ไม่พบผลการค้นหา
ออสเตรเลียจัดประชุมความร่วมมือในกรอบพหุภาคีร่วมกับชาติอาเซียน แต่ถูกสื่อมวลชนและนักสิทธิมนุษยชนโจมตีอย่างหนักว่าส่งเสริมเผด็จการ

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการที่นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลียตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. ที่ผ่านมา และเว็บไซต์เอบีซีนิวส์ในออสเตรเลีย รายงานว่า การประชุมครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่ชุมชนชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในนครซิดนีย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็น ผู้นำกัมพูชา เป็นหนึ่งในผู้ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมด้วย

กลุ่มผู้ต่อต้านได้รวมตัวประท้วงเผาหุ่นจำลองฮุนเซ็นช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลฮุนเซ็นใช้กลยุทธ์ต่างๆ จับกุมและปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมถึงผู้คัดค้านกระบวนการทุจริตในประเทศ ส่งผลให้ฝ่ายค้านจำนวนมากต้องลี้ภัยไปต่างแดน และตลอดระยะเวลา 30 ปี ที่ฮุนเซ็นดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาล มีการใช้นโยบายต่างๆ เพื่อยื้อเวลาให้ตนเองครองอำนาจอยู่นานที่สุด

ด้านฮุนเซ็นได้ประกาศตอบโต้กลุ่มผู้ต่อต้านในออสเตรเลีย โดยระบุว่าถ้าหากผู้ชุมนุมมีสิทธิเผาหุ่นจำลอง ตนเองก็มีสิทธิที่จะจัดการกับผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวเช่นกัน 

ฮุนเซ็น

ด้านเว็บไซต์ ควอร์ตซ์ รายงานว่าการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลียในครั้งนี้เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่ารัฐบาลออสเตรเลียไม่สนใจเรื่องการธำรงรักษามาตรฐานสากล แต่มุ่งเน้นที่การเจรจาผลประโยชน์เป็นสำคัญ เพราะเกือบครึ่งของผู้นำอาเซียนที่ได้รับเชิญมาร่วมการประชุมต่างก็มีประวัติด่างพร้อยด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทุจริตคอร์รัปชัน 

ควอร์ตซ์ระบุว่าฮุนเซ็นเป็นตัวอย่างของ 'ผู้นำเผด็จการ' ที่ไม่สนใจข้อเรียกร้องของประชาชน ทั้งยังยื้ออำนาจปกครองประเทศเป็นเวลานานหลายทศวรรษ และมีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณี แต่รัฐบาลออสเตรเลียมองข้ามเรื่องเหล่านี้ไป 

นอกจากนี้ ควอร์ตซ์ยังได้กล่าวถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าเป็นผู้นำรัฐบาลทหารคนหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนที่เลื่อนจัดการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง แม้ว่าในตอนแรกที่ก่อรัฐประหารจะมีการให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดก็ตาม 

ประยุทธ์

ผู้นำคนอื่นๆ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึง อองซานซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งถูกนานาประเทศประณามและกดดันอย่างหนักช่วงปีที่ผ่านมา ต่อกรณีเพิกเฉยต่อการลบล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญาในประเทศ ทั้งยังมีการเดินขบวนต่อต้านซูจีในนครซิดนีย์ด้วยเช่นกัน

พร้อมกันนี้ นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ถูกโจมตีเพราะตกเป็นข่าวอื้อฉาวกรณีรัฐบาลพัวพันการโกงเงินในกองทุน 1MDB และมีการจับกุมกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลเป็นจำนวนมากช่วงก่อนเลือกตั้ง

ขณะที่ โรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ถูกประณามจากการประกาศสงครามต่อต้านยาเสพติด ทำให้ประชาชนและผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติดถูกวิสามัญฆาตกรรมเกือบหมื่นรายในช่วงเวลาเพียงปีกว่าๆ และดูแตร์เตไม่สนใจข้อเรียกร้องหรือคำท้วงติงขององค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ซูจี

อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำออสเตรเลีย ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลออสเตรเลียที่ไม่ใส่ใจต่อประวัติอันด่างพร้อยของผู้นำอาเซียน และระบุว่าการจัดการประชุมครั้งนี้ควรจะมุ่งส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ มากกว่า

ที่ผ่านมา รัฐบาลออสเตรเลียระบุว่าจำเป็นต้องสานสัมพันธ์กับผู้นำประเทศอาเซียนซึ่งมีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะต้องคานอำนาจกับจีน ซึ่งเข้าไปมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร ในทุกประเทศสมาชิกอาเซียน แต่เพียร์สันระบุว่าประเด็นดังกล่าวเป็น 'ข้ออ้าง' ของรัฐบาลมากกว่า

อาเซียน

อ่านเพิ่มเติม: