วันที่ 3 ต.ค. เวลา 15.00 น. หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติครั้งที่ 1/2565 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล สำหรับการประชุมดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 กย. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เซ็นคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธาน พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นที่ปรึกษาและกรรมการ มีรัฐมนตรีจากกระทรวงต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อธิบกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นกรรมการ มี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นเลขานุการ
โดยคณะกรรการดังกล่าวมีอำนาจและหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ จัดทำนโยบาย กำหนดทิศทางทางการเงิน-คลัง การลงทุน กำหนดมาตรการ แก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบ เพื่อสนองต่อนโยบายดังกล่าว ประสานหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และองค์กรระหว่างประเทศในการส่งเสริมนโยบายดังกล่าว รายงานต่อ ครม.เพื่อพิจารณาดำเนินตามนโยบายของกรรมการ แต่งตั้งคณะทำงานและอนุกรรมการสนับสนุน รวมถึงปฏิบัติงานตามที่นายกฯ และ ครม.มอบหมาย สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีการถ่ายทอดสดผ่านทางช่อง 11 รวมถึงสื่อสารมวลชนช่องต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับชม
สำหรับภาพรวมของแผนงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชุดนี้ มีเป้าหมายในการจัดทำนโยบาย OFOS หรือ One Family One Soft Power โดยมีเป้าหมายบ่มเพาะ 20 ล้านคน โดยผ่านช่องทางของกองทุนหมู่บ้าน , สำนักงานอาชีวศึกษา , สถาบันรับรองคุณภาพวิชาขชีพ มหาวิทยาลัย-โรงเรียนต่างๆ เพื่อเป้าหมายสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง รายได้เฉลี่ยครอบครัวละ 200,000 บาทต่อปี ทั้งยังมีการจัดตั้งองค์การมหาชนอย่าง THACCA หรือ Thailand Creative Content Agency เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ โดยภาครัฐจะเป็นผู้ให้การสนับสนุน เพื่อเป้าหมายรุกไประดับสากล ผ่านท่างสถานทูตไทยในทุกประเทศ รวมถึงภาคเอกชน
ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าว ได้กำหนด Quick Win ในการดำเนินนโยบายนี้เพื่อให้้สำเร็จลุล่วงภายใน 100 วัน 6 เดือน และ 1 ปี โดยใน 100 วันแรก ประชาชนสามารถลงทะเบียน OFOS ที่กองทุนหมู่บ้านปรับปรุงศูนย์บ่มเพาะ โดยจะมีการแก้ไขกฎกระทรวง-รวมถึงกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกองอาชีพ เปลี่ยนจากรัฐอุปสรรค เป็นรัฐสนับสนุน อาทิ ปลดล็อกสุราชุมชน รวมถึงจะมีการจัด Winter Festival นำร่องร่วมกับกรุงเทพมหานคร และใน 6 เดือนถัดมา จะมีการบ่มเพาะ OFOS แก่ประชาชนที่ลงทะเบียน มีการเสนอ พ.ร.บ. THACCA เพื่อจัดตั้งองค์การมหาชนดังกล่าวต่อที่ประชุมสภา มีการจัด Soft Power Forum เพื่อจุดพลุและเชิญผูเชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาร่วมแลกเปลี่ยนความสำเร็จ จากนั้น ภายใน 1 ปี หรือวันที่ 3 ตค.2567 เป้าหมายแรกของคณะกรรมการคือการบ่มเพาะและสร้างรายได้ 1 ล้านคนแรก จากเป้าหมายใหญ่ 20 ล้านคน พ.ร.บ.THACCA ผ่านที่ประชุมสภา มีการจัด Film Festival และ Music Festival ประเดิมการเป็นศูนย์กลางการจัดแสดงและคอนเสิร์ตระดับโลก และ สนับสนุน Soft Power ต่างๆของประเทศไทย ที่ประสบความสำเร็จ ไปร่วมงานในระดับโลก เป็นต้น
โดยในวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อรวบรวมข้อมูล จัดทำแผนโครงการบริหารในด้านต่างๆ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กำกับหน่วยงานรัฐในการส่งเสริมและพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ โดยข้อให้หน่วยงานของรัฐ ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ให้ความร่วมมือต่อคณะกรรมการชุดดังกล่าว ตามที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ มี แพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานกรรมการ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรองประธาน มีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน อธิบดีกรมสำคัญๆที่เกี่ยวข้อง เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อธิบกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นครั้งแรกที่ ที่ แพทองธาร ชินวัตร เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ในฐานะประธาน และรองประธาน คณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางการจับตาในด้าอนาคตทางการเมือง รวมถึงแรงสนับสนุนจากสมาชิกพรรค และ สส. รวมถึงรัฐมนตรีในรัฐบาล ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่