ไม่พบผลการค้นหา
ขสมก.ยืนยันการติดตั้งเครื่องกรองอากาศต้นแบบบนรถโดยสาร เพื่อทดสอบการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่ได้ลวงโลกเหมือน GT200 ด้าน "อ.เจษฎา" แจกแจง 5 ข้อ จี้ ขสมก. ปรับปรุงรถเมล์ให้ดีก่อน พร้อมหนุนนักวิชาการในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ความกล้าให้ข้อเท็จจริงกับ รมต.คมนาคม

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.ชี้แจงกรณีที่มีสื่อมวลชนนำเสนอความคิดเห็นของนักวิชาการบางท่านในเชิงลบเกี่ยวกับการติดตั้งเครื่องกรองอากาศบนหลังคารถโดยสารของ ขสมก.เป็นเรื่องลวงโลกเช่นเดียวกับเครื่อง GT200 ว่าเรื่องดังกล่าวกระทรวงคมนาคมมีนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล จึงได้ทดสอบการติดตั้งเครื่องกรองอากาศต้นแบบบนหลังคารถโดยสารของ ขสมก.ขณะรถโดยสารวิ่งให้บริการประชาชน

โดยการทำงานของเครื่องต้นแบบใช้หลักการกวาดอากาศที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กซึ่งแขวนลอยอยู่บนถนนที่มีการจราจรหนาแน่นในกรุงเทพมหานคร ในระดับความสูงไม่เกิน 5 เมตร เมื่อรถวิ่งอากาศจะปะทะเข้าหน้ารถ และผ่านเข้าเครื่องกรองโดยอัตโนมัติ ซึ่งวิธีการดังกล่าวสามารถกรองอากาศได้ โดยดูดลมเข้าเครื่องกรองขณะรถขับเคลื่อนอีกทั้งไส้กรองอากาศที่ใช้เป็นไส้กรองที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ แต่มีราคาถูกสามารถหาซื้อได้ทั่วไป ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักการเดียวกับการใช้แก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในเมืองเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ และกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

เครื่องฟอกอากาศรถเมล์.jpg

รถโดยสารที่ติดตั้งเครื่องกรองอากาศที่มีหน้ากว้าง 0.5 ลูกบาศก์เมตร บนหลังคาจะสามารถกวาดอากาศเข้าเครื่องกรองได้ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อการวิ่งรถ 1 เที่ยว เมื่อรถโดยสารวิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะทางยาว 20 กิโลเมตร ซึ่งงานวิจัยในต่างประเทศระบุว่า ผู้ใหญ่ 1 คนจะสูดอากาศหายใจเฉลี่ย 0.5 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ดังนั้นรถโดยสาร 1 คันจะสามารถกรองอากาศให้กับประชาชนที่อยู่บนถนนได้ถึง 20,000 คน    

และจากการทดลองนำรถโดยสารที่ติดตั้งเครื่องกรองอากาศบนหลังคารถมาวิ่งให้บริการประชาชนเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2563 ขณะที่รถวิ่งผลการวัดค่า PM2.5 ในอากาศก่อนเข้าเครื่องกรองมีค่าอยู่ในระดับ 48-52 คุณภาพอากาศปานกลาง ในขณะที่อากาศที่ผ่านเครื่องกรองออกมาแล้วมีค่าอยู่ในระดับ 1-5 คุณภาพอากาศดีมาก

อย่างไรก็ตามการทดลองนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงานจากหลายหน่วยงาน หากการทดลองต่อเนื่องได้ผลเป็นที่น่าพอใจจึงจะดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ของสำนักวิศวกรรมยานยนต์กรมการขนส่งทางบกต่อไป


"อ.เจษฎา" แจง 5 ข้อ โต้กลับ จี้ ขสมก.

