และการโยงถึง ‘อำนาจพิเศษ’ โดย พล.อ.ประวิตร ต้องการจะสื่อสารถึง ‘นักการเมือง’ ในจดหมายระบุว่า ‘กลุ่มอิลิท’ เป็นผู้มีอิทธิพลกำหนดชะตากรรมประเทศ มอง ‘นักการเมือง’ ด้วยความไม่เชื่อถือ จึงไม่มั่นใจ ‘ประชาธิปไตย’ ไม่เชื่อมั่นการเลือก ‘นักการเมือง’ ของประชาชน จึงเห็นดีเห็นงามกับการ ‘หยุดประชาธิปไตย’ เพื่อ ‘ปฏิรูป’ หรือ ‘ปฏิวัติ’ กันใหม่ หวังแก้ไขให้ดีขึ้น
พร้อมชี้ว่าการเลือกตั้งทุกครั้ง ‘ผู้ยึดครองอำนาจด้วยวิธีพิเศษ’ จะตั้ง ‘พรรคการเมือง’ ขึ้นมาสู้ ซึ่งแม้จะหาทางได้เปรียบในกลไกการเลือกตั้ง แต่ผลที่ออกมา ‘ฝ่ายอำนาจนิยม’ จะพ่ายแพ้ต่อ ‘ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม’
อีกแง่หนึ่ง พล.อ.ประวิตร ชี้ว่า คนที่มีความรู้ความสามารถ กลับไม่มีโอกาสเข้ามาช่วยประเทศชาติ ในช่วงที่ ‘ระบบการเมือง’ จัดสรรผู้เข้ามามีอำนาจบริหารตามโควต้า ส.ส. ที่ประชาชนเลือกเข้ามา ทำโอกาสที่จะเข้ามาช่วยประเทศ มีเพียงช่วงที่ ‘รัฐบาลมาจากอำนาจพิเศษ’ หรือการ ‘ปฏิวัติ-รัฐประหาร’
การกล่าวโยงระหว่าง ‘กลุ่มก่อรัฐประหาร-การใช้อำนาจพิเศษ-กลุ่มอีลิต’ จึงถูกมองไปในเรื่อง ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ เพราะเหตุการณ์รัฐประหาร 22พ.ค. 2557 ว่ากันว่าถูกวางแผนมาตั้งแต่ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ขึ้นเป็น นายกฯ โดยมี ‘จุดตัดสำคัญ’ คือเหตุการณ์ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ นำมาสู่การออกมาของ กปปส. ที่ปูทางสู่การยึดอำนาจ
ผ่านมาไม่กี่วัน ม.จ.จุลเจิม ยุคล โพสต์เฟซบุ๊ก หลังได้อ่านจดหมาย พล.อ.ประวิตร ฉบับที่ 3 ว่าให้พรรคพวกนัด ‘ลุงป้อม’ เพื่อแลกเปลี่ยน ‘วิธีการ’ ก้าวข้ามขัดแย้ง ที่ พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ทำไมเมื่อมีการทำ ‘รัฐประหาร’ จึงมีคนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะ ‘กลุ่มที่ถือกันว่ามีบทบาทในสังคมไทยเรา’ จะให้การสนับสนุนการล้มประชาธิปไตย พร้อมกล่าวถึงความจำเป็นต้องยอมรับระบอบประชาธิปไตย
ทั้งนี้ ม.จ.จุลเจิม สนใจในช่วงท้ายจดหมาย ที่ได้เสนอแนวทาง ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ ตามที่ พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเลือกผู้บริหารประเทศ แต่เปิดโอกาสให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามามีบทบาทร่วมในการพัฒนาประเทศ
ต่อมา ม.จ.จุลเจิม ได้โพสต์รูปขณะนั่งพูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร แต่ข้อความที่ ม.จ.จุลเจิม ระบุพร้อมมานั้นถูกตีความเป็นอย่างมากในทางการเมืองว่าเป็นการ ‘ส่งสัญญาณ’ ใดหรือไม่ ทั้งกับ พล.อ.ประวิตร และ ‘บางพรรคบางคน’ ที่ ม.จ.จุลเจิม ระบุไว้
