ไม่พบผลการค้นหา
กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือนเกิดพายุฤดูร้อนในภาคเหนือ, อีสาน, กลาง และภาคตะวันออก เป็นวันสุดท้าย ขอประชาชนระมัดระวังอันตราย ด้าน ปภ.เผย มี 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนนี้ เร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ เรื่อง "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 6 พ.ค. 2562) " ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 6 พ.ค. 2562 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้าย ว่า ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นต่อไปอีก 1 วัน โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรง บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือ จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย 

โดยมีผลกระทบตามภาคต่าง ๆ มีดังนี้ 

ในช่วงวันที่ 6 พ.ค. 2562

ภาคเหนือ: จังหวัดน่าน แพร่ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ ขอนแก่น และนครราชสีมา 

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี และราชบุรี 

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงที่แผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ประกอบกับลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นต่อไปอีก 1 วัน 


ปภ. เผยพายุฤดูร้อนกระทบ 6 จังหวัด

โดยวานนี้ (5 พ.ค.) นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.ถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และศรีสะเกษ รวม 11 อำเภอ 20 ตำบล 48 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 339 หลัง ปภ.ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นโดยแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค กระเบื้องมุงหลังคาและวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัยรวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ

ส่วนการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนนั้น จะเป็นในรูปของวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลืออยู่ที่ตามความเหมาะสม