สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า เท่าที่ฟังการอภิปรายของ ส.ว. ประชาชนเกิดความวิตก เขาหมดหวัง คิดว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกแน่ทั้ง 6 ฉบับ ดังนั้น เวลาที่เหลืออยู่ อยากให้ไขข้อข้องใจทำทุกวิถีทางให้ ส.ว.เข้าใจเจตนารมณ์ และสรุปคำถามทั้งหมด
คำถามแรก แก้ไขทำไม มีเหตุผลอะไร? ขอตอบว่า การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาประชาชน แก้เศรษฐกิจให้พี่น้องอยู่ดีกินดี เพราะการเมืองตอนนี้ไม่เป็นเครื่องมือให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้
คำถามที่สอง ไม่ใช่ความต้องการของประชาชนหรือเปล่า ส.ส.ทำเองเพื่อประโยชน์ของตัวเอง? ขอตอบว่า เป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ สะท้อนมาจากประชาชนที่เลือกพวกตนขึ้นมา สัญญาณและจิตสำนึกของพวกตนไม่มีอะไรที่จะทำนอกเหนือประชาชน ถ้าแก้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง กลับไปประชาชนจะสั่งสอนเอง อะไรที่ฝืนประชาชนไม่มีใครทำ ยืนยันจากการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา หลายพรรคชูประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ
ขณะที่นายกรัฐมนตรีที่ไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญ ยังบรรจุการแก้รัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายเร่งด่วนข้อ 12 ขณะเดียวกันยังมีคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญจากทุกฝ่าย และทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาลและนักวิชการที่แยกย้ายกันทำงานในอนุกรรมาธิการ ก็เห็นตรงกันว่าประชาชนต้องการแก้ ถ้าไม่ชัดก็ไปฟังผู้ชุมนุม และถ้ายังไม่ชัดว่าเป็นของประชาชนหรือไม่ก็ให้ไปดูร่างของประชาชนที่รวมมาเป็นแสนชื่อ และสอดคล้องกับร่างรัฐบาลและฝ่ายค้าน และถ้าขนาดนี้ยังไม่เชื่อว่าเป็นความต้องการของประชาชน ก็ให้ออกไปดูม็อบหน้าสภา
คำถามที่สาม การแก้รัฐธรรมนูญเกี่ยวอะไรกับปากท้องประชาชน เหมือนรัฐธรรมนูญไม่มีคุณค่า? ตอบว่า วันนี้ที่ประชาชนลำบากจะเป็นจะตายไม่มีกิน 70% ของเงินในประเทศมันถูกขับเคลื่อนและมาจากต่างประเทศ อีก 30% เป็นการลงทุนจากต่างประเทศภายในประเทศ เราจำเป็นต้องหวังพึ่งเงินจากต่างประเทศ ต่างชาติจะลงทุนมาเที่ยวหรือคบค้ากับประเทศที่มีระบบการปกครองเป็นสากล มีการะบบการเลือกที่เข้มแข็ง มีระบบกฎหมายเป็นมาตรฐาน มีระบบบริหารที่ดี เขาก็จะดูจากรัฐธรรมนูญเป็นอย่างแรก แล้วถ้าประเทศโปร่งใสตรวจสอบได้ถ่วงดุลได้เขาก็จะมาลงทุน
