ไม่พบผลการค้นหา
รมว.สธ.แจงยิบขอสภาพัฒน์เข้าใจ จ่ายเงินตอบแทน อสม.กว่า 1 ล้านคน เดือนละ 500 นาน 19 เดือน งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อตอบแทนการเสียสละช่วยรัฐควบคุมโควิด-19 ย้ำพร้อมปรับลดงบส่วนอื่นให้อยู่ในกรอบวงเงินกู้ 4.5 หมื่นล้านในส่วนของ สธ.

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวถึงกรณีที่ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ชี้แจงเหตุที่ต้องตัดงบประมาณตอบแทน อสม.จาก 19 เดือน เหลือ 7 เดือนเพราะกระทรวงสาธารณสุขเสนอโครงการต่างๆ ที่จะใช้เงินกู้ รวมแล้วเป็นเงิน 51,000 ล้านบาท เกินวงเงิน 45,000 ล้านบาท นั้น ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุข เสนอโครงการขอใช้เงินกู้ จำนวน 43,900 ล้านบาท ส่วนที่เกินมานั้น เป็นโครงการที่หน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงอุดมศึกษาฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ มหาวิทยาลัยต่างๆ เสนอ อีกประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งสภาพัฒน์ให้นำมารวมกับกระทรวงสาธารณสุข และให้กระทรวงสาธารณสุขเสนอเป็นก้อนเดียวกัน จึงทำให้งบที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข เกิน 45,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข มีวงเงิน ไม่เกิน 45,000 ล้านบาท

รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่าในชั้นกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ของสภาพัฒน์ ได้แจ้งให้กระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน และเรียงลำดับความสำคัญของโครงการที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอขอใช้เงินกู้ให้สภาพัฒน์พิจารณา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันไปว่า โครงการจัดสรรค่าตอบแทนแก่ อสม.มีความสำคัญ เป็นลำดับที่ 1 และให้จัดสรรงบเต็มจำนวนตามที่เสนอขอใช้เงินกู้ คือ 10,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการทำงานของอสม. 1,050,000 คน ให้ควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นหากสภาพัฒน์ พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นต้องตัด หรือ ลดงบประมาณ การใช้เงินกู้ในโครงการอื่นๆ ก็สามารถทำได้ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมพิจารณาปรับปรุงโครงการ อื่น ๆ และนำเสนอให้สภาพัฒน์พิจารณาอีกครั้ง แต่ขอให้คงงบค่าตอบแทนอสม.ไว้ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

"ทุกโครงการที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอให้สภาพัฒน์พิจารณา อยู่ในกรอบวงเงิน 45,000 ล้านบาท แต่หากสภาพัฒน์ ต้องการให้ปรับลด ปรับปรุง ก็ให้แจ้งมาแต่ควรจะให้คนทำงานได้มีโอกาสชี้แจงการทำงานจริง ให้คณะกรรมการทราบด้วยและกระทรวงสาธารณสุข ขอยืนยันว่าการเสนอขอใช้เงิน 43,000 ล้านบาท ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก.เป็นการเสนอของคณะแพทย์ ที่มีการพิจารณากลั่นกรองมาแล้วอย่างมีเหตุผล เป็นไปตามหลักวิชาการสาธารณสุข การแพทย์ การควบคุมโรค ทุกประการ ไม่ใช่โครงการที่นำเสนอเกินจำเป็น" 

ส่วนที่มีการให้เหตุผลว่า ต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ทั้ง อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บุคลากรทางการแพทย์ และ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่งได้รับค่าตอบแทนพิเศษ ถึงเดือนก.ย.2563 เช่นเดียวกันนั้น

นายอนุทิน กล่าวว่า อสม.มีสถานะต่างจากบุคลากร และเจ้าหน้าที่ทุกกลุ่มที่นำมาอ้างถึงและเทียบเคียงกัน อีกทั้งการทำงานของ อสม.ก็แตกต่างจากบุคลากรทางการแพทย์ อสม.ไม่มีเงินเดือน ไม่มีเบี้ยเลี้ยง ไม่มีสวัสดิการ ได้รับเพียงค่าป่วยการในการทำงาน เมื่อมีการระบาดของโรคโควิด-19 อสม.ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงภัยมากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น จากการเฝ้าระวังทุกบ้าน ทุกครัวเรือน

กระทรวงสาธารณสุข จึงเสนอขอให้รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำงานแก่ อสม.คนละ 500 บาทต่อเดือน เท่านั้น ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่มาก และเหมาะสมกับการทำงานที่เพิ่มขึ้น หากรัฐบาลเข้าใจการทำงานของอสม.เชื่อว่าจะไม่ปฏิเสธ และต้องสนับสนุน เพราะอสม.ทุกคนกำลังทำงานให้รัฐบาล และสร้างความเชื่อถือ ศรัทธา ให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีระบบควบคุมโรคโควิด-19 ดีที่สุด ในสายตาคนทั้งโลก

"อสม.มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ เพิ่มขึ้น ตามที่รัฐบาลมอบหมาย จึงควรแยกพิจารณา อสม.เป็นกรณีพิเศษ"

สำหรับความเสี่ยงที่จะมีการระบาดรอบที่ 2 จะมากหรือน้อย ซึ่งสภาพัฒน์ นำมาเป็นเหตุผลพิจารณาค่าตอบแทนแก่อสม. นั้น รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า อสม.ทำงานในส่วนของการเฝ้าระวัง ส่งเสริม ป้องกัน ควบคุมการระบาด เป็นผู้ที่เข้าถึงประชาชนมากที่สุด จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะต้องได้รับการสนับสนุนเป็นลำดับแรก และหาก อสม.ทำงานได้เต็มที่ ก็มีโอกาสที่จะลดความเสี่ยงที่จะมีการระบาดรอบที่ 2 ได้มาก

อีกทั้งการเสนอให้รัฐบาลจ่ายค่าตอบแทนแก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เดือนละ 500 บาท เป็นเวลา 19 เดือน ตั้งแต่ มี.ค. 2563 - ก.ย. 2564 เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานแก่อสม.ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เฝ้าระวัง ส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19 ว่าเรื่องนี้ รัฐบาลควรจะให้การสนับสนุน และให้กำลังใจแก่อสม. ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ได้ผลดีเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับจากประชาชนทั่วไป และได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติ และองค์การอนามัยโลก

"บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ทุกคนคือด่านหน้าที่ทุ่มเท ต่อสู้ ป้องกันโรคโควิด-19 ผมจะสนับสนุนในทุกส่วนที่ทำได้ หากต้องตัดหรือปรับลดงบประมาณของ สธ. ในด้านอื่นที่อยู่ในลำดับท้ายๆ ก็จะทำ ผมยืนยันว่าข้อเสนอการเพิ่มค่าตอบแทนพี่น้องอสม. จนถึง ก.ย. 2564 คือความสำคัญอันดับต้นๆ เป็นสิ่งที่ต้องทำ ชาวสาธารณสุขและ อสม.ยังต้องทำงานเชิงรุก เพื่อไม่ให้โควิด-19 กลับมาได้อีก ซึ่งค่าตอบแทนคือขวัญกำลังใจ ที่เทียบไม่ได้กับความเสียสละของพวกเขา และเป็นโครงการที่อยู่ในกรอบของกฎหมาย อีกทั้งเป็นข้อเสนอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนใหญ่ในการพิจารณารับรองพ.ร.ก.เงินกู้ ด้วย" นายอนุทิน กล่าว

สภาพัฒน์แจง สธ.ต้องให้ตามระยะเวลาเท่ากับบุคลากรทางการแพทย์

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ขอเรียนข้อเท็จจริง ดังนี้ 

1.กระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอโครงการเพื่อขอใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (แผนงานหรือโครงการที่ 1) ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ ซึ่งแผนงานดังกล่าวมีกรอบวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ สำหรับการเตรียมความพร้อม และการแก้ไขปัญหากรณีที่เกิดการระบาดของไวรัส Covid-19 ในวงเงิน 45,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอโครงการที่อยู่ภายใต้แผนงานด้านสาธารณสุขเพื่อขอรับการจัดสรรจากเงินกู้ภายใต้

พระราชกำหนดในวงเงินรวมประมาณ 51,985 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดครอบคลุมโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของ อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงินไม่เกิน 10,019.9255 ล้านบาท ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษคนละ 500 บาทต่อเดือนให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุข จำนวน 1,054,729 คน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 – กันยายน 2564 

2.การกลั่นกรองความเหมาะสมของโครงการที่เสนอขอใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดนั้น เป็นการดำเนินการโดยใช้กลไกคณะกรรมการกลั่นกรองฯ และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ 

ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมาร่วมกันพิจารณากลั่นกรองโครงการ โดยคณะอนุกรรมการฯ ที่กลั่นกรองโครงการด้านสาธารณสุข ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงการคลัง (สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กรมบัญชีกลาง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง) ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก โดยคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวจะพิจารณากลั่นกรองโครงการและทำความเห็นเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณา

สำหรับกรณีโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของ อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงินไม่เกิน 10,019.9255 ล้านบาท นั้น คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า อสม. เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานด้วยความเสียสละมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่ง อสม. เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับค่าตอบแทนที่ อสม. ได้รับในขณะนี้ จำนวน 1,000 บาทต่อเดือน เมื่อเปรียบเทียบกับภาระงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้ข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขที่ขอให้มีเงินเพิ่มพิเศษอีก 500 บาทต่อเดือน สำหรับ อสม. จึงมีความเหมาะสมที่ควรปรับเพิ่มให้ได้ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาระยะเวลาในการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้จ่ายตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 – กันยายน 2564 (19 เดือน) นั้น คณะกรรมการฯ ได้ พิจารณามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 เรื่องการเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ และมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นสำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขรองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เห็นชอบให้บุคลากรสาธารณสุขผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้รับเงินเพิ่มเติมพิเศษรายเดือน และหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0408.5/ว102 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับบุคลากรสาธารณสุขผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งกำหนดอัตราการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และระยะเวลาสิ้นสุดการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษระยะแรกดังกล่าวไว้ที่เดือนกันยายน 2563

คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาหลักการของหนังสือกระทรวงการคลังดังกล่าว ประกอบกับกรอบวงเงินด้านสาธารณสุขของพระราชกำหนดฯ ที่กำหนดไว้ในวงเงิน 45,000 ล้านบาท เปรียบเทียบกับภาพรวมวงเงินของแผนงานสาธารณสุขที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอขอใช้จ่ายจากเงินกู้ในวงเงิน 51,985 ล้านบาท (เกินจากกรอบวงเงินของพระราชกำหนดฯ คิดเป็นจำนวน 6,985 ล้านบาท) และพิจารณาระยะเวลาการจ่ายเงินที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้จ่ายตั้งแต่มีนาคม 2563 – กันยายน 2564 คิดเป็นวงเงินประมาณ 10,019.9255 ล้านบาท และคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงปัจจัยความไม่แน่นอนของการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดการระบาดซ้ำในช่วงต่อไปหรือไม่ 

ซึ่งในกรณีที่หากเกิดการระบาดในวงกว้างในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งกรอบวงเงินกู้ที่กำหนดไว้ในด้านสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท จะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจะเป็นเม็ดเงินหลักในการแก้ไขปัญหาการระบาดในกรณีที่มีการระบาดซ้ำเป็นวงกว้างภายในประเทศ

คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ จึงมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้ เห็นควรให้ความเห็นชอบโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายค่าเยียวยา ค่าชดเชยและค่าเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดหาผู้ชำนาญการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (แผนงานหรือโครงการที่ 1) เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษคนละ 500 บาทต่อเดือน ให้แก่ อสม. และ อสส. รวมจำนวนไม่เกิน 1,054,729 คนต่อเดือน ระยะเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ถึงกันยายน 2563 กรอบวงเงินไม่เกิน 3,622.3195 ล้านบาท เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 และหนังสือเวียนของกระทรวงการคลังที่กำหนดให้จ่ายเงินเพิ่มพิเศษถึงเดือนกันยายน 2563 ทั้งนี้ หากกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสี่ยงของการระบาดมากขึ้นก็ให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งนำเสนอเหตุผลความจำเป็น เพื่อขยายเวลาการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาพรวมต่อไป 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :