วันที่ 4 เม.ย. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ในญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตาม ม.152 ของรัฐธรรมนูญ
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายปิดท้ายในเวลาประมาณ 02.00 น. โดยเริ่มต้นจากการแสดงความรู้สึกว่า ตลอดระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา ตนไม่เคยเสียใจที่ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และไม่เคยเสียใจที่ได้เป็นฝ่ายค้าน แม้จะรวมเสียงได้ 320 เสียง เพราะการเป็นฝ่ายค้านที่แอคทีฟนั้นจะเป็นตัวชี้วัดสุขภาพของประชาธิปไตย และการที่ได้เห็น สส. พรรคก้าวไกลอยู่ล้อมรอบก็ยิ่งรู้สึกเบาใจ และไม่มีอะไรค้างคาใจอีกต่อไป
พิธา ยังยอมรับอีกว่า ไม่เคยเสียใจที่การอภิปรายครั้งนี้ อาจเป็นการอภิปรายครั้งสุดท้ายในชีวิตทางการเมือง เพราะขณะนี้ชีวิตทางการเมืองถูกแขวนอยู่บนเส้นด้าย แม้สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคตนในตอนนี้จะเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนเส้นทางที่จะนำไปสู่เส้นชัย และย้ำว่า ตนพร้อมจะเดินออกไปอย่างผู้ชนะ และถึงแม้จะไม่เคยเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่รู้สึกเสียดายเมื่อได้เห็นการชี้แจงของคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั่นคือ เสียดายโอกาสของประเทศ และเสียดายความศรัทธาของประชาชน เสียใจที่ตนเคยเป็นผู้เลือกพรรคการเมืองที่เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่ปี 2543 แต่มาถึงวันนี้กลับเห็นความสะเปะสะปะ และความล่องลอย จนไม่รู้ว่า วาระของรัฐบาลนี้คืออะไร เพราะสิ่งที่ทำอยู่ไม่ได้หาเสียง จนตนนั้นมองว่า “รัฐบาลนี้ไร้วาระ”
พิธา ยังกล่าวถึง วารสาร Ignite Thailand Bulletin ที่นำเสนอถึงการชูเศรษฐกิจไทยผ่านอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้ง 8 ด้าน โดยเปรียบเทียบว่า 8 Hub ของรัฐบาลที่ว่านั้นคือ ความมืด 8 ด้านของประชาชน จนเกรงว่า จาก Ignite Thailand จะกลายเป็น Darkness Thailand และความมืด 8 ด้านที่ว่านั้น ได้แก่ มืดเรื่องปากท้อง มืดแก้ส่วย มืดผูกขาด มืดกระตุ้นเศรษฐกิจ มืดแก้ไขรัฐธรรมนูญ มืดปฏิรูปกองทัพ มืดมนคุณภาพชีวิต และมืดกระบวนการยุติธรรม
พิธา ยังกล่าวอีกว่า การอภิปรายทั้งสองวันมีเรื่องเดียวที่ยังพูดคุยกันไม่ตกผลึก และไม่เห็นความชัดเจนในสภาฯ แห่งนี้คือ ความมืดในการปฏิรูปกองทัพ แม้นายกรัฐมนตรีจะบอกว่า งงที่ฝ่ายค้านพูดเรื่องเดิมๆ แต่ตนก็งงกับนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นกันที่ก่อนเลือกตั้งพูดอีกอย่าง และเมื่อหลังเลือกตั้งก็พูดอีกอย่าง
พิธา ยังได้อ่านนโยบายปฏิรูปกองทัพ โดยอ้างว่า เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่คล้ายคลึงกับพรรคก้าวไกลว่า การปฏิรูปกองทัพนั้นทำไปเพื่อป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดิน มีความเป็นทหารอาชีพ ออกกฎหมายป้องกันการทำรัฐประหาร และแก้ไขกฎหมายให้เป็นการเข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ ดังนั้นฝ่ายค้านในวันนี้เลยงงว่า สมัยที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านด้วยกันก็คิดเหมือนกัน แต่สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพูดในวันนี้ มันจะดีกว่านี้ถ้าไปพูดก่อนเลือกตั้ง
พิธา ยังหยิบยกเอกสารจากมหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด มหาวิทยาลัยโตรอนโต และรายงานของสำนักข่าวรอยส์เตอร์ที่ระบุว่า การใช้ IO ในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นจริงโดยทหาร รวมไปถึงการทำสปายแวร์เพกาซัสต่อพี่น้องประชาชน แต่ก็เข้าใจดีว่า เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่ เศรษฐา ทวีสิน จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังมีเรื่องการจัดซื้ออาวุธที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า “ใช้เรือประมงแทนเรือนรบ” ตนยอมรับว่า ตนเคยพูดในช่วงเวทีดีเบต แต่ตนได้ข้อมูลจากพี่น้องทหารเรือ และทูตทหารหลายๆ รวมถึงรายงานข้อเท็จจริงอีกว่า สงครามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาไปเยอะ ประเทศแล้วพบว่า ในเชิงจิตวิทยาในการสู้รบ มีการใช้เรือประมงเพื่อข่มขวัญคู่ต่อสู้จริง
“หลักคิดในการปฏิรูปกองทัพที่จะมีอาวุธที่เหมาะสมทำไปเพื่อสร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เกิดขึ้นในประเทศของเรา จะได้ไม่ต้องเบียดเบียนภาษีของประชาชน ไม่ใช่ว่า เราไม่ต้องการให้กองทัพไม่ซื้ออาวุธอะไรเลย แต่เรือฟริเกตนั้นก็สำคัญ เพราะสามารถสร้างอุตสาหกรรม ทำให้เรื่องทหารเกี่ยวข้องกับการสร้างอุตสาหกรรม” พิธา กล่าว
นอกจากนี้ พิธา ยังกล่าวสะสางในข้อเท็จจริงที่ใช้ในการอภิปรายในครั้งนี้ทั้งหมดว่า ตนพอจะจับทางนายกรัฐมนตรีได้แล้วว่า ข้อมูลต่างๆ ที่นายกรัฐมนตรีหยิบยกมานั้นมักจะเป็นข้อมูลที่เป็นด้านบวก แต่การพูดแต่เรื่องบวกนั้นมันไม่มีบริบท เป็นแค่เหรียญด้านเดียว ทำให้รัฐบาลไม่มียุทธศาสตร์ในการบริหารประเทศ ทำให้เกาไม่ถูกที่คัน อาทิเช่น ราคายางที่รัฐบาลบอกว่า สูงขึ้นในรอบ 10 ปี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ราคายางนั้นมีขึ้นมีลงตามอุปสงค์ และอุปทาน หรือเป็นไปตามฤดูกาล แต่ในขณะที่ราคายางสูงขึ้น รายได้ของเกษตรกรกลับลดลง 8% ดังนั้น เวลาที่นายกรัฐมนตรีจะโฟกัสอะไร ต้องโฟกัสให้รอบด้าน ซึ่งมันจะมีประโยชน์อะไรหากราคาสินค้าเกษตรสูงมากในหลายๆ ตัว แต่รายได้ของเกษตรกรกลับลดน้อยลง
ขณะที่ในเรื่องของภาคการลงทุนที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า จะมีสึนามิแห่งการลงทุนภายใน 2 ปีนั้น ตนกังวลว่า สึนามิดังกล่าวจะสร้างผลกระทบให้แก่ภาคอุตสาหกรรมเดิม อาทิเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ EV ที่อาจมาทำลายอุตสาหกรรมสันดาปซึ่งสร้างมูลค่าการส่งออกให้ไทยเป็นจำนวนมาก คือ การส่งออกรถปิคอัพ แต่ในวันนี้กลับโดยจีนแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไปกว่า 8% ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องกังวลคือ การบริหารเศรษฐกิจของประเทศที่จะโดนสึนามิแห่งการลงทุนนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป
รวมไปถึงการลงทุนในไตรมาส 4 ที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 2.5 เท่า แต่สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงคือ ในภูมิภาคอาเซียนนั้นมีการเติบโตทางการลงทุนทุกประเทศ โดยฟิลิปปินส์คือประเทศที่มีการเติบโตมากสุดกว่า 7 เท่า และอินโดนีเซียยังคงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาค สำหรับภาคการลงทุนที่มีมูลค่ากว่า 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ประเทศไทยนั้นกลับมีมูลค่าเพียงแค่ 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเพียงแค่กัมพูชา ลาว และเมียนมาเท่านั้น
พิธา ยังกล่าวถึงภาคการท่องเที่ยว และบริการอีกว่า การท่องเที่ยวประเทศไทยกลับมายิ่งใหญ่ได้นั้นจะมีประโยชน์อะไร หากท้ายที่สุดแล้วจะโฟกัสแค่ 5 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต กระบี่ และเชียงใหม่ นั่นจึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ หนำซ้ำในจังหวัดเหล่านั้นกลับยังเต็มไปด้วยปัญหาขยะ มลพิษ มาเฟีย ยาเสพติด และค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้มีผลต่อเนื่องมาจนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม แรงงาน และความปลอดภัยของประชาชน