แต่พอยึดอำนาจปี 2557 จะเห็นว่า 70% จากต่างประเทศหายไป ยุโรปไม่คบค้าด้วย การยึดอำนาจคือปฐมเหตุ และหลังจากนั้นก็ดูว่าการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ต่างชาติตกใจ เห็นเลยว่าอีกไม่นานความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นอีก แล้วใครจะหอบเงินเข้ามา แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ทันทีที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีการขยับเลือกตั้งกี่รอบ เลือกตั้งแล้วก็นานกว่าจะประกาศ การนับคะแนนบัญชีรายชื่อก็มีปัญหาบัตรเขย่ง องค์กรระดับโลกที่ติดตามการเลือกตั้ง ก็ประกาศว่าการเลือกตั้งไม่เป็นสากลและเลือกตั้งแล้ว
พรรคการเมืองก็ได้คะแนนเสียงเบี้ยหัวแตกกว่าจะแถลงนโยบายก็ช้า งบประมาณปี 2563 ล่าช้ากว่ากำหนดครึ่งปี นักลุงทุนก็มองว่าเกิดปัญหา ทุกคนหนีไม่มาลงทุน ความหวังเดียวที่จะช่วยเรื่องปากท้องชาวบ้าน แต่กลับล่าช้าเพราะรัฐธรรมนูญทำให้ล่าช้า การเมืองไม่มีเสถียรภาพ ทีมเศรษฐกิจหอบหิ้วกันหนี มันเป็นความอ่อนแอจากรัฐธรรมนูญ
แล้วรัฐบาลจะตั้งความหวังใหญ่เอางบประมาณไปทำ EEC แต่จนวันนี้ 6 ปี EEC ร้าง ไม่มีคนมาลงทุน ยิ่งจนยิ่งลงทุน ยิ่งขาดทุนยิ่งหนัก เม็ดเงินลงทุนวันนี้ไม่มี ดังนั้นวันนี้ต้องทำให้คนในโลกกลับมาเชื่อมั่นโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นสากล บางคนบอกแก้ให้เป็นไทย ก็ได้ แต่ต้องให้การเมืองเดินได้มั่นคงและแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ดังนั้นวันนี้เป็นแก้รัฐธรรมนูญเพื่อแก้เศรษฐกิจให้การลงทุนกลับมา
คำถามที่สี่ เปลืองงบประมาณ? ตอบว่า วันนี้รัฐบาลกู้เงินมาเยอะแต่ไม่มีวิธีใช้เงิน แจกแบบไม่มีผลผลิต หาวิธีอัดฉีดเงินที่มีประสิทธิภาพไม่เจอ เช่น โครงการเอา อสม. ไปเที่ยว แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ จัดเลือกตั้ง จัดประชามติเห็นการกระจายงบประมาณทุกรูขุมขน กระจายทุกหมู่บ้านคนทำโปสเตอร์ก็ได้ รถสองแถวก็ได้ ข้าราชการก็ได้ เงินจะกระจายอย่างมีระบบทั่วถึง ทำสามรอบก็กระตุ้นสามรอบ ตอนนี้รัฐบาลอยากรอให้หยุดยาวเงินจะได้กระจาย แต่ถ้าทำประชามติไม่ต้องรอวันหยุดแล้วเงินจะหมุนในระบบเกิดความคุ้มค่า เนื่องจากได้กติกาที่ดีและเงินก็ได้
คำถามที่ห้า จะไปล้มประชามติ 16 ล้านเสียงทำไม? ตอบคือ วันนั้นไม่มีที่ไหนเลือกตั้งภายใต้กฎอัยการศึก ขัดหลักเลือกตั้งแล้วใครจะยอมรับ แต่วันนี้ใช่ว่าเราจะปฏิเสธ 16 ล้านเสียง แต่เมื่อแก้แล้วการทำประชามติสามารถย้ำอีกทีได้ ถ้าคนยืนยันว่าไม่รับก็กลับไปใช้ฉบับเดิม ไม่ใช่ข้ามหัว แต่เป็นการกลับไปเช็คซ้ำไปคารวะเขาอีกรอบ ถ้าเขาเอาแบบเดิมก็จบ
คำถามที่หก ฝ่ายค้านเสนอ 2 แบบทำไม คือทั้งร่างเป็นการตีเช็คเปล่าหรือไม่ และทำไมต้องยื่นรายมาตราอีก? ตอบ ประเทศไทยแก้รัฐธรรมนูญเยอะที่สุดในโลก เพราะไม่ยอมรับกันเพราะฝ่ายโน้นฝ่ายนี้เถียงกัน แต่ถ้าจะให้ยอมรับที่สุดก็ให้ประชาชนมาเขียน และที่ฉบับนี้คนไม่ยอมรับก็เพราะ คสช.เขียนเอง แต่ร่างของฝ่ายค้านให้ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาเป็น สสร. 200 คนเขียนให้หมด และการยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 เพื่อป้องกันการที่คนวิจารณ์ว่าจะแก้ทั้งฉบับเพื่อล้มล้าง ฝ่ายค้านยกเว้นไว้ให้แล้ว แต่ถ้าใครอยากแก้ก็ไปชั้นแปรญัตติ
ส่วนที่กลัวว่าถ้าแก้แล้วกลัวตัดเรื่องคอร์รัปชันออก จะรู้ได้ยังไงเพราะยังไม่รู้เลยว่า สสร. เป็นใคร จะไปกลัวได้ยังไงว่าจะมาตัดอำนาจ ส.ว.หรือของดีๆจะหาย จะไปรู้ได้อย่างไร ต้องให้ประชาชนเขียน เราต้องถอยออกมาและยอมรับเขา ส่วนการยื่นอีก 4 ญัตติ เพราะว่าหลายคนบอกแก้ทั้งฉบับไม่เอา ก็มีทางเลือกให้ 4 ญัตติเลือกเอา แล้วตอนนี้คือมีให้เลือกแบบทั้งฉบับและรายมาตราให้เลือกแล้วทุกอย่าง ถ้าบอกว่าไม่เอาแล้วจะเอาอะไรอีก หรือจะไม่เอาไม่แก้อะไรเลย อย่างไรก็ตามแม้ได้ สสร.แล้ว ความขัดแย้งจะลดลงไป แต่ความขัดแย้งจะปะทุขึ้นมาอีก หากเกิดยุบสภาลาออกกติกาเดิม เลือกตั้งแบบเดิม ส.ว.เหมือนเดิม ก็เลยเขียนไว้เฉพาะหน้าเพื่อป้องกันความขัดแย้ง
โดยมาตรา 272 ลดอำนาจ ส.ว.และระบบเลือกตั้ง คราวนี้ ส.ว.จะอยู่กี่ปีก็อยู่ไป คนจะสบายใจ รัฐบาลก็จะขอบคุณ ถ้ามีการเลือกตั้งแบบใหม่จะยุบสภาก็ได้ ประชาชนก็จะไม่ว่า นี่คือทางออกของประเทศ และให้สภาเป็นหลักพึ่งพิงของประเทศ หายากที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลจะเห็นตรงกัน เหลืออยู่เพียงฝ่ายเดียว คือ ส.ว.สุดท้ายเหลือตัวนายกรัฐมนตรี ตนเชื่อว่าผ่านหรือไม่อยู่ที่ตัวรัฐบาล ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลสั่ง ส.ว.ได้ แต่ถ้ารัฐบาลจะเอาอย่างไร ส.ว. ไม่ขัด บทสรุปวันนี้จะพิสูจน์ว่าท่านจริงใจหรือไม่ ประชาชนรู้
ต่อมาเวลา 11.35 น. ปดิพัทธ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ขอสนับสนุนให้แก้ไขมาตรา 91 ,92 ,93 ,94 และยกเลิก 101(4), 105 วรรคสาม จากการเลือกตั้งเมื่อ มี.ค. 2562 ทำให้พัฒนาการทางการเมืองของประเทศถดถอย กลายเป็นประชาธิปไตยสลึงเดียว ทุกพรรคทราบดีว่าปัญหาของรัฐธรรมนูญคืออะไร บางคนยังงงคะแนนไม่ถึงแต่นั่งสภานี้เป็นปี การเลือกตั้งมีกระบวนการที่ไม่แน่นอน แต่ผลลัพทธ์แน่นอน กกต.ใช้เวลากว่าสามเดือนถึงจะรับรองการเลือกตั้งได้ ไม่มีใครรับผิดชอบในความผิดพลาดทั้งกรณีบัตรเขย่ง บัตรล่าช้า บัตรเสีย หลายเรื่องกกต.ตอบไมได้ เลือกตั้งเหมือนอยู่ในยุคโบราณ ประชาชนไม่มีหูไม่มีตา ไม่ต้องมีความรับผิดชอบหรือเรียกร้องอะไรได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ให้อำนาจประชาชนร้องเรียนองค์กรอิสระ กกต.จัดการเลือกตั้งแต่ไม่ส่งเสริมการเลือกตั้ง การเปิดเผยคะแนนผ่านออนไลน์ที่เป็นเรื่องง่ายก็ยังไม่ทำ และพรรคการเมืองทุกพรรคอ่อนแอ
ปดิพัทธ กล่าวอีกว่า ระบอบเผด็จการรู้ว่าเลือกตั้งอย่างไรก็ไม่ชนะ ชนะด้วยกติกาปกติไม่ได้ จึงเกิดระบบการเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม บิดเบือน เอาเปรียบ จนพรรคเผด็จการชนะ ผลลัพท์ที่เกิดขึ้น ไม่ต่างอะไรจากที่คสช.ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ นายทุนสูบกินภาษีประชาชน ความชัดแย้งก่อนและหลังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ถ้ายังไม่แก้ระบบเลือกตั้งและหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ ขอให้ทุกคนควรมีความยุติธรรมอยู่ในใจว่าเราควรกลับมาแข่งกันในระบอบปกติ
'จิราพร' อภิปรายย้ำ ต้องผ่านร่างแก้ไข รธน.
จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยชี้ว่าการทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกจำกัดการแสดงออก มีการจับกุมคุมขังผู้เห็นต่าง ไม่เป็นไปตามหลักการสากล และไม่ควรนำมาผูกมัดว่ารัฐธรรมนูญจะไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ต้องสามารถปรับตามความเปลี่ยนแปลงในอนาคต แม้เนื้อในของรัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีช่องทางให้แก้ไข แต่ขั้นตอนสลับซับซ้อน ยากแก่การแก้ไขจริง ขณะที่ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเล็งเห็นว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหากว่าร้อยมาตรา ที่จำเป็นต้องแก้ไข
จิราพร ย้ำว่า รัฐธรรมนูญกลายเป็นต้นเหตุความขัดแย้งในสังคม ล้าหลัง ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงวิกฤติเศรษบกิตจ วิกฤตโรคระบาด เพราะรัฐธรรมนูญเป็นตัวกำหนดผู้ที่เข้าสู่อำนาจรัฐ ว่าจะใช้อำนาจรัฐเพื่อประชาชนหรือเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงแค่ ส.ส. และ ส.ว.เห็นชอบทั้ง 6 ญัตติ ก็จะนำไปสู่การเปิดประตูแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เคยถูกครหาว่าเป็นฉบับตอกฝาโลงประชาธิปไตย
ส่วนที่สมาชิกบางคนบอกสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน จิราพร อภิปรายว่า ถ้าเทียบการได้ผู้นำที่ประชาชนไม่ได้เลือก และบริหารเศรษฐกิจพังพินาศ หากแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วทำให้คนไทยหลุดพ้นโครงสร้างและผู้นำแบบนี้ ก็ถือว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม
จิราพร อภิปรายสรุปตอนท้าย ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ต่อรัฐสภา และล่าสุดวันที่ 4 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ให้ฟังข้อสรุปคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีข้อสรุปว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหาต้องแก้ไข สอดคล้องกับข้อเรียกร้องนักเรียน นิสิต นักศึกษา ดังนั้นหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงมติ สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดจะเป็นเพียงวาทกรรมซื้อเวลา หลอกประชาชน และพล.อ.ประยุทธ์เองจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