การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มราษฏรในไทย ได้รับเสียงชื่นชมจากบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยในอินโดนีเซีย ซึ่งเคลื่อนไหวต่อต้านร่างกฎหมายสร้างงานฉบับใหม่ หรือ Job Creation Bill ที่พวกเขามองว่าเอื้อผลประโยชนให้กับนายทุน โดยระบุถึงการเดินขบวนประท้วงของกลุ่มราษฎรว่าเป็นระเบียบ เป็นการชุมนุมอย่างสันติและสร้างสรรค์ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ไทยจะมีการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมต่างเรียนรู้และปรับกลยุทธ์ในการรับมือ
ยาซิด ไซนาอิดิน ซาปูตรา นักศึกษาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงจาการ์ตา วัย 21 ปี กล่าวเคารพและชื่นชมผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรว่า "ฉันรู้สึกเคารพเยาวชนไทยมาก เพราะการต่อสู้ของพวกเขายากกว่าที่เราสู้ในอินโดนีเซีย การชุมนุมในไทยได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเรา แต่สถานการณ์ในอินโดนีเซียต่างออกไป ที่อินโดนีเซียมีผู้ประท้วงจำนวนมากที่กระจัดกระจาย เราต้องปรับกลยุทธ์ของผู้ชุมนุมไทยในแบบของเรา เพื่อจัดระเบียบการประท้วงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ... สิ่งที่เราเรียนรู้จากการชุมนุมในไทยคือการเป็นตัวแทน ส่งเสียงเรียกร้องของประชาชนไปยังรัฐบาล สิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว"
สำหรับการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย มีขึ้นเพื่อผลักดันให้ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ยกเลิกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานมากว่า 70 ฉบับ ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นกฎหมายที่เอื้อผลประโยชน์ต่อนายทุน ริดรอนสิทธิและรายได้ของแรงงานและคนพื้นเมือง ส่งผลให้บรรดาสามาชิกองค์กรภาคแรงงาน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนจำนวนมาก ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนในกรุงจาการ์ตาเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา
ด้านเอ็ดเวิร์ด เอสปินเนลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย มองปรากฎการณ์เคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในไทยและอินโดนีเซียว่า มีความคล้ายคลึงกัน และเปิดโอกาสให้ทั้งสองเรียนรู้ซึ่งกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโค้นล้มเผด็จการซูอาร์โต ซึ่งครองอำนาจอินโดนีเซียมายาวนานถึง 30 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2541
ที่มา : SCMP