ไม่พบผลการค้นหา
แม้เราจะอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่หัวใจสำคัญคือ การเลือกตั้ง มา 91 ปี แต่มีรัฐประหารหลายหน การเลือกตั้งก็ลุ่มๆ ดอนๆ ได้เลือกตั้งจริงๆ จังๆ ไม่จิงโจ้กันไม่กี่ครั้ง

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.2566 ก็ยังมีข้อให้ห่วงกังวล เนื่องจากการใช้บัตร 2 ใบ 'คนละเบอร์' ซึ่งจะทำให้ประชาชนสับสนได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่ออยากจะเลือก ส.ส.เขตจากพรรค A และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หรือบัญชีรายชื่อก็จะเลือกพรรค A เช่นกัน เพราะจะต้องจำเบอร์ที่ต่างกันแม้จะเป็นพรรคเดียวกัน นี่ไม่เหมือนการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ

ถ้าย้อนไปที่จุดเริ่มต้น เราเริ่มใช้ระบบบัตร 2 ใบแบ่งเป็น ส.ส.เขตใบหนึ่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ใบหนึ่ง จากรัฐธรรมนูญ 2540 โดยพรรคการเมืองมักชูแคมเปญ 'เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ใช่' 'ใบหนึ่งเลือกพรรค ใบหนึ่งเลือกคน' ทำให้ประชาชนมีทางเลือกที่จะได้เลือก ส.ส.บ้านตัวเองกับเลือกนโยบายพรรค โดยจะเลือกเหมือนหรือต่างพรรคกันก็ได้

การเลือกตั้งครั้งแรกหลังใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เกิดขึ้นในปี 2544 ใช้บัตร 2 ใบ โดยแต่ละพรรคจะได้ 'เบอร์เดียวกัน' หมายความว่า ถ้าพรรคหรือ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้เบอร์ไหน ส.ส.เขตของพรรคนั้นไม่ว่าจะลงเขตไหนทั้งประเทศก็จะได้เบอร์เดียวกับพรรค ทำให้ประชาชนจดจำได้ง่าย

ต่อมาปี 2548 บัตร 2 ใบก็ยังเป็น 'เบอร์เดียวกัน' จากนั้นเกิดรัฐประหาร 2549 มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตเลือกตั้ง ยังคงใช้บัตร 2 ใบ แต่ครั้งนี้ใช้ 'คนละเบอร์' กระทั่งในสมัยของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการปรับแก้การแบ่งเขตเลือกตั้งอีกหนให้ย้อนกลับไปใช้บัตร 2 ใบ 'เบอร์เดียวกัน' ทำให้การเลือกตั้งปี 2544 ได้ใช้บัตร 2 ใบ 'เบอรเดียวกัน' ต่อมาเกิดรัฐประหารปี 2557 เปลี่ยนระบบเลือกตั้งครั้งใหญ่ และใช้ 'บัตรใบเดียว' แต่ยังคงมีทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นระบบที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ในรัฐบาลประยุทธ์2 สภาได้มีการโหวตแก้ไขให้ระบบการเลือกตั้งกลับไปใช้บัตร 2 ใบใกล้เคียงกับระบบในรัฐธรรมนูญปี 2540 (แตกต่างในรายละเอียดเล็กน้อย) แต่คราวนี้เนื่องด้วยแก้ไขรัฐธรรมนูญกันไม่สะเด็ดน้ำ ทำให้แม้พรรคการเมืองส่วนใหญ่เห็นว่าบัตร 2 ใบ 'เบอร์เดียวกัน' จะสะดวกต่อประชาชนที่สุด หาเสียงก็ง่ายชัดเจน แต่ก็ไม่กล้าโหวตในชั้นกรรมาธิการเนื่องจากกลัวจะขัดรัฐธรรมนูญ ผลลัพธ์จึงออกมาครึ่งๆ กลางๆ ได้บัตร 2 ใบ แต่ 'คนละเบอร์' เหมือนการเลือกตั้งปี 2550

บทเรียน บัตรสองใบคนละเบอร์

ส.ส.หลายคนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยและห่วงกังวล ที่บัตรเลือกตั้ง 2 ใบคนละเบอร์

หนึ่งในนั้นคือ สุขุมพงศ์ โง่นคำ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทยซึ่งเคยให้ความเห็นไว้ว่า

"ผลเสียของการเลือกตั้งบัตร 2 ใบ คนละเบอร์ เคยเกิดขึ้นแล้วในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2550 ซึ่งใช้คนละเบอร์ครั้งเดียวในประเทศไทย ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ด้วยการกำหนด ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน แบบบัญชีรายชื่อซึ่งขณะนั้นเรียกว่า 'ระบบสัดส่วน' อีก 80 คน อีกทั้งในเขตใหญ่ยังกำหนดให้ประชาชนต้องเลือก ส.ส. มากถึง 3 คน เท่ากับต้องจดจำหมายเลขที่แตกต่างกันมากขึ้น เป็นเหตุให้เกิดความยากลำบากในการหาเสียง เนื่องจากผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ไม่สามารถช่วยหาเสียงให้ ส.ส.แบบระบบสัดส่วนได้ เพราะใช้เบอร์ต่างกัน ยากต่อการจดจำ อีกทั้งเบอร์ของระบบสัดส่วนก็ยังมีโอกาสซ้ำกับเบอร์ของพรรคการเมืองอื่น

แม้ในที่สุดพรรคพลังประชาชนจะชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้น และได้จำนวน ส.ส.ในสภามากเป็นอันดับ 1 แต่เมื่อพิจารณาผลการเลือกตั้งแบบสัดส่วน จะเห็นว่าใกล้เคียงสูสีกับพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างมาก (พลังประชาชน 41.08% ประชาธิปัตย์ 40.45%) เพราะประชาชนสับสนว่าใช้เบอร์เดียวกันในบัตรทั้งสองใบ จนนำมาสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในปี 2552 ซึ่งมีเสียงเป็นเอกฉันท์เห็นว่าควรกลับไปใช้ระบบบัตรเบอร์เดียว เพราะทุกฝ่ายล้วนเห็นว่าระบบเลือกตั้งแบบหลายเบอร์นั้นเป็นปัญหา"

เมื่อเปิดดูข้อมูลจาก กกต. ก็จะพบว่า ในปี 2550 แม้ ส.ส.เขต พรรคอันดับ 1 จะห่างจากพรรคอันดับ 2 มากอยู่ แต่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์กลับได้เกือบเท่ากัน หากเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ หรือปีหลังจากนั้น ที่ใช้บัตร 2 ใบแบบ 'เบอร์เดียวกัน' คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคอันดับ 1 กับอันดับ 2 จะห่างกันหลักหลายล้าน

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ข้อกังวลของสุขุมพงศ์อาจเป็นจริง ที่น่าสนใจคือ มันจะส่งผลต่อพรรคอื่นๆ ด้วยหรือไม่ มากแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ประชาชนเตรียมจำเบอร์ให้แม่น เพราะส.ส.เขตจะเป็นเบอร์นึง ส่วนบัญชีรายชื่อจะเป็นอีกเบอร์นึง แม้เป็นพรรคเดียวกันก็ตาม