หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาในสารคดี (เหมือนเล่าทั้งเรื่องให้อ่าน)
งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ประจำปี 2564 จบลงแล้ว 'Collective' สารคดีสาวไส้วงการสาธารณสุขโรมาเนีย เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมและภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม แต่พ่ายแพ้
'อเล็กซานเดอร์ นาเนา' ผู้กำกับที่ถ่ายทอดโศกนาฏกรรมความยาว 109 นาที ไม่มีโอกาสก้าวขึ้นเวทีเอื้อนเอ่ยบางสิ่งที่นักข่าวทั่วโลกจับจ้องเพื่อนำไปพาดหัวข่าว
เขากลับบ้านมือเปล่า แม้ก่อนหน้านี้จะคว้ารางวัลมาแล้วหลายเวที เช่นกันกับชาวโรมาเนียที่แทบไม่ได้สิ่งใดติดไม้ติดมือ แม้นาเนาจะถ่ายทอดและขุดคุ้ยเรื่องอื้อฉาวแห่งทศวรรษได้สำเร็จ แต่ชีวิตประชาชนก็ได้ดูไม่แตกต่างจากเดิมนัก
ค่ำคืนของวันที่ 30 ตุลาคม 2558 ภายใน 'คอเล็กทีฟคลับ’ สถานที่พบปะยามราตรีกลางกรุงบูคาเรสต์ เมืองหลวงของโรมาเนีย เต็มไปด้วยผู้คนที่ออกมาสังสรรค์อย่างเพลิดเพลิน จนกระทั่งใครบางคนจุดดอกไม้ไฟขึ้นมา
คลิปวิดีโอจากโทรศัพท์มือถือฉายภาพนักร้องชายรูปร่างสูงใหญ่กำลังถ่ายทอดบทเพลงหนึ่งอย่างทรงพลังกลางคลับ บรรยากาศโดยรอบอื้ออึงด้วยเสียงผู้คน ประหนึ่งจิตวิญญาณได้รับการชโลมด้วยเสียงศักดิ์สิทธิ์ เมื่อบทเพลงจบลง นักร้องหันมากล่าวทักทายผู้ชม ก่อนสังเกตเห็นความผิดปกติบางอย่าง ควันที่ไม่ได้มาจากเอฟเฟคของทีมงาน
เกิดภาวะชะงักงันครู่สั้นๆ ก่อนภาพวิดีโอจากโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นจะสะท้อนให้เห็นสะเก็ดไฟเล็กๆ ด้านบนหลังคาที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว นักร้องหลบหนีออกไปทางหลังเวที ขณะที่ผู้คนแห่วิ่งกันไปคนละทิศคนละทาง
ท่ามกลางความชุลมุนนั้น ภาพในคลิปวิดีโอเริ่มมีคุณภาพต่ำลง ไม่ชัดเจน ถ่ายทอดออกมาได้เพียงความสั่นไหว และควันคลุ้งกระจาย ส่วนเสียงร้องของผู้คนที่โหยหวนและหวาดกลัวกลับดังชัดเจน
สถานที่เกิดเหตุไร้ทางหนีไฟและระบบดับเพลิง มีผู้เสียชีวิตทันที 27 ราย บาดเจ็บอีก 180 คน เรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ที่ทำให้ผู้คนโกรธเกรี้ยวกับมาตรฐานระบบรักษาความปลอดภัยของคลับดังกล่าว แต่นั่นยังเทียบไม่ได้กับความเน่าเฟะของระบบสาธารณสุขประเทศที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มในภายหลังอีก 37 ราย อันเป็นจุดเริ่มต้นให้สื่อบางสำนักถามหาจริยธรรมวิชาชีพของตนเอง
ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าผู้กำกับวางให้ชายวัยกลางคน ท่าทางทรงประสบการณ์อย่าง 'กาตาลิน โตลอนตัน' บรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์กีฬารายวัน 'สปอร์ตส์ กาเส็ตต์' พร้อมด้วยทีมข่าวของเขาอย่าง 'มิเรลา น้าก' และ 'ราซวาน ลูทัค' เป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหาหลักของสารคดีเรื่องนี้
พวกเขาช่วยกันขุดคุ้ยประเด็นน้ำยาฆ่าเชื้อประสิทธิภาพต่ำ อันเป็นชนวนให้เปิดโปงการฉ้อฉลระหว่างบริษัทเอกชนและเหล่าบอร์ดบริหารของโรงพยาบาลโรมาเนีย
ชื่อของ 'กาตาลิน โตลอนตัน' กลายเป็นศูนย์กลางความสนใจของคนทั้งประเทศ เพราะน้ำยาฆ่าเชื้อประสิทธิภาพต่ำเหล่านี้อาจเป็นตัวการที่ทำให้เหยื่อเพลิงไหม้จากคอเล็กทีฟคลับที่รักษาตัวอยู่ตามโรงพยาบาลเสียชีวิตอย่างไม่ควรเป็น
เมื่อเรื่องแดงขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นออกโรงปกป้องเก้าอี้ตัวเองอย่างเต็มที่ ผ่านการทดสอบมาตรฐานภายในและแถลงข่าวต่อสาธารณชนว่า น้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในโรงพยาบาลนั้นมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานกว่า 95% ส่วนอีก 5% ซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำได้สั่งการให้แก้ไขเรียบร้อยแล้ว พร้อมยืนยันศักยภาพและความสามารถของระบบสาธารณสุขในประเทศว่า "ครบครัน" ดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนทุกคนได้
รัฐมนตรีคว่ำหลักฐานจากฝั่งของ 'กาตาลิน โตลอนตัน' ทิ้งดื้อๆ เอาตัวรอดด้วยการบอกว่านั่นเป็นการทดสอบที่ไม่ได้มาตรฐาน
ผู้ชมโดยเฉพาะคนไทยอาจไม่เคยเห็นและจินตนาการไม่ออกว่า เมื่อสื่อมวลชนถูกผู้มีอำนาจกล่าวหาว่า 'บิดเบือนข้อมูลนั้น' พวกเขาตอบโต้กันอย่างไร
สำหรับบรรณาธิการบริหารผู้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโรมาเนีย เขาเอาคืนรัฐมนตรีสาธารณสุขด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต ผ่าน ‘แหล่งข่าว’ คนสำคัญคือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทดสอบคุณภาพน้ำยาฆ่าเชื้อ ศาสตราจารย์ผู้นั้นยืนยันว่าตนเองเคยรายงานประเด็นเดียวกันนี้พร้อมข้อมูลประกอบนับพันหน้าให้กับหน่วยข่าวกรองของประเทศแล้ว ตั้งแต่เกือบ 10 ปีก่อนเกิดเหตุการณ์นี้
มวยยกนี้ หนังสือพิมพ์กีฬารายวันเป็นผู้ชนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาเก้าอี้ตัวเองไว้ไม่ได้ เขาลงจากตำแหน่งโดยไร้คำร่ำลา
ไม่เพียงรัฐมนตรีสาธารณสุขคนเดียวที่จากไป เจ้าของบริษัทน้ำยาฆ่าเชื้อประสิทธิภาพต่ำรายใหญ่ก็จากไปเช่นกัน จากโลกนี้ไป
การจากไปประการหลังทำให้บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการใหญ่แห่งหนังสือพิพม์กีฬารายวันถูกตั้งคำถาม ในรายการดีเบตแห่งหนึ่ง ‘กาตาลิน โตลอนตัน’ ถูกฝ่ายตรงข้ามจู่โจมว่าการทำข่าวของเขาบีบให้เจ้าของบริษัทน้ำยาฆ่าเชื้อต้องฆ่าตัวตายเพราะทนรับแรงกดดันไม่ไหว อีกทั้งเหตุใดเขาถึงชอบทำให้ทุกเรื่องกลายเป็นวันสิ้นโลกอยู่ได้
คำตอบของชายผู้เริ่มต้นขุดคุ้ยความล้มเหลวของสาธรณสุขทั้งประเทศไม่เพียงเป็นน้ำทิพย์สาดหน้าสื่อมวลชนที่กำลังอ่อนแรงลงทั่วโลก แต่ยังเป็นแก่นสำคัญของสารคดีปลายเปิดชิ้นนี้
‘กาตาลิน โตลอนตัน’ ตอบกลับฝ่ายตรงข้ามว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาถูกถามว่าเอาตัวเองเข้าไปยุ่งกับระบบสาธารณสุขทำไม คนแรกที่ถามเขาก็คือลูกชายของเขาเอง ภายในเวลา 2 เดือนให้หลังจากจุดเริ่มต้นเขาก็ได้คำตอบ
"ผมไม่มีเป้าหมายสูงสุดกับสิ่งที่ทำหรอก ก็แค่หวังให้ความรู้คนเพิ่มขึ้นในทุกๆ วันเท่านั้น"
ประโยคสั้นๆ อันปราศจากถ้อยคำชวนโควทนี้ กลับกลายเป็นใจความสำคัญของสารคดีชิ้นนี้ และกับทุกมิติของจริยธรรมสื่อ
'วลาด วอยกูเลสกู' ก้าวเข้ามาในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธรณสุขคนใหม่ ขณะที่ปัญหายังไม่ถูกสะสาง
ฉากเปิดตัวของเขาเป็นไปอย่างถ่อมตน ราวจะฝากตัวกับเหล่านักข่าวประจำกระทรวง หรือแม้แต่บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์กีฬารายวันผู้จุดประเด็นฉาวจนเปิดทางให้เขามายืนอยู่บนโพเดียมในฐานะรัฐมนตรี
"หลายคนอาจจะรู้จักผมมาก่อนแล้ว ในฐานะนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิการรักษาของผู้ป่วย" เขาเริ่มต้นเช่นนี้ ก่อนจะจบด้วยคำมั่นว่าเพื่อรื้อฟื้นความเชื่อมั่นระหว่างกระทรวงและผู้สื่อข่าว ทุกอย่างต่อจากนี้จะเป็นไปด้วยความโปร่งใส
แววตาของ 'วลาด วอยคูเลสกุ' ดูไม่มั่นคงนัก แต่ก็เต็มไปด้วยความเชื่อมั่น แม้จะประสบภาวะช็อคจนหน้าชาว่าระบบสาธารณสุขของประเทศพังพินาศถึงรากถึงโคนแบบนี้ กระนั้น เขาก็เดินหน้าเข้าสู่ดงไฟด้วยความเต็มใจ
รัฐมนตรีเทคโนแครตผู้นี้ เป็นตัวแทน 'ความหวัง' ได้ไม่น้อย เขาพยายามต่อสู้กับ "มาเฟีย" (คำนิยามที่ กาตาลิน โตลอนตัน นิยมชมชอบเรียกขานรัฐบาลในขณะนั้น) และยังพยายามร่างกฎหมายหรือกรอบบริหารงานเพื่อจะทำให้มั่นใจว่าเหล่าบอร์ดบริหารโรงพยาบาลรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไม่สามารถฉ้อฉลได้อย่างที่เป็นมา
แม้ข่าวการคดโกงเหล่านี้จะเป็นเรื่องใหญ่ไปทั่วประเทศ หนังสือพิมพ์กีฬารายวันหาแหล่งข่าวใหม่มาเปิดโปงไม่หยุดไม่หย่อน เช่นเดียวกับฝั่งรัฐมนตรีหนุ่มที่ตอกหน้าเหล่าองค์กรทางการแพทย์ใหญ่ของประเทศหลายต่อหลายครั้ง ทั้งเรื่องการทุจริตมาตรฐานใบอนุญาต ไปจนถึงแรงกดดันทางการเมือง แต่กระนั้น 'วลาด วอยคูเลสกุ' รัฐมนตรีคนใหม่ก็ยังพ่ายแพ้
