ไม่พบผลการค้นหา
พ.ร.ก.กู้เงิน ผ่านวุฒิสภาแล้วตามคาด "วันชัย สอนสิริ" กลัวโดนคนรุ่นหลังด่่าที่ต้องรับมรดกหนี้บาป หากใช้เงินมั่ว-ทุจริต แนะ "มหาดไทย" คุมเข้ม "ท้องถิ่น" อย่าให้มีปรากฎการณ์ "แร้งลง"

ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 3 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง เป็นพิเศษโดยมี ส.ว.มาลงชื่อ 152 คนครบองค์ประชุม นายศุภชัย สมเจริญ ทำหน้าที่ประธาน จึงเปิดการประชุม โดยมีเรื่องด่วนพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับต่อเนื่องจากวานนี้ โดยเริ่มจากผู้อภิปรายลำดับที่ 35 จากทั้งหมด 42 คน เฉลี่ยคนละ 10-15 นาที 

โดยคณะรัฐมนตรีได้ส่ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุมและชี้แจงประกอบการพิจารณา ซึ่ง ส.ว.ที่อภิปรายต่างสนับสนุน พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ โดยย้ำถึงความจำเป็นจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยมีข้อกังวลเรื่องรายละเอียดของแผนงานและประสิทธิภาพของการดำเนินโครงการ ซึ่งมีข้อเสนอในทิศทางเดียวกันคือ ให้รัดกุมในการใช้เงิน และแก้ปัญหาให้ตรงจุด ทั่วถึง ตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะงบส่วนฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทใน พ.ร.ก.ฉบับแรกที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน

พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม อภิปรายช่วงท้ายก่อนลงมติ โดยมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยและเครื่องช่วยหายใจ ที่ปัจจุบันยังไม่เพียงพอ หากมีการติดเชื้อหรือผู้ป่วยทั้งจากโควิด-19 และโรคอื่นๆเพิ่มมากขึ้น จะเกิดปัญหา จึงควรจัดสรรงบประมาณในส่วน 45,000 ล้านบาท ที่ให้กระทรวงสาธารณสุข มาดูแลในเรื่องนี้ให้เพียงพอ รวมถึงมีการเสนอให้มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข ในคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการตามแผนงานด้วย

ห่วงส่งต่อ "มรดกหนี้" ในคนรุ่นหลัง

นายวันชัย สอนสิริ อภิปรายเป็นคนสุดท้าย ย้ำถึงความจำเป็นต้องกู้เงิน แก้วิกฤติโควิด-19 ซึ่งเป็นการส่งต่อ "มรดกหนี้" ในคนรุ่นหลัง ไม่อยากให้รุ่นหลังลุกขึ้นมาด่าว่า "ทิ้งมรดกบาปไว้ให้พวกเขา" จึงต้องใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงและต้องไม่ทุจริต ไม่สร้างโครงการทิ้งขว้างไม่เกิดประโยชน์หรือละเลงงบประมาณเป็นสภาพเหมือน "แร้งลง" อย่างพฤติกรรมของนักการเมืองแบ่งผลประโยชน์กันอย่างที่ผ่านมา ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้องกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดี และควรมีคณะกรรมการอิสระ ของ ส.ว.หรือ กมธ.วิสามัญ ของ ส.ส. เพิ่มเข้ามาตรวจสอบร่วมกับองค์กรอิสระที่มีอยู่ จะเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลในเรื่องความโปร่งใส    

ด้านนายอุตตม ชี้แจงก่อน ส.ว.ลงมติว่า รัฐบาลเร่งดำเนินนโยบายเยียวยาผลกระทบจากโควิด -​19 ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน เป็นที่ใาของ พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับ เน้น 4 มิติหลัก คือ 1.)​ การสาธารณสุข จึงกำหนด 45,000 ล้านบาทจากเงินกู้สำหรับด้านนี้ 2.)​ สภาพคล่อง ที่ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนทุกภาคส่วน 3.)​รักษาเสถียรภาพทางการเงิน จึงมีการดูแลตราสารหนี้เอกชน 4.)ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 คลี่คลาย จึงมีเงินกู้ 400,000 ล้านบาท  

นายอุตตม ยืนยันว่า รัฐบาลตระหนักดีว่าการบริหารงบประมาณจาก พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับนี้ ต้องเป็นไปอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบและการประเมินผลให้ตรงตามหลักวินัยการเงินการคลังและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยจะนำข้อมูลการอภิปรายของ ส.ว.ไปใช้เป็นประโยชน์ในการดำเนินการต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความละเอียดรอบคอบ ในการกลั่นกรองโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ, การส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง รวมทั้งประเมินประสิทธิผลของโครงการตามมาตรฐานสากล ตลอดจนการตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนชาติเพื่อความโปร่งใสและป้องกันการทุจริต

สำหรับผลการลงมติ ส.ว.อนุมัติ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย 

1. พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน มีมติอนุมัติ 241 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง

2. พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจ มีมติอนุมัติ 243 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง

3. พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน มีมติอนุมัติ 242 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง

อ่านเพิ่มเติม