดยประกาศหรือคำสั่งใด

2. มีความเป็นธรรม (Fair) คือ ประชาชนสามารถแสดงออกและใช้สิทธิในการเลือกตั้งได้อย่างเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันก็ต้องไม่มีการใช้อำนาจหรือกลไกรัฐเอื้อประโยชน์หรือขัดขวางพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองสามารถเข้าถึงและใช้สื่อทุกประเภทได้เท่าเทียมกัน ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องกำกับรัฐบาลให้ดำเนินการเลือกตั้งในฐานะรัฐบาลรักษาการ พร้อมทั้งมีมาตรการป้องกันการทุจริตอย่างเป็นระบบ และอนุญาตให้องค์กรที่เป็นกลางและมีความน่าเชื่อถือเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

3. มีผลในทางปฏิบัติ (Fruitful) คือ ประชาชนสามารถติดตามกำกับผลการเลือกตั้งให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของตน รัฐบาลต้องมาจากตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ มิใช่ตัวแทนของผู้มีอำนาจหรือสถาบันที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ขณะเดียวกันพรรคการเมืองต้องสามารถนำนโยบาย ปัญหา และความต้องการของประชาชนไปดำเนินการตามที่วางไว้ได้ ไม่ถูกจำกัดโดยยุทธศาสตร์หรือข้อบังคับทางกฎหมายที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น เรา “เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ” และพรรคการเมืองดังรายชื่อแนบท้าย

"ขอถือเอาวันนี้ วันที่ในอดีตการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยครั้งสำคัญเริ่มขึ้นที่นี่ ในการพาประเทศและสังคมไทยกลับคืนสู่สภาวะปกติอีกครั้งผ่านการเลือกตั้ง เราขอเรียกร้องให้ประชาชนได้มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขอให้พรรคการเมืองได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อรับฟังและเสนอนโยบายกับประชาชนได้อย่างเป็นอิสระและเท่าเทียม รวมถึงขอให้เคารพในเจตนารมณ์ของประชาชน เพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้จะสามารถเป็นประตูไปสู่การคลี่คลายปัญหาของประเทศและประชาชนได้อย่างแท้จริง ด้วยความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยและพลังของประชาชน เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ 14 ตุลาคม 2561"

เสวนาการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

โดยมีองค์กรภาคประชาชนและ 7 พรรคการเมืองร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับนี้ ประกอบไปด้วย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน Start Up People เครือข่ายแรงงาน กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย สมัชชาคนจน องค์กรนักศึกษาพัฒนาการเมืองและประชาธิปไตยปาตานี (2P2D) เสรีเกษตรศาสตร์ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) สมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ สมาคมคนไทยเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มพลังมด ส่วนภาคการเมือง ประกอบไปด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคสามัญชน