ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงาน ปปง. ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ ชมรมบัตรเครดิตแห่งประเทศไทย กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ หามาตรการยับยั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมตั้งศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ปปง.เพื่อช่วยเหลือประชาชน

พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รักษาการเลขาธิการ ปปง. เปิดเผยว่า วันนี้ (15 พ.ย.) สำนักงาน ปปง. ได้เชิญธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 36 แห่ง ชมรมบัตรเครดิตแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ทั้ง 5 เครือข่าย มาร่วมประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการในการระวังป้องกันประชาชนถูกกลุ่มมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวง โดยที่ประชุม มีมติที่จะปฏิบัติงานร่วมกัน เป็นมาตรการพิเศษที่เน้นการป้องกัน และการเฝ้าระวัง เพื่อการระงับยับยั้งความเสียหายมิให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนและมิให้ต้องสูญเสียทรัพย์สินจากการหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าว

นอกจากนี้ สำนักงาน ปปง. ยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ปปง. (ศปก.ปปง.) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการดำเนินการในเบื้องต้น สำนักงาน ปปง. กับธนาคารพาณิชย์ จะร่วมกันทำการตรวจสอบบัญชีเงินฝากของธนาคารทั้ง 36 แห่ง ว่าเป็นบัญชีที่มีความเสี่ยงสูง จนเป็นเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นบัญชีที่มีการรับจ้างเปิดบัญชีหรือเป็นบัญชีที่จะนำมาใช้ในการประกอบอาชญากรรมหรือไม่ หากพบว่าบัญชีใดอยู่ในข่ายต้องสงสัย ทางธนาคาร จะมีการเฝ้าระวังบัญชีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน ปปง.จะประสานการปฏิบัติกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อดำเนินการสืบสวนขยายผลรวบรวมพยานหลักฐาน หากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแก๊งมิจฉาชีพก็จะดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวและเครือข่ายในทันที 

หากประชาชนถูกแก๊งมิจฉาชีพ โทรศัพท์มาหลอกลวง ขอให้รีบแจ้งไปยัง ศปก.ปปง. โดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้สามารถระงับยับยั้งการถอนเงินของกลุ่มมิจฉาชีพได้อย่างทันท่วงที โดยโทรศัพท์แจ้งเหตุมาที่ ศปก.ปปง. สายด่วน 1710 เมื่อเจ้าหน้าที่ประจำ ศปก.ปปง. ได้รับแจ้งเหตุ จะประสานข้อมูลไปยังธนาคารเพื่อดำเนินการระงับยับยั้งการถอนไว้เป็นการชั่วคราว และเพื่อให้ธนาคารร่วมกับสำนักงาน ปปง. ดำเนินการตรวจสอบหรือพิสูจน์ทราบว่าบัญชีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือไม่ ในขณะเดียวกัน ศปก.ปปง. จะประสานข้อมูลไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าว ว่าเป็นการโทรศัพท์มาจากต่างประเทศ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือ VoIP หรือไม่อย่างไร เมื่อได้ข้อเท็จจริงเป็นผู้ยุติว่าเป็นการกระทำของกลุ่มมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก็จะประสานการปฏิบัติกับพนักงานสอบสวนของฝ่ายตำรวจหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ในส่วนของสำนักงาน ปปง. จะใช้มาตรการตามกฎหมายฟอกเงินในการดำเนินการสืบสวนสอบสวน ยึดอายัดทรัพย์สิน และคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชนผู้เสียหาย 


ทั้งนี้ หากพบเห็นหรือสงสัยว่าบุคคลใดมีพฤติการณ์รับจ้างเปิดบัญชี ขอให้แจ้งเบาะแสมายัง ศปก.ปปง. สายด่วน 1710 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