ไม่พบผลการค้นหา
พรรคเพื่อไทย เชื่อหากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้ประเทศชะงัก สิ่งแรกที่ต้องแก้คือ ส.ว. ที่เป็นเหมือนเสาค้ำยันให้รัฐบาล มองการปรับ ครม. ล่าสุดยังเป็นการปรับเพียงรักษาสมดุลภายในพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ได้ปรับเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศ

พรรคเพื่อไทย จัดเสวนา 'วิกฤตเศรษฐกิจ หลังรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ ประเทศไทยจะไปต่ออย่างไร ?' โดยพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญคือการเปลี่ยนแปลงประเทศ แม้รัฐบาลจะเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลับมาคว่ำเสียเอง แสดงให้เห็นว่าไม่มีความจริงใจ ซึ่งจะส่งผลกระทบ 3 ข้อ คือ ประเทศจะติดกับดักกับผู้นำที่ไม่มีความรู้ความสามารถ จะเห็นได้จากการจัดสรรงบประมาณปี 2565 ที่งบประมาณน้อยกว่าปี 2564 ซึ่งการปรับลดงบประมาณในภาวะที่ประเทศเกิดวิกฤต รอการพัฒนา

309580.jpg

ดังนั้น ควรตัดงบประมาณที่ไม่สำคัญ อย่างเช่น การนำงบประมาณจัดซื้อยุทโธปกรณ์ไปพัฒนาประเทศแทน ไม่ใช่การประคองด้วยการแจกเงิน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาค่าเงินอ่อน เงินรั่วไหล หาคนมีความรู้ความสามารถบริหารประเทศไม่ได้ แม้จะมีการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นเหมือนการขายฝัน ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ให้ดีขึ้น การปรับ ครม. ครั้งล่าสุดยังไม่ตอบโจทย์ เป็นการปรับเพียงรักษาสมดุลภายในพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ได้ปรับเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศ และไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติ ไม่สามารถเดินหน้าเจรจาทางการค้าได้ ดังนั้น การจะแก้วิกฤติประเทศทั้งหมดได้ คือ ต้องเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ

309581.jpg

ด้าน พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ โดยเฉพาะการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่เขียนไว้เพื่อเอื้อให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นผู้มีอำนาจต่อโดยไม่ต้องสมัครลงรับเลือกตั้ง และยังมี ส.ว. เข้ามามีส่วนเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งแตกต่างกับรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ที่มีการกำหนดไว้ว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. ซึ่งการเปลี่ยนกติกาแบบนี้ ส.ว. คือส่วนสำคัญในการผยุงให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาอีกครั้ง เช่นเดียวกับการเลือกองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะมีการตั้งกรรมการสรรหา แต่เห็นว่ากรรมการนั้นยังไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง โดยยกตัวอย่างและย้อนถามว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ร่วมเป็นกรรมการสรรหานั้นมีความเป็นกลางทางการเมืองหรือไม่ หากพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อเชื่อประเทศจะไม่มีอนาคต ดังนั้นต้องเอาเสาค้ำยัน ทั้ง ส.ว. , พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ออกไปก่อน โดยประชาชนต้องร่วมกันกดดัน ถ้ามีการกดดันเชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่หากรัฐธรรมนูญไม่ได้รับการแก้ไขประเทศจะชะงัก 

309575.jpg

ขณะที่ วิโรจน์ อาลี นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เศรษฐกิจประเทศขณะนี้ จะเห็นว่าเจ้าสัวที่ใกล้ชิดรัฐบาลมีรายได้สูงขึ้นในขณะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น จึงกังวลเรื่องทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว การส่งออกไม่ประสบความสำเร็จ การลงทุนไม่ได้รับการตอบสนองจากต่างชาติ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการพัฒนาแรงงานมารองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปสินค้าต่างๆ ที่มีแนวโน้มเข้าสู่ระบบเทคโนโลยี หรือ ที่เรียกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งหากยังทำเพื่อรักษาอำนาจให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เศรษฐกิจไม่สามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้แน่นอน