ไม่พบผลการค้นหา
ผอ.สสว.เผยถอนกองทุนเอสเอ็มอี ขอใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน หมดแล้ว หลังกฤษฎีกาตีความใช้เงินกู้ไม่ได้ ดึงสินเชื่อ ‘SMEs One’ ช่วยเหลือผู้ประกอบการรอบ 2 หลังเหลือวงเงินรวม 1,200 ล้านบาท

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากที่ สสว. ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดแจ้งความประสงค์ยื่นขอกู้สินเชื่อ ‘SMEs One’ รอบแรก วงเงินรวม 4,890 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา โดยหลังจากตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นขอสินเชื่อทั้งหมดแล้ว มีวงเงินเหลือประมาณ 1,200 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติมจึงดำเนินการเปิดแจ้งความประสงค์ยื่นขอกู้สินเชื่อ ‘SMEs One’ รอบ 2 วงเงิน 1,200 ล้านบาท ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่ 24 ส.ค. 2563 เป็นต้นไป

สำหรับสินเชื่อ ‘SMEs One’ เปิดโอกาสทั้งบุคคลธรรมดา และกลุ่มนิติบุคคล แต่ต้องเป็นกลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อย (MICRO) คือ รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี การจ้างงานไม่เกิน 5 คน ต้องขึ้นทะเบียนไว้กับ สสว. อีกทั้ง ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ, โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม, โครงการฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยผู้ขออนุมัติสินเชื่อต้องไม่เป็นหนี้ NPLs ไม่ถูกดำเนินคดี ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย และต้องมีหลักประกัน กรณีบุคคลธรรมดาต้องมีบุคคลที่น่าเชื่อถือค้ำประกัน ส่วนนิติบุคคล ค้ำประกันโดยกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี กำหนดระยะเวลาผ่อนนานสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี คุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ เบื้องต้นประเมินว่าการสนับสนุนสินเชื่อครั้งนี้ คาดจะช่วยเอสเอ็มอีรายย่อยได้ประมาณ 2,400 ราย รักษาการจ้างกว่า 12,000 ราย ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5,000 ล้านบาท

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ สแกน QR Code ในโปสเตอร์, LINE Official Account: SME Development Bank , เว็บไซต์ของ ธพว. (www.smebank.co.th) และแอปพลิเคชัน ‘SME D Bank’

ผอ.สสว..jpg
  • วีระพงศ์ มาลัย

ส่วนความคืบหน้ากองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ สสว. เคยตั้งขอไว้ 50,000 ล้าน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก รวมถึงกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย ซึ่งเป็นการขอใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน โดยภายหลังที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการตีความว่าไม่สามารถใช้เงินดังกล่าวได้นั้น ขณะนี้ สสว. ได้มีการถอดโครงการทั้งหมดที่มีการขอให้เงินกู้ดังกล่าวออกจากคำขอที่ยื่นไปทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทั้งหมดแล้ว โดย ผอ.สสว.ยอมรับว่า แนวทางในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในอนาคตอาจจะไม่ได้เป็นการช่วยในเรื่องตัวเงินได้แล้ว เนื่องจากจะต้องใช้เงินจากงบประมาณ หรือ งบกลางเท่านั้น ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 สสว. จะได้รับการจัดสรรงบประมาณเพียง 900 กว่าล้านบาท บวกกับเงินที่มีอยู่ในกองทุนอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท จึงไม่ครอบคลุมการช่วยเหลือด้านเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเฉพาะที่มีในระบบกว่า 3 ล้านราย