ในส่วนของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยยังคงมีปัญหาอยู่มากนั่นคือ ฝุ่น PM 2.5 แม้นายกรัฐมนตรีจะบอกว่า จุดความร้อนลดน้อยลงจากปีที่แล้ว แต่จากข้อมูลในช่วงปี 2554-2555 มาจนถึงปัจจุบันจะพบว่า จุดความร้อนมักเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม และเมษายน แต่รัฐบาลไปดูเรื่องนี้ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ จึงยังไม่พบ เพราะมันยังไม่ถึงช่วงที่จุดความร้อนมากขึ้น รวมถึงสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ผลกระทบของประชาชนที่เจ็บป่วยจากกรณีฝุ่นพิษกว่า 2,000,000 เคส
พิธา ยังกล่าวต่อไปจนถึงเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นหย่อมๆ โดยระบุถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการลงพื้นที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานีว่า อยากให้นายกรัฐมนตรีลองไปลงพื้นที่แบบไม่มีข้าราชการห้อมล้อม และจะพบว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้แก่ลูกจ้างพนักงานโรงแรมระดับ 4 ดาว อาจเป็นการขึ้นค่าแรงแบบไม่ขึ้น เพราะในโรงแรมระดับนั้น ค่าแรงขั้นต่ำเกินกว่า 400 มาตั้งนานแล้ว และอยากให้ไปดูการจัดการขยะที่สะสมมากว่า 40 ปีว่า คนสมุยเขารับผิดชอบอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบกับภาคการท่องเที่ยว รวมไปถึงมาเฟียต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่ค่อยดี ได้เตรียมการตำรวจสำหรับบริหารจัดการอย่างไรเพื่อทำให้ประชาชนมั่นใจว่าจะปราศจากเรื่องเหล่านี้ ในวันที่ประชาชนกำลังกังวลถึงการพิพาทกันระหว่างตำรวจเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ของประเทศ
“เมื่อพี่น้องประชาชนและสภาฯ แห่งนี้ได้สรุปว่า ใน 2 วันที่ผ่านมา เราได้พูดคุยเรื่องอะไรกันบ้าง ทำไมเราถึงมองว่าเป็นความมืด 8 ด้าน ฝ่ายค้านงง หรือรัฐบาลงงกันแน่ ใครที่พูดเหมือนเดิมอยู่ หรือใครที่พูดไม่เหมือนเดิม เศรษฐกิจ และการต่างประเทศที่นายกรัฐมนตรีน่าจะเข้าใจดี ตลอดจนเรื่องสิ่งแวดล้อม แรงงาน และความปลอดภัยที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจไม่แพ้กัน” พิธา กล่าว
สำหรับนโยบายด้านการต่างประเทศ พิธา กล่าวว่า จะแก้ปัญหาในประเทศ เช่น อาชญากรรมออนไลน์ ฝุ่นควันข้ามประเทศ ฯลฯ ไม่ได้เลย หากการต่างประเทศของเรายังไม่รอบด้าน จึงเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นในเมียนมา รัฐบาลควรผู้เชี่ยวชาญที่มีความเห็นรอบด้าน และสามารถรวมทุกกลุ่มที่มีความขัดแย้งเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการรับฟังข้อมูลที่รอบด้านสำหรับการแก้ปัญหา ถึงแม้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จะตอบรับคำเสนอแนะของ รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลไปแล้ว ถึงการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ข้ามชาติ แต่นั่นก็ไม่เพียงพอที่จะสามารถสั่งการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงการต่างประเทศได้
ทั้งนี้ พิธา ยังได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล คือ ถ้ารัฐบาลอยากจะกอบกู้ภาวะผู้นำ ถึงเวลาที่ต้องปรับ ครม. แล้ว ให้คนที่เขาเชี่ยวชาญมาทำงาน เพราะผ่านมา 7 เดือนแล้ว นายกรัฐมนตรีพอจะเห็นภาพว่า ใครมีประสิทธิภาพกับเรื่องที่เขารู้จริง ไม่ใช่ว่าบางคนทำอีกอาชีพมาตลอดชีวิต เพราะนั่นจะทำให้ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อความไร้วาระของรัฐบาลได้เลย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีควรจะมีโรดแมพในการทำงานได้แล้ว และโรดแมพนั้นต้องไม่ใช่ระบุแค่ว่า จะทำอะไร แต่ต้องระบุไปถึงการจะทำอย่างไร เมื่อไหร่ และอย่างไร เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกันอย่างมีองคาพยพ และสิ่งสุดท้าย นายกรัฐมนตรีต้องฟังเพื่อตอบสนอง ไม่ใช่ฟังเพื่อตอบโต้ตลอดเวลา เพราะบางครั้งสิ่งที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้อยากได้ยินที่สุดอาจเป็นเสียงที่ประเสริฐที่สุดเหมือนกับที่นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวไว้