“สิงคโปร์ประณามการโจมตีครั้งนี้” กระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์กล่าว ในแถลงการณ์เมื่อค่ำวานนี้ (8 พ.ค.) “สิ่งสำคัญคือต้องปกป้องความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมและการทูต เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาสามารถดำเนินการต่อไปได้ และให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่ผู้ที่ต้องการ”
ยังคงไม่มีความแน่ชัดว่าใครอยู่เบื้องหลังการโจมตีในครั้งนี้ โดย โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังเดินทางไป “มอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม” ในภูมิภาคดังกล่าว โดยขบวนรถอยู่ภายใต้การคุ้มกันของทหารในขณะนั้น “น่าเสียใจที่ระหว่างทางของพวกเขา เกิดการยิงกันขึ้น” สำนักข่าว AFP รายงานอ้างอิงคำพูดของวิโดโด
Global New Light of Myanmar สื่อของรัฐเมียนมา รายงานเมื่อวันอังคาร (9 พ.ค.) ว่า การโจมตีเกิดขึ้นในขณะที่ยานพาหนะกำลังมุ่งหน้าจากเมืองสีเซ็งไปยังเมืองตองยี และ “ผู้ก่อการร้ายยิงพวกเขาโดยใช้อาวุธขนาดเล็ก และกองกำลังความมั่นคงได้ทำการโจมตีตอบโต้” ทั้งนี้ รายงานระบุว่าไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แต่กระสุนบางนัดทำให้รถเสียหาย ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาใช้คำว่า "ผู้ก่อการร้าย" เพื่ออธิบายผู้ที่ต่อต้านการปกครองของตัวเอง
ในสัปดาห์นี้ อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ลาบวนบาโจตะวันออก โดยมีสมาชิก 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมการประชุม ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากความล้มเหลวของอาเซียน ที่จะดำเนินการมากกว่าเดิม เพื่อแก้ไขวิกฤตในเมียนมาที่เกิดจากการรัฐประหาร เมื่อเดือน ก.พ. 2564
กองทัพเมียนมาเพิกเฉยต่อฉันทามติ 5 ประการที่ออกโดยอาเซียน ซึ่ง มินอ่องหล่ายน์ ผู้นำรัฐประหาร ได้ทำการตกลงกับอาเซียนในเดือน เม.ย. 2564 และกำลังต่อสู้กับกลุ่มต่อต้านติดอาวุธและองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ที่มีอยู่มาอย่างยาวนาน ในสถานการณ์สงครามกลางเมือง ทั้งนี้ เมียนมามีผู้เสียชีวิตหลายพันคน และพลเรือนมากกว่าหนึ่งล้านคนถูกบังคับให้ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ
“สิงคโปร์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายละเว้นจากความรุนแรง ตามฉันทามติ 5 ประการ” แถลงการณ์ของสิงคโปร์ยืนยันในหลักการเดิม “มีเพียงการเจรจาที่สร้างสรรค์ ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญทั้งหมดในเมียนมาเท่านั้น ที่สามารถอำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหาอย่างสันติ เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวเมียนมา”
ในอีกทางหนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ดังกล่าว “การโจมตีในรัฐฉานเหล่านี้ เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลใช้ความรุนแรงและไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม อันได้นำไปสู่ความไม่มั่นคงมากขึ้นในพื้นที่ ในขณะที่รัฐบาลยังคงเพิกเฉยต่อพันธกรณีภายใต้ฉันทามติ 5 ประการของอาเซียน ซึ่งรวมถึงการยุติความรุนแรง และทำให้มีการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมไม่ถูกจำกัด” แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกแผนกกล่าว
แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังเรียกร้องให้กองทัพเมียนมา “เคารพความปรารถนาประชาธิปไตยของประชาชน ที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ต้องการมีชีวิตอยู่อีกวัน ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของกองทัพ” และปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ รวมถึงกฎว่าด้วยการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ทางการทูตและพลเรือน
รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งตั้งขึ้นรัฐบาลพลเรือน ซึ่งถูกโค่นล้มจากการรัฐประหาร ประณามเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน โดยกล่าวว่าการโจมตีดังกล่าว “ขัดต่อหลักการ” พร้อมย้ำว่า “การโจมตีครั้งนี้ไม่ได้รับคำสั่งหรือยอมรับจาก NUG หรือพันธมิตร” ทั้งนี้ NUG ได้จัดตั้งเครือข่ายกองกำลังป้องกันประชาชน เพื่อต่อสู้กับการปกครองของทหาร
ที่มา: