ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ยังไม่มีรายงานว่าคนติดเชื้อ HIV จะติดโรคโควิด-19 ง่ายกว่าคนปกติ หรือเสี่ยงอาการหนักเหมือนผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามขอให้ระมัดระวังตัวสูงสุดเพื่อความปลอดภัย
ทั้งนี้ ประชาชนยังมีความเข้าใจโรคโควิด-19 ไม่มากนัก เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ เหมือนกับผู้ติดเชื้อ HIV เมื่อ 30 ปีก่อน ที่หากพบว่าใครเป็นจะถูกรังเกียจ ไม่รับสมัครเข้าทำงาน โดยปัจจุบันผู้ติดเชื้อ HIV หากกินยาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์แล้ว สามารถมีอายุยืนถึง 60-70 ปี
"โควิด-19 ติดต่อง่ายกว่า HIV มาก แต่สถานการณ์ใกล้เคียงกัน เพราะมีการเสียชีวิตจำนวนมาก ดังนั้นการตื่นกลัว การรังเกียจ เชื้อโควิด-19 กับ HIV จึงคล้ายๆ กัน"
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า ที่คลินิกนิรนามได้ปรับเปลี่ยนการตรวจรักษาและการจ่ายยาในช่วงนี้ โดยให้จองคิวผ่านทางออนไลน์ เพื่อนัดเวลาและลดความหนาแน่น แต่หากเป็นการตรวจรักษาสามารถเดินทางไปได้ตามปกติ โดยคลินิกจะสอบถามประวัติและส่งผลตรวจทางออนไลน์ เพื่อลดเวลาการอยู่ที่คลินิก
เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ที่ยาต้านไวรัส HIV จะไม่เพียงพอ เนื่องจากบางตัวถูกนำไปใช้ร่วมรักษาโรคโควิด-19
นพ.ประพันธ์ ยืนยันว่า ยังไม่มีผลกระทบ เนื่องจากยาตัวดังกล่าวผลิตที่ประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดที่จีน ทำให้ยาขาดตลาดบางตัว แต่เราได้ลดการจ่ายลง เพื่อให้เกิดความทั่วถึง แต่หลังจากนี้เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ยาจะไม่ขาดตลาด ขณะเดียวกันมีการวิจัยว่ายารักษา HIV บางตัว เมื่อนำไปทดลองรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ได้ผล จึงเชื่อว่ายาไม่ขาดตลาดอย่างแน่นอน
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อ HIV ในประเทศไทย ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนติดเชื้อ HIV รายใหม่ในประเทศไทยมีประมาณปีละ 6,000 คน และเสียชีวิตประมาณปีละ 13,000-14,000 คน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีแนวโน้มลดลง แต่ถ้าเทียบกับเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ถือว่าลดลงอย่างมาก เนื่องจากมีการพัฒนายาต้านและยาป้องกันออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะยังไม่มีวัคซีนรักษาโรคก็ตาม
ทั้งนี้ปัจจุบันหลายคนเข้าใจหลักการหยุดเเพร่เชื้อด้วยการ “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์” มากขึ้น ทำให้การแพร่ของ HIV เป็นเหมือนโรคเบาหวาน ที่เป็นโรคประจำตัว แต่ไม่ติดต่อ โดยเป้าหมายของทุกประเทศทั่วโลกคือ การแพร่เชื้อจะเป็นศูนย์ในปี 2573