“ผมดีใจที่ได้คุยในสิ่งที่อยู่ในใจผม เรื่องหนึ่ง คือ ขอให้ลุงป้อม มองขึ้นไปบนฟ้าบ้าง อย่าดึงฟ้ามาเล่น แล้วอย่าเอามือไปปิดพระอาทิตย์ เหมือนบางคน บางพรรคการเมือง ไม่ดีหลอกครับลุง ลุงป้อมรับปากว่า เรื่องนี้ต้องทำ และอยู่ในใจ ตลอด แน่นอน (ไม่ว่าได้เป็นนายกฯ หรือไม่)” ม.จ.จุลเจิม ระบุ
ประโยคดังกล่าวถูกมองเป็น ‘สัญญาณปราม’ พล.อ.ประวิตร หรือไม่ ที่มาพร้อมกระแสข่าว ‘ดีลข้ามขั้ว’ ในการจัดตั้งรัฐบาล หลัง พปชร. ปรับแนวทางพรรคเป็น ‘พรรคไร้ขั้ว’ พร้อมไปกับทุกฝ่าย ยกเว้นพรรคก้าวไกล ที่จุดยืนเรื่อง ม.112 อยู่ตรงข้ามกัน แต่ในฝั่ง ‘บ้านป่ารอยต่อ’ กลับมองว่านี้คืออ’สัญญาณดี’ ต่อ พล.อ.ประวิตร โดยขอให้ย่อหน้าสุดท้ายที่ ม.จ.จุลเจิม โพสต์ข้อความ
“ในฐานะเป็นทหารเก่า ตั้งแต่ร้อยตรี ถึงพลเอก ย่อมจะมีความจงรักภักดี และทำเพื่อ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผมได้ฟังแล้ว รักลุงป้อมเลย ถ้ารับปากและทำจริงๆ” ม.จ.จุลเจิม โพสต์
“ขอบคุณลุงที่เลี้ยงกาแฟและขนมและให้เวลาผมได้เปิดใจและรับฟังจากประชาชนคนหนึ่งครับลุงป้อม ขอให้ทำตามที่ผมขอร้องนะครับ เราจะได้ข้ามความขัดแย้งกันสักที” ม.จ.จุลเจิม โพสต์
สิ่งที่คนใน ‘บ้านป่ารอยต่อ’ มองเป็น ‘สัญญาณดี’ คือ ม.จ.จุลเจิม ชื่นชมแนวทางที่ พล.อ.ประวิตร จะทำเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยขอให้ทำตามที่ ‘รับปาก’ ไว้ รวมถึงคำว่า “ขอให้ทำตามที่ผมขอร้อง” เพราะสถานะของ ม.จ.จุลเจิม กับ พล.อ.ประวิตร แตกต่างกัน การพูดคุยของทั้งคู่นั้น ไม่ได้จัดที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ แต่เป็น ‘พื้นที่กลาง’ โดย พล.อ.ประวิตร เป็นฝ่ายไปพบ ม.จ.จุลเจิม เอง
ทั้งนี้ฝั่ง ‘บ้านป่ารอยต่อ’ ตีความคำว่า ‘บางคนบางพรรค’ ของ ม.จ.จุลเจิม คือการ ‘ส่งสัญญาณเตือน’ ฝั่งที่ ‘โหน’ เป็นหลัก จึงมีการตีความไปที่ ‘พรรคการเมืองหนึ่ง’ ที่พูดโยงสถาบันบนเวทีปราศรัย จึงเกิด ‘เอฟเฟกต์’ ตามมายังพรรคดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากกรณี ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ที่ ‘ไตรรงค์ สุวรรณคีรี’ เมื่อครั้งขึ้นปราศรัยเรื่อง ‘เลือกคนดี’ แถมพูดชื่อพรรคผิด จาก รทสช. เป็น ‘พรรคไทยรักไทย’ ที่ จ.นครราชสีมา ทำเอา รทสช. สะเทือนไปทั้งพรรค สะท้านมาถึง พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย
ซึ่งในกรณีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เคยระบุว่า ได้คุยกันแล้ว และยืนยันว่า ‘ไตรรงค์’ ไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดี พร้อมกล่าวย้ำไปถึงสมาชิก รทสช. ให้ระมัดระวังการนำสถาบันมาหาเสียง รวมถึงการปราศรัยต้องไม่ให้ร้ายพรรคการเมืองคู่แข่ง ส่วนตัว นายกฯ ไม่รู้สึกวิตกกังวล หาก ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ อดีต กกต. ที่เป็นแกนนำพรรคเสรีรวมไทย ยื่นร้อง กกต.ให้ยุบพรรค รทสช. จากกรณีที่เกิดขึ้น
ล่าสุดได้กล่าวถึงการพบปะของ ม.จ.จุลเจิม กับ พล.อ.ประวิตร นั้น นายกฯ ย้ำว่าอย่ามองในแง่ไม่ดี
“ใครจะคุยเป็นสิทธิของท่าน ใครจะคุยก็คุยกัน คนรู้จักกัน ทำไมคุยกันไม่ได้ อย่ามองในแง่ไม่ดี ทุกอย่างคนเราเจอก็ต้องคุยกัน เวลาไปไหน คนคุยกับผม ผมก็คุยกับทุกคน ทำไมต้องมองว่าคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็แล้วแต่ เพราะเราไม่อยู่ในการคุยด้วย จะรู้ได้อย่างไร แต่ท่านก็บอกว่าไม่ได้มีอะไรกันทักทายกันธรรมดาผู้หลักผู้ใหญ่คุยกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นอกจากนี้การพบปะระหว่าง ม.จ.จุลเจิม กับ พล.อ.ประวิตร มีการพูดคุยเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องด้วย เพราะถ้าเศรษฐกิจดี ก็จะนำมาสู่ความมั่นคงในทางการเมืองและสถาบัน
อย่างไรก็ตามการพบปะของทั้งคู่มี ‘ตัวกลาง’ ที่รู้จักกับ ม.จ.จุลเจิม ผ่านเครือข่ายสมาคมระหว่างไทย-สหรัฐฯ เพราะ ม.จ.จุลเจิม เคยเรียนชั้น ม.ปลาย และมหาวิทยาลัยที่สหรัฐฯ โดย ‘บุคคลตัวกลาง’ ดังกล่าว ได้มาทำงานใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร เมื่อช่วงปลายปี 65 และในขณะนี้มีบทบาทอย่างมาก เพราะอยู่เบื้องหลังจดหมายทั้ง 3 ฉบับ ของ พล.อ.ประวิตร
แต่อย่าลืมว่า ข้อความจดหมาย ฉบับที่ 3 นั้น ‘ทิ่มแทง’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เต็มๆ เพราะพูดถึงเหตุการณ์ ‘ปฏิวัติ-รัฐประหาร’ รวมทั้งการพูดถึง ‘ขั้วชนชั้นนำ-ปีกอนุรักษนิยม’ ที่เป็นเสมือน ‘ขุมกำลัง-กองหนุน’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ในขณะนี้ไปกองรวมอยู่ที่ ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ นั่นเอง
ทว่าในอีกแง่อย่าลืมว่า ‘พรรคพลังประชารัฐ’ เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 ที่ถูกมองว่าเป็น ‘พรรคสืบทอดอำนาจ’ แต่วันนี้ พปชร. เปลี่ยนไป หลัง พล.อ.ประยุทธ์ ออกไปจากพรรค แม้จะมีความพยายามรีแบรนด์ พปชร. กับ พล.อ.ประวิตร ขึ้นใหม่ก็ตาม
แต่ก็เป็นเรื่องยาก เพราะ พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธตัวเองในอดีตไม่ได้ ที่เคยเป็น รมว.กลาโหม ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในยุคที่มีการตั้ง ศอฉ. มาปราบ ‘คนเสื้อแดง’ อีกทั้งเคยเป็น ประธานคณะที่ปรึกษา คสช. หลังรัฐประหาร 2557 มีบทบาทในกองทัพ-ตร. อย่างมาก และเคยเป็น ประธานคณะกรรมการสรรหาสมาชิก ส.ว. ที่มีอำนาจเลือกนายกฯ ด้วย
จึงทำให้ พล.อ.ประวิตร ก็เลี่ยงกล่าวถึงการพูดคุยกับ ม.จ.จุลเจิม ว่า “ก็ตามนั้นแหละ” ส่วนเป็น ‘สัญญาณที่ดี’ ในทางการเมืองเพื่อ ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ได้ปฏิเสธตอบ
ดังนั้นการที่ ม.จ.จุลเจิม มาพูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร จึงตีความได้หลายแง่มุม ที่งานนี้สะเทือนไปทั้ง ‘2ป.บูรพาพยัคฆ์’ ทำนองว่าทั้ง ‘ปราม’ ทั้ง ‘เตือน’ ไปพร้อมๆกัน