ไม่พบผลการค้นหา
Google Arts & Culture จับมือกรมศิลปากร เปิดตัวนิทรรศการ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” ในรูปแบบดิจิทัล ให้คนทั่วโลกเรียนรู้ประวัติศาสตร์ “วังหน้า” ในหลากหลายมิติ

วันนี้ (17 ก.ย.) Google Arts & Culture ร่วมมือกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้การสนับสนุนจากท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เปิดตัวนิทรรศการ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” ในรูปแบบดิจิทัล

นิทรรศการดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า” ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดชั้นข้อมูลต่างๆ ของประวัติศาสตร์ที่เคยค้นพบมาก่อน โดยได้รวบรวมคอลเล็กชันพิเศษต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้คนทั่วโลกได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไทยที่อยู่เบื้องหลังอนุสรณ์สถานอันเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติ

นิทรรศการหน้าวังนฤมิตร

ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ผู้อำนวยการโครงการการศึกษาสันนิษฐานรูปแบบพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และสื่อความหมายด้วยเทคโนโลยี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า โดยส่วนตัวเป็นคนที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์อยู่แล้ว และด้วยความที่เติบโตในเมืองนอก ก็พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับวังหน้า โชคดีที่ได้ทำงานที่กรมศิลปากรที่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ และนักประวัติศาสตร์จำนวนมาก ทำให้ได้ความรู้จากการแลกเปลี่ยนและพูดคุยเรื่องราวในอดีตที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่วังหน้า ร่องรอยต่างๆ ว่าเป็นมาอย่างไร และอยากนำข้อมูลในพื้นที่เหล่านี้ให้คนสามารถเข้าถึง และเข้าใจประวัติศาสตร์ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ เพราะการอ่านผ่านหนังสือ หรือจากหอจดหมายเหตุเป็นเรื่องยาก หรือบางคนอาจจะเข้าไม่ถึง เลยเกิดเป็นความคิดที่จะขยายข้อมูลเหล่านี้ให้คนสามารถเข้าถึงได้ จึงอยากนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยให้อีกหลายคนสามารถเข้าถึงข้อมูลตรงนี้

โดยก่อนหน้านี้มีนิทรรศการ ‘วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา’ ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ 6 มีนาคม – 28 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา และแม้นิทรรศการจะจบไปแล้ว แต่ก็ยังอยากให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของโลก จึงได้ชวน Google Arts & Culture มาทำงานร่วมกัน เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและเสนอข้อมูลจากนิทรรศการวังหน้านฤมิต ในรูปแบบดิจิทัลและอินเตอร์แอคทีฟ ถือเป็นจดหมายเหตุอีกรูปแบบหนึ่งที่มีมิติ ทุกคนสามารถเข้าไปจับต้อง เล่นกับมัน โดยไม่ต้องเข้ามาที่วังหน้า ประเทศไทย เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่คนเข้าถึงได้ตลอดเวลา

นิทรรศการหน้าวังนฤมิตร

ขณะที่ นายจิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว หัวหน้าฝ่ายนโยบายและความสัมพันธ์ภาครัฐ บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย)จำกัด อธิบายถึงรายละเอียดนิทรรศการว่า หัวข้อนิทรรศการในรูปแบบดิจิทัล มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แบ่งเนื้อหาเป็น 4 ตอน ได้แก่

ตอนที่1 รู้จักวังหน้า เป็นการกกล่าวถึงประวัติความเป็นมาและประวัติศาสตร์วังหน้า ความคิดดั้งเดิมที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย ตอนที่ 2 กว่าจะเป็นนัยระนาบนอก อินซิทู ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เป็นการรวบรวมผลงานของศิลปินแต่ละท่านที่ได้รังสรรค์ไว้ในช่วงนิทรรศการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ตอนที่ 3 ชุบชีวิตทางมรดกทางประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้ อินซิทู เป็นการกล่าวถึงสิ่งปลูกสร้างที่เป็นร่องรอยของวังหน้าไม่ว่าจะเป็นพระที่นั่งคชกรรมประเวศ พลับพลาสูง และสิ่งอื่นๆ ที่ได้จัดแสดงไปแล้วเช่นกัน และตอนที่ 4 ผัสสะแห่งสิ่งที่จับต้องไม่ได้ อินซิทู กล่าวถึงส่วนที่จับต้องไม่ได้ เช่น เพลง พระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมไปถึงภาพวาด เป็นต้น

โดยทั้งหมดนี้นำเสนอผ่านภาพถ่ายที่มีความละเอียดสูง การซูม และวิดีโอมาเล่าเรื่องนิทรรศการ เช่น ส่วนประวัติของวังหน้าเพื่อให้เกิดความเข้าใจขั้นพื้นฐาน ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การจัดพื้นที่เชื่อมโยงแนวคิดการจัดทัพตามตำราพิชัยสงคราม การนำเสนอเรื่องราวของสิ่งที่จับต้องไม่ได้ให้ผู้ชมได้สัมผัสและมีประสบการณ์ร่วมกันราวกับได้เดินชมด้วยตัวเอง


นิทรรศการหน้าวังนฤมิตร

สำหรับนิทรรศการ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” ในรูปแบบดิจิทัลนี้ มีการแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ตอน รวบรวมผลงานสร้างสรรค์จำนวน 138 รายการ พร้อมด้วยภาพ Street View สำหรับการสำรวจ “วังหน้า” ในมุมมองต่างๆ จำนวน 4 ภาพ โดยมีไฮไลต์ที่น่าสนใจดังนี้ 

  • จิตรกรรมฝาผนัง ที่มีความซับซ้อนที่สร้างสรรค์โดยนักพฤกษศาสตร์ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติภายในกรอบภาพเดียวกัน 
  • ตำราพิชัยสงคราม ให้ความรู้เกี่ยวกับพระนามของพระมหากษัตริย์และขนบการตั้งพระนาม
  • นิทรรศการผัสสะแห่งสิ่งที่จับต้องไม่ได้ของ “อินซิทู” โดยหนึ่งในไฮไลต์ของนิทรรศการนี้คือผลงานเพลง “Ghosts of Wang Na” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ตุล ไวฑูรเกียรติ นักร้องนำวงร็อก อพาร์ตเมนต์คุณป้า และ Marmosets นักดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ โดยศิลปินทั้งสองได้ดัดแปลงเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สอดร้อยกับเครื่องดนตรีดั้งเดิมของไทยอย่างระนาดเข้ากับกลองและดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ 
  • การแสดงขับร้องประสานเสียง โดยคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูในแบบ 360 องศา ซึ่งเป็นการแสดงที่ได้รับการปรับแต่งสำหรับการแสดงในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยโดยเฉพาะ

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถชมนิทรรศการ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” ในรูปแบบดิจิทัล ได้บนเว็บไซต์ Google Arts & Culture หรือแอปพลิเคชัน Google Arts & Culture ทั้งบนระบบ iOS และ Android 


นิทรรศการหน้าวังนฤมิตร


ทั้งนี้ Google Arts & Culture คือแพลทฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลและผลงานศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญจากพิพิธภัณฑ์ต่างๆ กว่า 2,000 แห่งทั่วโลกไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ทุกคนเข้าเยี่ยมชมได้ง่ายๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัสเพื่อสำรวจศิลปะ ประวัติศาสตร์ และสิ่งมหัศจรรย์ของโลก อาทิ ภาพวาดห้องนอนของแวนโก๊ะ, การเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี, ทัชมาฮาล ซึ่ง Google Arts & Culture เปิดให้ใช้บริการฟรี ทั้งในรูปแบบเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันสำหรับระบบปฏิบัติการ Android และ iOS ทีมงาน Google Arts & Culture เป็นพันธมิตรด้านนวัตกรรมกับสถาบันทางวัฒนธรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา โดยได้นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการอนุรักษ์และแบ่งปันวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ภัณฑารักษ์จัดนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่ส่งเสริมให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วม ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์