ด้าน รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์โต้ตอบในฐานะที่เป็นนักวิชาการที่ทาง ขสมก.กล่าวถึง โดยแจกแจงเป็น 5 ข้อ ดังนี้

1. ที่ ขสมก.อ้างว่า กระทรวงคมนาคม มีนโยบายเร่งด่วนเรื่อง PM2.5 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล จึงทดสอบติดตั้งเครื่องกรองอากาศดักฝุ่นขณะรถวิ่งให้บริการนั้น วิธีนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะสาเหตุของฝุ่นดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลมาตรฐานต่ำระดับแค่ยูโร 1 และ 2 ซึ่งมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 10 ปีขึ้นไป ซึ่ง ขสมก. เองควรเร่งปรับปรุงสภาพเครื่องยนต์ของรถโดยสารของตัวเองให้ดีขึ้น จัดหารถรุ่นใหม่ที่มีเครื่องยนต์ประสิทธิภาพสูงในระดับมาตรฐานที่สูงขึ้น เช่น ยูโร 4 หรือ 5 รวมทั้งใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้าด้วย ไม่ใช่พยายามจะหาทางแก้แบบปลายเหตุ

เศรษฐกิจ-ป้ายรถเมล์-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-แรงงาน

2. ที่ ขสมก. อ้างว่า เครื่องต้นแบบสามารถกวาดอากาศที่มีฝุ่นบนท้องถนนขณที่การจราจรหนาแน่น โดยอากาศปะทะเข้าหน้ารถ และผ่านเข้าเครื่องกรองโดยอัตโนมัติไม่ต้องใช้ไฟฟ้า และไส้กรองที่ใช้สามารถกรองฝุ่น PM2.5 แถมมีราคาถูกหาซื้อได้ทั่วไป ทั้งที่ความจริง การที่อากาศเข้าไปในเครื่องกรองได้นั้น ความเร็วของรถต้องสูงเพียงพอ ขัดแย้งกับสภาพการจราจรที่หนาแน่น ทำให้รถเคลื่อนตัวได้ช้า 

นอกจากความเร็วที่มากพอให้อากาศไหลเข้าไปในเครื่องแล้ว อากาศต้องมีแรงดันเพียงพอที่จะทะลุผ่านไส้กรองของเครื่องด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะไม่เกิดการกรองขึ้น ทำให้เป็นสาเหตุที่เครื่องฟอกอากาศทั่วไปต้องใช้พัดลมในการดูดอากาศให้เข้าไปในเครื่องด้วยความเร็วที่เพียงพอ และที่ ขสมก. อ้างว่า ใช้หลักการเดียวกับประเทศอังกฤษ และประเทศอินเดีย นั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะระบบกรองอากศบนรถประจำทางของประเทศอังกฤษใช้แตกต่างกับที่ ขสมก. ใช้มาก

"โครงการรถเมล์กรองฝุ่น ที่วิ่งทดลองในเมืองเซาท์แฮมป์ตัน ประเทศอังกฤษนั้น เป็นกิจกรรมรณรงค์ที่จัดทำโดยภาคเอกชน ในการจัดซื้อรถประจำทางรุ่นใหม่ล่าสุด ที่ใช้เครื่องยนต์มาตรฐานสูงมาก ระดับยูโร 6 ซึ่งปล่อยมลภาวะน้อยมากๆ เพื่อเอามารณรงค์ให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวน้อยลง หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการสร้างมลพิษลงได้"

และแม้ว่าทางโครงการจะประชาสัมพันธ์ว่าประสบความสำเร็จอย่างดีในการกรองฝุ่น แต่จริงๆ แล้ว หลังจากทดลองวิ่งไป 100 วันนั้น พบว่าสามารถเก็บฝุ่นได้ปริมาณเพียง 65 กรัม หรือแค่เท่ากับลูกเทนนิส 1 ลูกเท่านั้นเอง ดังนั้น การที่ ขสมก. เอากรณีในสองประเทศนี้มาอ้าง จึงไม่ใช่การอ้างอิงที่เหมาะสมถูกต้อง

การเดินทาง รถเมล์ ขสมก ค่าครองชีพ เศรษฐกิจ

3. ที่ ขสมก.บอกว่าเครื่องกรองอากาศมีหน้ากว้าง 0.5 ลูกบาศก์เมตร (จริงๆ น่าจะเป็นหน่วยตารางเมตรนะ) จะกวาดอากาศได้ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อการวิ่งรถ 1 เที่ยว ดังนั้น ถ้าคนสูดหายใจเฉลี่ย 0.5 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง มันจะสามารถกรองอากาศให้คนบนถนนได้ถึง 20,000 คน การคำนวณแบบนั้นเป็นวิธีการที่ผิด เพราะไม่ควรจะวัดจากปริมาณของอากาศที่เข้าเครื่องด้านหน้าของเครื่องกรอง ต้องวัดจากอากาศที่ผ่านเครื่องกรองออกมาด้านหลังแล้วว่าได้เป็นปริมาตรเท่าไหร่ ต่างหาก

ปกติแล้ว เมื่อใช้ไส้กรองที่กรองฝุ่น PM 2.5 ได้ เช่น แบบ hepa filter ปริมาณของอากาศที่ออกมาด้านหลังจะลดลงเป็นอย่างมาก เพราะโดนเส้นใยของแผ่นกรองรวมทั้งฝุ่นที่ติดอยู่บนเส้นใหญ่นั้นกักอากาศเอาไว้ (จึงต้องใช้พัดลมไฟฟ้า ช่วยในการดูดและเป่าลมออกมา) ยิ่งใช้นานเท่าไหร่ อากาศจะยิ่งไม่สามารถออกจากเครื่องกรองมาได้ เนื่องจากแผ่นกรองฝุ่นเกาะหนาแน่นเต็มไปหมดแล้ว ... นั่นคือ การคำนวณอากาศที่จะให้กับคนบนถนนตามที่อ้างมานั้น เกินความจริงไปอย่างมาก

4. ที่ ขสมก. รายงานผลการลองนำรถวิ่งให้บริการ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2563 ว่า ผลการวัดค่า PM 2.5 ในอากาศก่อนเข้าเครื่องมีค่าอยู่ในระดับ 48-52 ในขณะที่ อากาศที่กรองแล้ว มีค่าอยู่ในระดับ 1-5 (คาดว่า มีหน่วยเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากเครื่องวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5)

การรายงานผลการทดสอบแบบนี้ นอกจากจะไม่มีประโยชน์เท่าไหร่แล้ว ยังแสดงถึงความไม่เข้าใจในเรื่องการวัดประสิทธิภาพของเครื่องกรองอากาศเป็นอย่างยิ่ง

เปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ถ้ามีคนอ้างว่า ตู้เย็นตู้หนึ่ง สามารถทำให้ทั้งสนามฟุตบอลเย็นได้ โดยการเอาเทอร์โมมิเตอร์ไปวัดอุณหภูมิที่หน้าประตูตู้เย็นที่เปิดอยู่ ก็จะเห็นว่าวัดค่าอุณหภูมิได้ต่ำอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ทำให้อากาศทั้งสนามเย็นลงแต่อย่างไร

ประชาชนรับมือฝุ่นพิษ-ฝุ่น-หน้ากาก-ก่อสร้าง

5. ที่ ขสมก.สรุปคำชี้แจงว่า การทดลองนี้ เป็นความพยายามในการแก้ปัญหาเร่งด่วน โดยกระทรวงคมนาคม และ คณะทำงานจากหลายหน่วยงาน ซึ่งหากได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จะดำเนินการขออนุญาตต่อไปกรมการขนส่งทางบก ในฐานะที่ตนเป็นนักวิชาการ และเป็นประชาชนคนนึง ที่เสียภาษีให้กับรัฐบาลนำไปใช้ในการบริหารประเทศ จึงอยากขอร้องให้นักวิชาการท่านอื่นๆ ที่อยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการทดลองนี้ ให้มีความกล้าหาญทางวิชาการ ที่จะใช้ความรู้ที่ท่านมี ให้ข้อเท็จจริงกับ รมต.กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นเจ้าของแนวคิด อย่างตรงไปตรงมา ว่าจริงๆ แล้ว มันไม่ได้มีประสิทธิภาพ ไม่ได้มีความเหมาะสม ในการนำไปใช้การแต่อย่างไร