กองทัพรัสเซียได้บุกโจมตีที่เมืองอีเนอร์โฮดาร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน โดยเล็งเป้าหมายการโจมตีไปที่โรงงานพลังงานนิวเคลียร์ซาปอริซเซีย โดย แอนดรี ทูซ โฆษกของโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ระบุว่า มีกระสุนจากการปะทะกันตกตรงบริเวณโรงงานและหนึ่งในหกเตาปฏิกรณ์ อย่างไรก็ดี เตาปฏิกรณ์ดังกล่าวยังอยู่ภายใต้การปรับปรุงและไม่ได้เปิดใช้งาน แต่ยังคงมีเชื้อเพลิงนิวเคลียร์อยู่ด้านใน
ระหว่างการปะทะกันในตอนนี้ มีรายงานว่านักดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปยังพื้นที่ของโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ซาปอริซเซียที่กำลังเกิดเพลิงไหม้ได้ เนื่องจากมีการยิงมายังนักดับเพลิงที่กำลังรอการเข้าไประงับเหตุเพลิงไหม้เบื้องต้น “เราขอเรียกร้องให้พวกเขาหยุดการระดมยิงอาวุธหนัก” ทูซกล่าว “มันคือภัยคุกคามที่แท้จริงจากอันตรายของนิวเคลียร์ของสถานีพลังงานปรมาณูที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป”
ดีมีโทร คูเลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของยูเครนทวีตข้อความลงบนทวิตเตอร์ส่วนตัวระบุว่า หากเกิดการระเบิดของโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ซาปอริซเซีย จะส่งผลให้เกิดการระเบิดพลังงานและกัมมันตภาพรังสีที่รุนแรงกว่าเหตุการณ์การระเบิดของโรงงานพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลที่เคยเกิดขึ้นในปี 2529 กว่า 10 เท่าตัว
โรงงานพลังงานนิวเคลียร์ซาปอริซเซียเป็น 1 ใน 15 โรงงานพลังงานนิวเคลียร์ของยูเครน และเป็นโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ทั้งนี้ คูเลบาเรียกร้องขอให้รัสเซียมีการหยุดยิงในบริเวณดังกล่าวทันที เพื่อเปิดทางให้นักดับเพลิงเข้าระงับเหตุเพลิงไหม้ได้ทัน
เจนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ระบุในทวิตเตอร์ว่า เตาปฏิกรณ์ของโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ซาปอริซเซียมีโครงสร้างการกักกันพลังงานที่แข็งแรง และกำลังอยู่ในขั้นตอนการปิดตัวลงอย่างปลอดภัย
โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนได้ออกมาแถลงถึงการโจมตีโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ซาปอริซเซียว่า การระเบิดอาจเป็น “จุดจบของทุกคน จุดจบของยุโรป การอพยพครั้งใหญ่ของยุโรป” ก่อนที่จะระบุว่า มีเพียง “การตอบรับกับปัญหาโดยด่วนจากยุโรปเท่านั้นที่จะหยุดกองกำลังของรัสเซียได้” และเขาขอร้องให้ “อย่าปล่อยให้ความตายของยุโรปจากภัยพิบัติที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” เกิดขึ้น
การรุกรานยูเครนของรัสเซียยังคงดำเนินต่อไป โดยมีการคาดการณ์ว่า จากการคว่ำบาตรของนานาชาติต่อรัสเซีย และการใช้เวลาในการรุกรานที่ยาวนานอาจทำให้รัสเซียตัดสินใจยกระดับการใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะกำราบยูเครนและเข้ายึดกรุงเคียฟให้ได้ ถึงแม้ว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียจะระบุว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” ในครั้งนี้เป็นไปตามแผนการที่รัสเซียคาดเอาไว้ก็ตาม
จากรายงานล่าสุดระบุว่า เจ้าหน้าที่ดับเพลิงของยูเครนสามารถเข้าควบคุมเพลิงไหม้ในบริเวณโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ซาปอริซเซียได้แล้ว
ที่มา:
https://www.cnbc.com/2022/03/03/russia-ukraine-live-updates.html