ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ ขู่ไม่กำหนดวันเลือกตั้ง หากเรียกพรรคการเมืองมาไม่ครบทุกพรรคเพื่อเตรียมเลือกตั้ง ย้ำไม่ตีความกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ไมใช่เรื่องของรัฐบาล ไม่ใช่ล้วงลูกนโยบาย ขอทุกพรรคเข้าร่วม หากไม่มากำหนดเลือกตั้งไม่ได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเชิญนักการเมืองมา พุดคุยในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อเตรียมการเลือกตั้งว่า ทุกคนต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่มาพูดคุยเรื่องนโยบายพรรคการเมืองแต่จะพูดคุยเรื่องแก้ปัญหาทุจริตในอนาคต ปัญหาบุกรุกป่า ว่าจะสานต่อนโยบายรัฐบาลอย่างไร ซึ่งหากนักการเมืองไม่มาก็ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ ถ้ามาไม่ครบก็กำหนดวันเลือกตั้งไม่ได้ 

โดยนายกฯเน้นย้ำว่า จะเป็นการพูดคุยวิธีการทำงานไม่ใช่จะอยากรู้นโยบายของแต่ละพรรคการเมือง ยืนยันนโยบายพรรคการเมืองที่ดีก็นำมาสานต่อไม่ได้ทิ้งทั้งหมด นโยบายพรรคการเมืองที่ผ่านมาเป็นการสนองตอบเพื่อบางคน บางกลุ่ม เช่น โยบายจำนำข้าวที่สร้างความเสียหายแต่หาคนรับผิดชอบไม่ได้

นายกรัฐมนตรี ยังย้ำว่าหากพรรคการเมืองใหญ่ไม่เข้าร่วมประชุมตามที่เชิญก็จะพยายามพูดคุยกับพรรคที่เข้าร่วมให้ได้มากที่สุด ซึ่งพรรคการเมืองที่จดแจ้งชื่อกับ กกต. จะมาได้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะไม่ทราบว่าสุดท้าย กกต. จะให้จดแจ้งตามที่ร้องขอหรือไม่

นายกฯ ปัดยื่นตีความกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.

ส่วนข้อเสนอให้รัฐบาลตีความร่าง พ.รบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ป้องกันปัญหายื่นตีความหลังประกาศใช้นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า เป็นเรื่องของหน่วยงานที่รับผิดชอบ อย่ามาโยนให้รัฐบาล เมื่อมีปัญหาก็แก้ไขระดับหนึ่ง เป็นเรื่องของคนที่เป็นห่วงที่มีความไม่มั่นใจ รวมถึงนักการเมืองที่ทักท้วงเข้ามา ก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน วันหน้าจะได้ไม่เกิดความเสียหาย ไม่ใช่เลือก ส.ว.มาแล้ว มีปัญหาฟาล์วทั้งหมด ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยส่วนตัวเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ไม่น่าจะมีปัญหา 

ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่กังวลว่าจะมีปัญหาก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความไปแล้ว ก็รอศาลให้ชัดเจน ตราบใดที่ยังมีข้อห่วงใยและข้อกังวัล ก็ต้องให้ศาลพิจารณาให้ชัดเจน และตนก็ได้ระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบโรดแมปการเลือกตั้ง ส่วนที่บอกว่ารัฐบาลจะต้องรับผิดชอบในภาพรวม พอเห็นชอบก็บอกรัฐบาลก้าวล่วง สั่งให้ผ่านกฏหมาย ทำให้กลายโดนไปสองทาง

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยืนยันว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่ได้มีการพูดคุยถึงการเตรียมความพร้อมปลดล็อกพรรคการเมืองเก่าให้จัดทำทะเบียนรายชื่อ และสำรวจสมาชิกพรรค ขอปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนกลุ่มที่มีขอจดจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ก็ยังไม่ได้ส่งหนังสือมาเพื่อขอ คสช. เพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองแต่อย่างใด 

ประธาน กรธ. เชื่ออนาคตไม่ถึงขั้นล้มเลือกตั้ง

ขณะที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวถึงการที่สนช.ยืนยันส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.เพียงฉบับเดียว ว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสนช. ส่วน กรธ.ไม่ได้ติดใจ เพราะเชื่อว่าข้อสังเกตของกรธ.ไม่ทำให้การเลือกตั้งต้องเสียไปทั้งหมด ทั้งการตัดสิทธิเป็นข้าราชการทางการเมือง และการให้มีผู้ช่วยเหลือผู้พิการขณะเข้าคูหาเลือกตั้ง เพราะหากในอนาคตศาลชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็แค่ตัดส่วนนั้นทิ้งไป ไม่กระทบต่อสาระหลักของร่างกฎหมายทั้งฉบับ เช่นเดียวกับกรณีคนพิการถ้าหน่วยเลือกตั้งใดมีผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ แล้วศาลชี้ก็อาจทำให้การเลือกตั้งหน่วยนั้นเสียไป และให้มีการเลือกตั้งซ่อมเฉพาะหน่วยได้ โดยไม่น่าจะมีผลให้การเลือกตั้งนั้นล้มไปทั้งหมด ส่วนที่มีข้อเสนอจากสนช.ให้พรรคการเมืองร่วมกันลงสัตยาบัน เห็นว่า คงทำไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองไม่ยอมแน่