“มาติอุลเลาะห์ เวซา หัวหน้าโครงการเส้นทางปากกา (Pen Path) และผู้สนับสนุนการศึกษาของเด็กผู้หญิงในอัฟกานิสถาน ถูกทางการตาลีบันจับกุมตัวในกรุงคาบูลเมื่อวันจันทร์ (27 มี.ค.)” หน่วยงานภารกิจของสหประชาชาติในอัฟกานิสถานทวีตข้อความเมื่อวันอังคาร (28 มี.ค.)
ทั้งนี้ พี่ชายของมาติอุลเลาะห์ยืนยันการจับกุมตัวในครั้งนี้ โดยเขาบอกว่าเวซาถูกจับตัวที่ด้านนอกมัสยิดหลังจากการทำละหมาดในเย็นวันจันทร์ “มาติอุลเลาะห์เสร็จสิ้นการละหมาดและออกมาจากมัสยิด เมื่อชายบางคนจอดรถขวางเขาในรถ 2 คัน” ซามิอุลเลาะห์ เวซา ระบุกับสำนักข่าว AFP “เมื่อมาติอุลเลาะห์ขอบัตรประจำตัว พวกเขาทุบตีเขาและพาตัวเขาไป”
เส้นทางปากกา ซึ่งเป็นองค์กรที่มาติอุลเลาะห์ก่อตั้งขึ้น เพื่อการรณรงค์การสอนหนังสือ และแจกจ่ายหนังสือในพื้นที่ชนบท ได้อุทิศตัวเพื่อสื่อสารถึงความสำคัญของการศึกษาของเด็กผู้หญิง ให้กับผู้สูงวัยในหมู่บ้านมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการสั่งห้ามเด็กผู้หญิงไปเรียนในโรงเรียนมัธยม มาติอุลเลาะห์ยังคงไปเยี่ยมพื้นที่ห่างไกลอย่างต่อเนื่อง เพื่อระดมการสนับสนุนจากคนในท้องถิ่น ต่อประเด็นสิทธิการศึกษาของเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง
“เรากำลังนับชั่วโมง นาที และวินาทีในการเปิดโรงเรียนหญิงล้วน ความเสียหายที่เกิดจากการปิดโรงเรียนนั้นไม่สามารถย้อนกลับได้และไม่อาจปฏิเสธได้” มาติอุลเลาะห์ทวีตข้อความเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในขณะที่ปีการศึกษาใหม่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นในอัฟกานิสถาน “เราจัดการประชุมกับชาวบ้าน และเราจะประท้วงต่อไปหากโรงเรียนยังคงปิด”
กลุ่มตาลีบันบังคับใช้การตีความศาสนาอิสลามอย่างเข้มงวด นับตั้งแต่ยึดกรุงคาบูล และกลับคืนสู่อำนาจในเดือน ส.ค. 2564 หลังจากการถอนกองกำลังของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรตะวันตก ที่สนับสนุนรัฐบาลอัฟกานิสถานชุดก่อนๆ ทั้งนี้ ผู้นำตาลีบันซึ่งสั่งห้ามผู้หญิงเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย อ้างซ้ำๆ ว่าพวกเขาจะเปิดโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงอีกครั้ง เมื่อมีการผ่านเงื่อนไขบางประการ ทั้งนี้ ตาลีบันอ้างว่าพวกเขาขาดเงินทุนและเวลา ในการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ตามแนวทางของศาสนาอิสลาม
ตาลีบันเคยบังคับใช้การห้ามผู้หญิงเข้าเรียนในสถานศึกษา ในช่วงแรกที่พวกเขาเข้ามามีอำนาจในอัฟกานิสถาน นับตั้งแต่ปี 2539 ถึง 2544 อย่างไรก็ดี ไม่เคยมีการเปิดโรงเรียนหญิงล้วนในอัฟกานิสถานเลยภายในระยะเวลา 5 ปีนั้น ทั้งนี้ มีความเชื่อว่าคำสั่งต่อต้านการศึกษาของเด็กผู้หญิงนั้น เกิดขึ้นจากการสั่งการของผู้นำสูงสุดตาลีบันอย่าง ฮิบาตุลเลาะห์ อัคฮุนด์ซาดา และผู้ช่วยหัวโบราณสุดโต่งของเขา ซึ่งไม่เชื่อเรื่องการศึกษาสมัยใหม่อย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้หญิง
นอกจากคำสั่งการห้ามเข้าโรงเรียนต่อผู้หญิงจะก่อให้เกิดความขุ่นเคืองระหว่างประเทศแล้ว คำสั่งของตาลีบันดังกล่าวยังก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภายในขบวนการดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนในรัฐบาลของตาลีบัน ตลอดจนสมาชิกระดับดำเนินการหลายคนต่างไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจดังกล่าว
ในจำนวนประชากรอัฟกานิสถานหัวโบราณและอนุรักษ์นิยมอย่างสุดโต่ง ทัศนคติต่อการศึกษาของเด็กผู้หญิงในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ในพื้นที่ชนบท ซึ่งข้อดีของการศึกษาต่างๆ เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นจากเดิม
ที่มา: