ไม่พบผลการค้นหา
สมอ. เปิดรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา ก่อนตราพระราชกฤษฎีกาบังคับใช้ต่อไป

นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการใช้งานสมาร์ทโฟน และแท็บแล็ตเป็นจำนวนมาก จึงมีการนำพาวเวอร์แบงค์ซึ่งเป็นอุปกรณ์จ่ายไฟสำรองที่สามารถทำให้การใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่องทุกที่ทุกเวลามาใช้อย่างแพร่หลาย ที่ผ่านมาพบว่ามีการใช้ พาวเวอร์แบงค์แล้วเกิดการระเบิด ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ประชาชน สมอ. จึงได้จัดทำมาตรฐานพาวเวอร์แบงค์และจะบังคับใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา – คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย มาตรฐานเลขที่ มอก.2879 – 25XX 

มาตรฐานดังกล่าวได้กำหนดให้มีการทดสอบต้องเป็นไปตาม มอก.2217 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเซลล์และแบตเตอรี่ทุติยภูมิที่มีอิเล็กโทรไลต์ แอลคาไลน์ หรืออิเล็กโทรไลต์อื่นที่ไม่ใช่กรดสำหรับการใช้งานแบบพกพา เฉพาะด้านความปลอดภัย และ มอก.1561 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบริภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ – ความปลอดภัย เล่ม 1 คุณลักษณะที่ต้องการทั่วไป นอกจากนี้ ผู้ผลิต ผู้ทำ ผู้นำเข้าจะต้องแนบคู่มือข้อแนะนำการใช้งานมากับผลิตภัณฑ์ รวมถึงแสดงรายละเอียดคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ เช่น ชื่อผู้ทำหรือผู้จัดจำหน่าย แรงดันไฟฟ้า ความจุไฟฟ้าที่กำหนด 

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบก่อนการบังคับใช้ กฎหมายกำหนดให้ สมอ. ต้องรับฟังความคิดเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ดังนั้น ผู้ใดประสงค์จะแสดงความคิดเห็นสามารถเสนอข้อคิดเห็นพร้อมทั้งเหตุผล โดยระบุชื่อ ที่อยู่ ส่งถึง สมอ. ได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2560 และสามารถดูรายละเอียดการกำหนดมาตรฐาน ได้ที่ www.tisi.go.th ในหัวข้อมาตรฐานบังคับ หรือติดต่อที่กองกฎหมาย สมอ. โทรศัพท์ 0 2202 3522 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถติดตามความเคลื่อนไหวด้านการมาตรฐานได้ที่ www.facebook.com/tisiofficial