องค์กรและบริษัทหลายแห่งในจีนเริ่มประกาศนโยบายบอยคอตผลิตภัณฑ์จากบริษัทแอปเปิลของสหรัฐฯ เพื่อประท้วงกรณีสหรัฐฯ ส่งคำร้องถึงรัฐบาลแคนาดาให้จับกุมนางเมิ่งหวานโจว ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทหัวเว่ย ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีสื่อสารอันดับต้นๆ ของจีน
ทางแคนาดาและสหรัฐฯ ตั้งข้อหาว่านางเมิ่งหว่านโจวมีพฤติกรรมฉ้อโกง สืบเนื่องจากการตั้งบริษัทสกายคอม ซึ่งเป็นบริษัทลูกของหัวเว่ย ขึ้นมาบังหน้าเพื่อทำธุรกิจกับอิหร่านในช่วงปี 2009 ถึงปี 2014 ซึ่งเป็นการละเมิดมติคว่ำบาตรอิหร่านของสหประชาชาติ
การกระทำดังกล่าวของสหรัฐฯ และแคนาดา ทำให้หลายองค์กรและบริษัทในจีนออกแถลงการณ์ต่อต้านสหรัฐฯ และผลิตภัณฑ์จากสหรัฐฯ เช่นสภาหอการค้าเมืองหนานชางออกแถลงการณ์ระบุว่า "สหรัฐฯพยายามกีดกันการเติบโตของจีน...ทางสมาคมเชื่อว่าคนจีนควรสามัคคีกันและสนับสนุนแต่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากจีน" ทั้งนี้ ทางสภายังกล่าวเตือนถึงสมาชิกด้วยว่าอาจจะถูกลงโทษหากซื้อผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลมาใช้
นายหลู่ เฉียง เลขาธิการสภาหอการค้าหนานชางกล่าวกับซีเอ็นเอ็นว่า "ทางรัฐบาลไม่ได้มีมาตรการหรือนโยบายในการกีดกั้น หรือบอยคอยผลิตภัณฑ์จากแอปเปิลในครั้งนี้ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงเสียงสะท้อนจากประชาชนเท่านั้น"
นอกจากนี้ยังมีปฏิกิริยาจากหลายบริษัทที่ออกมาตรการสนับสนุนให้พนักงานหันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากจีนอย่างหัวเว่ยและ ZTE แทนการใช้โทรศัพท์มือถือของแอปเปิล เช่น บริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งในเซินเจิ้นกล่าวว่า ทางบริษัทจะให้เงินสนับสนุน 15 เปอร์เซ็นต์แก่พนักงานที่ซื้อโทรศัพท์จากหัวเว่ยและ ZTE และทางบริษัทจะปรับเงินพนักงานที่ซื้อผลิตภัณฑ์จาแอปเปิลมาใช้
ขณะที่บริษัทเฉิงตู RYD เทคโนโลยี ในเมืองเฉิงตู กล่าวว่า "ทางบริษัทจะหันมาใช้อุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยในส่วนต่างๆ ที่เอื้ออำนวยนับตั้งแต่นี้ไป และจะให้เงินสนับสนุน 15 เปอร์เซ็นต์แก่พนักงานในการซื้อผลิตภัณฑ์จากหัวเว่ย"
ทั้งนี้ การประกาศต่อต้านผลิตภัณฑ์ของต่างชาติไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในจีน รานา มิตเตอร์ ผู้อำนวยการศูนย์จีน มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า "การบอยคอตสินค้าของสหรัฐฯ เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และจะไม่ลุกลามใหญ่โตถ้าหากทางการจีนไม่สนับสนุนมาตรการดังกล่าว"
อย่างไรก็ตาม การประท้วงญี่ปุ่นเรื่องกรณีพิพาทดินแดนระหว่างจีนและญี่ปุ่นในปี 2012 ทำให้บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งในจีนถูกโจมตีและมีผู้เสียชีวิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง