ไม่พบผลการค้นหา
รมว.แรงงาน ประชุมทางไกลติดตามสถานการณ์กรณีเกิดสงครามระหว่างอิสราเอล เลบานอน และซีเรีย กำชับฝ่ายแรงงานฯ อำนวยความสะดวกแรงงานไทยที่มีความประสงค์จะอพยพกลับไทย ชี้แจงแผนการอพยพไปยังจุดปลอดภัย พร้อมตั้งวอร์รูมติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมระบบทางไกล (Video Conference) กับนายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เพื่อหารือแนวทางการอพยพแรงงานไทยกรณีเกิดสงครามในอิสราเอลโดยอพยพจากอิสราเอลมายังสาธารณรัฐไซปรัสเพื่อส่งกลับมายังประเทศไทย ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้ฝ่ายแรงงานฯ ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่แรงงานไทยเพื่อเตรียมความพร้อมและอำนวยความสะดวกในการอพยพเมื่อเกิดภัยสงคราม อาทิ แนะนำแนวทางการปฏิบัติตนเมื่อจำเป็นต้องมีการอพยพ โดยการเตรียมความพร้อมเรื่องเสื้อผ้า อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค เอกสารการเดินทาง แผนที่การเดินทาง การจัดแบ่งแรงงานเป็นหมวดหมู่เพื่อสะดวกในการอพยพ มีระบบการแจ้งเตือนไปยังแรงงานไทยที่อยู่ในสถานประกอบการแต่ละแห่ง กำหนดจุดรวมพลที่มีความปลอดภัย และชี้แจงแผนอพยพกลับประเทศไทยกรณีสถานการณ์มีความรุนแรงถึงระดับต้องอพยพแรงงานไทยออกมา รวมทั้งกำชับให้แรงงานไทยติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนจากทางการอย่างใกล้ชิด เป็นต้น

IMG_3255_resize.JPG

พล.ต.อ.อดุลย์ ยังได้กำชับให้ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงแรงงาน (ศปก.รง.) ตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ทั้งนี้ จากการหารือระหว่างผู้แทนกรมการจัดหางานกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2561 ที่ประเทศไซปรัส พบว่า หากเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับเลบานอน และซีเรีย และยกระดับความรุนแรงขึ้นจำเป็นต้องอพยพแรงงานไทยออกมานั้น ปัจจุบันแรงงานไทยที่ทำงานในภาคเหนือของอิสราเอลที่อยู่ในพื้นที่เสียงภัยประมาณ 1,000 คน และที่ทำงานกระจายในภาคเหนืออีก 4,500 คน ซึ่งฝ่ายแรงงานฯ ประเมินว่ามีแรงงานไทยที่สมัครใจเดินทางกลับประมาณ 2,000 คน ส่วนที่เหลือไม่ประสงค์เดินทางกลับ ซึ่งจะเคลื่อนย้ายไปทางภาคกลางและภาคใต้ของอิสราเอลชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะสงบลง โดยแรงงานไทย 2,000 คน จะใช้เส้นทางเดินเรือจากท่าเรือ Haifa ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอิสราเอล มายังสาธารณรัฐไซปรัสที่ท่าเรือ Larnaca ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 10-12 ชั่วโมง และท่าเรือ Limassol ใช้เวลาเดินทางประมาณ 14-18 ชั่วโมง โดยใช้เรือที่จุผู้โดยสารได้เที่ยวละ 500 คน ซึ่งต้องใช้การเดินทาง 3-4 เที่ยว

ส่วนกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินที่ไม่สามารถอพยพแรงงานไทยทางเรือไปยังไซปรัสได้ ฝ่ายไทยได้เตรียมแผนที่จะอพยพแรงงานไทยมาทางตอนใต้ของอิสราเอลเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศจอร์แดน โดยกำหนดจุดพักรอการอพยพ ณ เมืองเยรูซาเลม หรือทะเลเดดซี โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง ระยะทาง 300 กิโลเมตร ขณะเดียวกันทางการอิสราเอลได้มีบังเกอร์หลบภัยสงครามตามจุดที่กำหนดในทุกหมู่บ้าน ณ เมือง Haifa และทางการอิสราเอลจะกำหนดจุดให้ฝ่ายไทยรอรับแรงงานเพื่ออพยพต่อไป

IMG_3242_resize.JPG

นอกจากนี้ ทางการไทยจะเตรียมแผนรองรับการเคลื่อนย้ายคนจากสาธารณรัฐไซปรัสกลับไปยังประเทศไทย โดยอาจใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำหรือเรือโดยสารพาณิชย์ การขอใช้อากาศยานราชการของกองทัพ หรือการขอใช้เรือรบของกองทัพเรือ เป็นต้น โดยทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาการจัดทำบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงร่วมกันในการดำเนินการอพยพแรงงานไทยต่อไป

ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอลจำนวน 24,028 คน เป็นแรงงานถูกกฎหมายจำนวน 22,736 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานเกษตร 22,361 คน ช่างเชื่อมและพ่อครัว 290 คน ผู้อนุบาล 45 คน และตำแหน่งอื่น ๆ เช่น ช่างแอร์ ช่างซ่อมรถยนต์ เป็นต้น จำนวน 40 คน ที่เหลือเป็นแรงงานผิดกฎหมายจำนวน 1,292 คน