นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่เกิดเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ จะเห็นได้ว่าสถานการณ์อุทกภัยในปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา มีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและมีผลกระทบกว่า 3 ล้านไร่ มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการประเมินเบื้องต้นประมาณมากกว่า 30,000 ล้านบาท รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างมาก ทั้งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ได้สั่งการเพื่อลดผลกระทบและความสูญเสียแก่ประชาชนในพื้นที่ และมีความห่วงใยการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาวางแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในพื้นที่ภาคเหนือ ที่มีทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการขับเคลื่อนให้การปฏิบัติเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยศึกษาสาเหตุเพื่อนำไปสู่การแก้ไขอย่างเป็นระบบ มีแผนที่มีความเหมาะสม ทั้งแผนการแก้ไขในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงแผนการเตรียมรับมือไปจนถึงการเผชิญเหตุ และแผนการฟื้นฟู เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และลดผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ซึ่งที่ประชุมคณะทำงานฯ ในวันนี้ ได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงาน มีหน้าที่และอำนาจในการศึกษา วิเคราะห์ ถอดบทเรียนจากอุทกภัยและดินโคลนถล่มที่ผ่านมา รวมทั้งสำรวจสภาพปัญหาและวิเคราะห์สาเหตุในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายในทุกมิติ ทั้งปริมาณน้ำฝน ทิศทางการไหลของน้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดิน กำหนดแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในพื้นที่ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และประสานงาน ติดตาม เร่งรัดการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยนำข้อมูลสภาพปัญหาและสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม รวมถึงแผนงาน โครงการเพื่อรองรับสถานการณ์อุทกภัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเครื่องมือการพยากรณ์สถานการณ์อุทกภัยจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยแผนระยะสั้นจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้
นายสุริยะ กล่าวต่ออีกว่า ในการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน ได้สั่งการให้ขุดลอกลำน้ำที่ตื้นเขิน โดยให้กรมเจ้าท่าทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดโจทย์เชิงวิศวกรรมและเป็นผู้ตรวจสอบเมื่อขุดลอกแล้วเสร็จ โดยขอความร่วมมือกองทัพไทย โดยหน่วยทหารพัฒนา เป็นผู้ดำเนินการขุดลอก ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากกองทัพ รัฐบาลจะต้องจัดงบประมาณเร่งด่วนให้กองทัพดำเนินการให้ทันก่อนฤดูฝนในปีหน้า พร้อมทั้งมอบให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทาน กำหนดแผนแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาวต่อไป