แม้ว่า 'วิคเตอร์ พอนตา' นายกรัฐมนตรีคนที่ 63 ของประเทศ (ระหว่างปี 2555 - 2558) ผู้ครองตำแหน่งหัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตย (PSD) จะต้องลาออกจากตำแหน่งเพราะประชาชนลงถนนประท้วงโศกนาฏกรรมเพลิงไหม้คลับก็ตาม แต่เมื่อการเลือกตั้ง ณ วันที่ 11 ธ.ค.2559 มาถึง พรรค PSD ก็ยังได้รับคะแนนเสียงอย่างล้นหลาม ชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย
บนรถที่รัฐมนตรีเทคโนแครตคนหนุ่มกำลังนั่งเพื่อเดินทางไปยังสถานที่หนึ่ง สายโทรศัพท์เรียกเข้ามา เป็นพ่อของเขานั่นเอง พร้อมกับเสียงบ่นอย่างท้อแท้ว่า "อุตสาห์หวังน้อยแล้วนะ" กับผลการเลือกตั้งครั้งนั้น
บทสนทนาระหว่างพ่อลูกดำเนินไปสักระยะ เต็มไปด้วยคำแนะนำของผู้เป็นพ่อว่าให้ลูกของตนย้ายกลับไปทำงานที่ประเทศออสเตรีย เนื่องจากต่อให้ทุ่มเทพยายามแก้ปัญหากับประเทศนี้ไปเท่าไหร่ มันก็แก้ไม่ได้
รัฐมนตรีคนหนุ่มของเราหันคุยกับกล้องสารคดีอย่างอ่อนใจว่าเขาสงสัยเหลือเกินว่าสารพัดกรอบโครงสร้างที่เขาร่างไว้เพื่อป้องกันการทุจริตคดโกงจะมีอะไรเหลือบ้างไหมนะ
สารคดีดำเนินมาถึงช่วงท้าย หิมะโปรยปรายลงมาแล้วในโรมาเนีย ครอบครัวผู้สูญเสียบุตรชายไปจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งนั้นกำลังเดินทางไปยังหลุมศพอันเป็นที่พักร่างสุดท้ายที่ค่อยๆ สลายไปของบุตรอันเป็นที่รัก
ท่ามกลางอากาศที่หนาวจัดจนติดลบ ราวกับว่าความโศกเศร้าของสมาชิกครอบครัวจะเด่นชัดเสียจนอุณหภูมิของโรงหนัง House Samyan ลดลงไป 1-2 องศา
ในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน ตัดกลับไปที่กองบรรณาธิการข่าวของหนังสือพิมพ์กีฬารายวันตัวเอกจาก 'สปอร์ตส์ กาเส็ตต์' ทั้ง 3 คนที่ร่วมขุดคุ้ยเรื่องราวมาตลอด 109 นาทีของหนัง และหลายหมื่นพันนาทีในชีวิตจริงนั่งรวมกันบนโต๊ะหนึ่งของห้องประชุม
'มิเรลา นาจ' นักข่าวหญิงที่มีบทบาทตลอดทั้งสารคดีกล่าวว่าเธอได้รับคำเตือนลับจากหน่วยข่าวกรองว่าชีวิตของพวกเขา รวมถึงครอบครัวกำลังตกอยู่ในอันตรายเพราะดันไปเหยียบหาง "มาเฟีย" ตัวร้ายเข้าให้แล้ว
'ราซวาน ลูทัค' นักข่าวหนุ่มนั่งนิ่งเงียบ เราไม่ได้ยินอะไรจากปากของเขามากนักตลอดทั้งสารคดี นั่นเพราะภาพที่เราเห็นคือเขาลงพื้นที่ ค้นหาข้อมูล คุยกับแหล่งข่าว และแน่นอนที่สุด ทำสิ่งที่เขาเชี่ยวชาญที่สุด เขียนข่าว
'กาตาลิน โตลอนตัน' ยังคงไว้ซึ่งความเป็นผู้นำ ลักษณะเฉพาะตัวที่ถูกถ่ายทอดออกมาไม่ขาด เขากล่าวบางสิ่งบางอย่างหลังได้ยินคำเตือนของมิเรลา ดวงตาวูบไหว และเราไม่รู้ว่าเรื่องราวเป็นเช่นไรต่อไป สารคดีจบลงเช่นนั้น
ความเป็นจริงอันน่าเศร้านอกเหนือจากเรื่องเล่าของ 'อเล็กซานเดอร์ นาเนา' ก็คือ พรรค PSD ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย รัฐบาลเทคโนแครตที่เคยเป็นความหวังจะพาประเทศก้าวข้ามปัญหาการเมืองหมักหมมหมดบทบาทลง การเมืองของประเทศกลับเข้าวังวนเดิมๆ
การปกครองของประเทศโรมาเนียเป็นแบบ 'สาธารณรัฐระบอบกึ่งประธานาธิบดี' หมายความว่ามีทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีนั่งถือครองอำนาจบริหาร ขณะที่อีกขั้วอำนาจมาจากฝั่งรัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วยสภาสูง (136 คน) และสภาล่าง (330 คน) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
ตามรัฐธรรมนูญของประเทศโรมาเนีย ประชาชนจะลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดี (วาระ 5 ปี) โดยตรง ในฐานะประมุขของรัฐ ประธานาธิบดีโรมาเนียจะเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ 'หัวหน้ารัฐบาล' โดยทั่วไปนั้น ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมักตกเป็นของผู้นำพรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา
อย่างไรก็ดี ด้วยตัวบทรัฐธรรมนูญที่มีความคลุมเครือ โดยเฉพาะในมาตราที่ 85 วรรค 1 และมาตราที่ 103 วรรค 1 แม้พรรคการหนึ่งครองเสียงข้างมากในรัฐสภา ประธานาธิบดีก็ยังมีอำนาจที่จะปฏิเสธไม่นำเสนอชื่อของผู้นำพรรคที่ครองเสียงข้างมากขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้
ย้อนกลับไปในการเลือกตั้งรัฐสภาปี 2551 ผลปรากฎว่าพรรค 'พันธมิตร PSD+PC' ชนะการเลือกตั้งด้วยสัดส่วน 33.09% ของที่นั่งสภาสูง และ 34.16% ของที่นั่งสภาล่าง ขณะที่พรรคเสรีนิยมแห่งชาติ (PNL) ชนะการเลือกตั้งด้วยสัดส่วน 18.74% ของที่นั่งสภาสูง และ 18.57% ของที่นั่งสภาล่าง เมื่อทั้งสองพรรคร่วมมือเป็นพันธมิตรกัน ส่งผลให้กลายเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ครองเสียงข้างมากในสภา
อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีของโรมาเนียในขณะนั้นกลับเลือกแต่งตั้งสมาชิกของพรรคเสรีประชาธิปไตย (PDL) ที่ได้ไม่ได้ครองเสียงข้างมากเป็นนายกรัฐมนตรีแทน
หลังได้รับการแต่งตั้งแล้ว นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้คัดเลือกคณะรัฐมนตรีของตนเอง ก่อนที่รัฐสภาจะทำหน้าที่เป็นผู้ลงมติเห็นชอบกับคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
ความสัมพันธ์ของขั้วอำนาจทั้งสองทางการเมืองโรมาเนียแนบสนิทและใกล้ชิดอย่างมาก เนื่องจากรัฐสภาเป็นผู้ถืออำนาจการลงมติไว้วางใจ/ไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ หลายต่อหลายครั้งที่พรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภามักสนับสนุนประธานาธิบดีของประเทศ เพื่อเชื่อมไปยังการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่มาจากพรรคพวกของตนเอง
ในปี 2559 The Economist Intelligence Unit จัดอันดับดัชนีความเป็นประชาธิปไตยของโรมาเนียในระดับ "ประชาธิปไตยมีตำหนิ" 4 ปีให้หลัง โรมาเนียรั้งอันดับที่ 62 จากทั้งหมด 167 ประเทศ ด้วยคะแนนความเป็นประชาธิปไตยรวม 6.40/10 คะแนน
ในหัวข้อย่อยการบริหารงานของรัฐบาล ได้คะแนนคาบเส้นไปแค่ 5.36/10 คะแนน ขณะที่หัวข้อย่อยวัฒนธรรมการเมืองต่ำเตี้ยแค่ 3.75/10 คะแนนเท่านั้น
เมื่อย้อนกลับไปดูค่าเฉลี่ยความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ ตั้งแต่ปี 2549-2563 มีเพียงแค่ 2 ปีแรกของการเก็บสถิติเท่านั้นที่โรมาเนียมีคะแนนความเป็นประชาธิปไตยในระดับ 7/10 ตลอดช่วงเวลาที่เหลือนั้นประเทศมีคะแนนด้วยเลข 6/10 ทั้งสิ้น
โรมาเนียยังสอบตกในประเด็น 'ความโปร่งใส' ตลอดมา ตามการจัดอันดับจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ โรมาเนีย ณ ปี 2558 มีคะแนนความโปร่งใส 46/100 คะแนน โดยมีฐานการอ่านค่าดังกล่าวว่า ยิ่งคะแนนน้อยยิ่งมีการทุจิรตมาก โดยโรมาเนีย ณ ปี 2563 มีคะแนนจากการจัดอันดับเดียวกันที่ 44/100 คะแนน รั้งที่ 69 จากทั้งหมด 180 อันดับ
ในมิติความโปร่งใสและความเป็นประชาธิปไตยที่ดูเป็นภาพใหญ่และไกลตัว เมื่อโรมาเนียพาตัวเองเดินมาอยู่ในวิกฤตสาธารณสุขอีกครั้ง: โควิด-19
ท่ามกลางการตอบแบบสอบถามของประชาชนโรมาเนียว่าพวกเขามีความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขของประเทศมากแค่ไหน มีเพียง 8% เท่านั้นที่ระบุว่าพวกเขาเชื่อมั่นในสาธารณสุขของประเทศอย่างหนักแน่น ขณะที่อีก 62% ระบุว่าพวกเขามีความเชื่อมั่นน้อยถึงแทบไม่มีเลย
สารคดีน้ำดีอย่าง ‘Collective’ คู่ควรทุกประการกับทุกรางวัลและเสียงปรบมือที่ได้รับ หากแต่เมื่อพูดถึงจริยธรรมและการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน คำพูดอันเรียบง่ายของ 'กาตาลิน โตลอนตัน' ตอบโจทย์นี้ทั้งหมดแล้ว
สื่อมวลชนไม่ใช่ฮีโร่ที่ทำงานชิ้นหนึ่งจบและประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ เพราะแม้สมมติว่าวันนี้ ‘Collective’ ได้รับรางวัลออสการ์ทั้ง 2 สาขาที่เข้าชิง แต่ผู้คนที่โรมาเนียยังคงเผชิญหน้ากับระบบสาธารณสุขที่เลวร้าย รัฐบาลที่คดโกง หน้าที่ของสื่อมวลชนก็ยังไม่จบลงและไม่อาจพูดได้เลยว่าประสบความสำเร็จแล้ว
เมื่อใดที่ประชาชนยังอยู่บ้านมือเปล่า สื่อมวลชนจะไม่มีวันชนะ คำถามคือสื่อมวลชนเหล่านี้จะยังลืมตาตื่นขึ้นมาในวันใหม่แล้วรู้สึกอยากให้ประชาชนรู้เรื่องราวต่างๆ มากขึ้นหรือไม่ แท้จริงแล้วจริยธรรมสื่ออาจเป็นแค่การเอาชนะความเป็นมนุษย์ของตนเองเท่านั้น