นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดี และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า กรณีอียู ฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศไทย สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติมากขึ้น และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศได้คลี่คลายไปในทิศทางที่อียูต้องการเปิดความสัมพันธ์
สำหรับมิติเศรษฐกิจ อียูมองไทยในฐานะศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน การเข้ามาที่นี่สามารถใช้เป็นฐานการกระจายการผลิต การกระจายสินค้า ส่วนในมิติการเมือง การผูกพันกับไทยสามารถทำให้อียูเชื่อมโยงมิติทางการเมืองระหว่างอาเซียนให้ง่ายขึ้นด้วย ยิ่งในเวลาที่ประเทศไทยมีนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียน ที่สหภาพยุโรปยังไม่เปิดเจรจาการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ดังนั้น หากสหภาพยุโรปจะรอต่อไป ก็อาจช้ากว่าประเทศจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศคู่แข่งอื่นๆ
การที่อียูฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศไทยครั้งนี้จึงเป็นมิติเชิงบวก ยิ่งในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นขึ้น น่าจะทำให้กรอบการเจรจาการค้าการลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนเกิดได้เร็วขึ้น เอฟทีเอจะเกิดขึ้นเร็ว ประเทศไทยจะมีเสน่ห์ดึงดูดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4.5 ในปี 2561 ได้ง่าย รวมทั้งมีพื้นฐานให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ถึงร้อยละ 5 ตามระดับศักยภาพในระยะ 5 ปีข้างหน้า ได้เร็วขึ้นด้วย
รายงานโดย อังศุมาลิน บุรุษ