โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมล็อกเป้าจองกฐินชำแหละงบประมาณ 'ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง' ที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องในยุค คสช. กระทั่งสืบทอดอำนาจ ภายใต้การกำกับดูแลของ 3 ป. - บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ช่วยกำกับดูแล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
โดยเฉพาะ'โครงการจัดหา'ยุทโธปกรณ์' ซึ่งสร้างความกังขาต่อประชาชนไทยผู้เสียภาษี
ทั้งในแง่ความโปร่งใสและการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความเหลื่อมล้ำของประชาชน อุ้มชูสวัสดิการเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 5 ล้านคนด้วยวงเงินมหาศาล แต่ใช้ระบบสังคมสงเคราะห์กับประชาชนกว่า 60 ล้านคน ซึ่งสะท้อนผ่านออกมาในเอกสารงบประมาณ 7 ฉบับ 26 เล่ม ดังนี้
‘ทบ.-ทร.-ทอ.’ ตั้งงบ 2.3 หมื่นล้าน ถลุงอาวุธแข่งเพื่อนบ้าน
ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของเจ้าภาพหลัก กระทรวงกลาโหม มีแผน 'จัดหา-ซ่อมบำรุง'ยุทโธปกรณ์ทุกเหล่าทัพ ภายใต้ 'โครงการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ' มีเป้าหมาย คือ 'ประเทศมีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยคุกคามทางทหาร รวมทั้งมีศักยภาพทัดเทียมกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้'
กองทัพบก มี 'ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและปรับปรุงยุทโธปกรณ์' 1.38 พันล้านบาท และ 'ค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างกำลังกองทัพ' ภายใต้ 'โครงการจัดหายุทโธปกรณ์' 7.81 พันล้านบาท และ 'โครงการที่จะเริ่มผูกพันใหม่ในปีงบประมาณ 2563' อีก 19 โครงการ วงเงิน 3.31 พันล้านบาท รวม 1.25 หมื่นล้านบาท
กองทัพอากาศ 'ค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างกำลังกองทัพ' ภายใต้ 'โครงการจัดหายุทโธปกรณ์' 3.51 พันล้านบาท และ 'โครงการที่จะเริ่มผูกพันใหม่ในปีงบประมาณ 2563' อีก 2 โครงการ 616 ล้านบาท รวม 4.12 พันล้านบาท
กองทัพเรือ มี 'ค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างกำลังกองทัพ' ภายใต้ 'โครงการจัดหายุทโธปกรณ์' 706 ล้านบาท และ 'โครงการที่จะเริ่มผูกพันใหม่ในปีงบประมาณ 2563' อีก 5 โครงการ วงเงิน 3.58 พันล้านบาท รวม 4.28 พันล้านบาท
‘กองบัญชาการกองทัพไทย’ มี 'ค่าใช้จ่ายการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์' 2.07 พันล้านบาท
รวมทุกเหล่าทัพ มีงบ 'จัดหา-เสริมสร้าง-ซ่อมบำรุง'อาวุธ ในปีงบประมาณ 2563 อย่างน้อย 2.29 หมื่นล้านบาท
สตช. ขอ 8.4 พันล. ดูมั่นคงภายใน ปภ. ชง 9.7 พันล. ป้องภัย - 3 ป. ช้อป 4.1 หมื่นล.
ส่วนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวกับความมั่นคงและมีการตั้งงบเกี่ยวกับการจัดซื้อและซ่อมแซมยุทโธปกรณ์ ได้แก่ สตช. มี 'โครงการจัดหายุทโธปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม' 8.4 พันล้านบาท และ กอ.รมน. ตั้งงบซ่อมแซมยุทโธปกรณ์พิเศษ 200 ล้านบาท
รวมมีงบ จัดหา-เสริมสร้าง-ซ่อมบำรุง'อาวุธในปี งบประมาณ 2563 อย่างน้อย 3.15 หมื่นล้านบาท
ด้านพลเรือนหัวเรือใหญ่อย่างกระทรวงมหาดไทย ในนามกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มี 2 โครงการใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาคือ 'โครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกองทัพบกในการจัดหาเฮลิคอปเตอร์เพื่อประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาสาธารณภัย' 1.06 พันล้านบาท ซึ่งผูกพันปี 2564 วงเงิน 1.48 พันล้านบาท และปี 2565 อีก 744 ล้านบาท ตลอดจนโครงการเดียวกันระยะที่ 2 ผูกพันถึงปีงบประมาณ 2565 วงเงินรวม 1.8 พันล้านบาท และ 'โครงการจัดหาคุรุภัณฑ์เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย' 4.59 พันล้านบาท รวมทั้งสิ้น 9.67 พันล้านบาท
หากนับรวมงบฯจัดหาเกี่ยวกับยุทโธปกรณ์และคุรุภัณฑ์ ด้วยข้ออ้างด้านความมั่นคง เมื่อรวมงบประมาณการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ต่างๆแบบเบ็ดเสร็จภายใต้การกำกับในมือของ '3ป.' - 'ป้อม - ประยุทธ์ - ป๊อก' แล้วคิดเป็นวงเงินทั้งสิ้น 4.11 หมื่นล้านบาท
สวัสดิการขรก. 4.1 แสนล้าน - สงเคราะห์คนจน 1.8 แสนล. เหลื่อมล้ำรักษาพยาบาล 5 เท่า
เมื่อไล่เรียงความมั่นคงปลอดภัยของชาติแล้ว ก็ต้องพิจารณาในส่วนคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในฐานะผู้เสียภาษี ผ่านสวัสดิการทางสังคมต่างๆ ซึ่งพบว่า ยังมีความเหลื่อมล้ำมหาศาล ระหว่างข้าราชการ 5 ล้านคน กับประชาชนกว่า 60 ล้านคนทั้งประเทศ จากตัวเลขที่สะท้อนออกมาในประมาณปีล่าสุด ซึ่งทราบกันดีว่ากว่าร้อยละ 80 ของวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาทนั้นเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเงินเดือนของบุคคลากรในภาครัฐ
ทว่านับเพียงรายจ่ายที่คุ้มครองเกี่ยวสวัสดิการเจ้าหน้าที่รัฐ ในส่วน 'งบกลาง' วงเงิน 5.18 แสนล้าน ทั้ง 11 รายการนั้น ถูกกันไว้ใช้จ่ายแก่ข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ 6 รายการ รวม 4.13 แสนล้าน หรือคิดเป็น 4 ใน 5 ของงบกลางทั้งหมด
สำหรับประชาชนนั้นได้รับการช่วยเหลือในลักษณะสังคมสงเคราะห์ตามแบบ 'รัฐบาลประยุทธ์1-2' ผ่าน 'บัตรคนจน'
ล่าสุดก็มีการตั้งงบสำหรับกองทุนประชารัฐ อีก 4 หมื่นล้านบาท และโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้านั้นอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งดูแลประชาชนกว่า 48 ล้านคน รวมเงินช่วยเหลือในการมีชีวิตอยู่ของประชาชนอยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท ห่างจากสวัสดิการบุคลากรในภาครัฐที่ 5.18 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.87 เท่า
ยอดชี้วัดที่บ่งชี้ความเหลื่อมล้ำชัดเจน คือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการ ลูกจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐนั้นอยู่ที่ 7.12 หมื่นล้านบาท ใช้สำหรับดูแลข้าราชการราว 5 ล้านคน ค่าเฉลี่ยตัวหัวจึงอยู่ที่ 1.42 หมื่นบาท
ขณะที่งบประมาณสำหรับบัตรทอง 1.4 แสนล้านบาทนั้น ครอบคลุมประชากร 48 ล้านคน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.91 พันบาทเท่านั้น ส่วนต่างจึงห่างกันมากถึง 4.87 เท่าตัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง