ไม่พบผลการค้นหา
สรุปเวทีสาธารณะถกปัญหาค่าไฟแพง พบความไม่เป็นธรรมจากบิลค่าไปหลายประการ แม้ก๊าซธรรมชาติมีราคาสูง แต่ไทยยังผลักดันการผลิตไฟฟ้าลักษณะเดิม เหมือนประเทศนี้ถูกกำหนดให้ใช้แค่ก๊าซ เพื่อให้คนนำเข้าร่ำรวย

โครงการมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมในประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีสาธารณะ “ทางออกอยู่ตรงไหน? ค่าไฟไทยในยุคของแพง ค่าแรงถูก” เพื่อทำความเข้าใจถึงราคาค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้น และเสนอทางออก โดยรายละเอียดดังนี้


เจาะบิลค่าไฟ หาสิ่งผิดปกติที่ทำให้ไฟฟ้าแพง

สฤนี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จัดกัด อธิบายถึงประเด็นความไม่เป็นธรรมของค่าไฟว่า ในสังคมสมัยใหม่ไฟฟ้าจัดเป็น สาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งรัฐควรจัดให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเท่าถึง ในราคาที่ย่อมเยา แต่ข้อเท็จจริงเวลานี้กลับพบว่าค่าไฟปรับตัวสูงขึ้น และยังไม่แน่ชัดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ 

ขณะที่คำอธิบายเรื่องการปรับราคาค่าไฟจากรัฐบาลเองก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นจนมองไม่เห็นทางเลือกอื่นๆ จนต้องปรับขึ้นราคา เช่นการอธิบายว่า เราต้องใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้า และเราต้องนำเข้าก๊าซ LNG ซึ่งปีที่ผ่านมาเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาก๊าซสูงขึ้น และเราไม่มีทางเลือกอื่น แต่ในข้อเท็จจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะนี่คือการพูดข้อเท็จจริงเพียงส่วนเดียวเท่านั้น โดยยังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลยังไม่ได้พูดถึง และเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ราคาไฟฟ้าในไทยสูงขึ้น จนเรียกได้ว่า ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค

สฤนี อธิบายถึงความไม่เป็นธรรมของค่าไฟฟ้า โดยวิเคราะห์ลงไปในบิลค่าไฟ พร้อมชี้ไปที่ ค่าไฟฟ้าฐาน ค่านี้หากพูดให้ง่ายคือ ยิ่งรัฐสร้างโรงไฟฟ้ามากขึ้น ประชาชนก็ต้องแบกรับต้นทุนนี้มากขึ้น ฉะนั้นนี่ไม่ใช่การนับเฉพาะโรงไฟฟ้าที่สร้างมานานแล้ว แต่นับรวมถึงการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ และการตัดสินใจที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มก็จำเป็นต้องใช้การประมาณการการใช้ไฟของคนในประเทศ 

แต่สำหรับประเทศไทย ตลอดเวลา 20 กว่าปี เรามีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เกินความจำเป็นมาตลอด ซึ่งตามมาตรฐานควรจะมีสำรองไว้ 15 เปอร์เซ็นต์ โดยในปี 2544 เรามีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงอยู่ที่ 37 เปอร์เซ็นต์ และในปัจจุบันมีมากถึง 57 เปอร์เซ็นต์ 

แม้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเกินความจำเป็นไปมากแล้ว แต่ไทยก็ยังมีการอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม โดยยังใช้วิธีการพยากรณ์ ประมาณการการใช้ไฟฟ้าในลักษณะเดิม 

สฤนีระบุว่า อีกหนึ่งสาเหตุที่ค่าไฟแพงขึ้น มาจากราคาก๊าซที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ในความเป็นจริง เราไม่ได้ใช้ราคาเนื้อก๊าซเท่ากับอุตสาหกรรม โดยเนื้อก๊าซที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และโรงแยกก๊าซจ่าย ใช้ราคาก๊าซเฉพาะในอ่าวไทยเท่านั้น ซึ่งถูกกว่าราคาก๊าซจากทุกแหล่ง ขณะที่ก๊าซซึ่งใช้ในการผลิดไฟฟ้านั้นมีราคามากกว่า 2 เท่า นี่จึงถือเป็นหนึ่งในความไม่เป็นธรรม เนื่องจากผูบริโภคต้องรับภาระจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาก๊าซ แต่ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กลับใช้ก๊าซจากอ่าวไทยในราคาถูกว่า และมีเสถียรภาพ

อีกประเด็นหนึ่งคือ ท่อส่งก๊าซ เวลานี้ยังมีลักษณะผูกขาดอยู่ และมีการคิดค่าบริการที่เรียกว่า ‘ค่าผ่านท่อ’ หากไปดูรายละเอียดพบว่า มีการการันตีผลตอบแทน(กำไร) ไว้ในอัตราที่สูงประมาณ 12.5 - 18 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสิ่งที่ควรจะเป็นแล้วอะไรก็ตามที่เป็นการดำเนินการแบบผูกขาดก็ควรที่จะเอื้อต่อประโยชน์สาธารณะมากที่สุด 

อีกจุดหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ยังอยู่ใน ค่าผ่านท่อ เช่นกัน คือ โรงแยกก๊าซยังจ่ายค่าผ่าท่อถูกว่า ผู้ใช้ก๊าซรายอื่นๆ รวมถึงโรงไฟฟ้าด้วย ซึ่งนี่ก็คือความไม่เป็นธรรมและไม่มีคำตอบว่าทำไมโรงแยกก๊าซจึงจ่ายค่าผ่านท่อในราคาถูกกว่า 

สุดท้ายคือ ค่าเชื้อเพลิงส่วนต่าง margin ที่ ปตท. บวกเพิ่มกับราคาเนื้อก๊าซที่ขายให้แก่โรงไฟฟ้า โดย ปตท. เรียกเก็บค่า margin 1.75% กับโรงไฟฟ้า กฟผ. และโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตอิสระรายใหญ่ แต่เรียกเก็บค่า margin สูงถึง 9.33% กับโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตรายเล็ก และ 80 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าที่เราใช้มาจากการผลิตของผู้ผลิตรายเล็ก


ข้อเสนอหยุดโลกร้อน ลดค่าไฟ

ขณะที่รองศาสตราจารย์ ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แผนพัฒนากำลังไฟฟ้า (PDP) ในอดีตจะมีการปรับเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 3 ปี แต่ปัจจุบันไทยยังคงใช้แผนของปี 2018 อยู่ คำถามที่ตามมาคือการออกแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าล่าช้านี้เกิดขึ้นจากอะไร เป็นเพราะแผนที่จะออกมาจะถูกต่อต้าน เนื่องจากไม่สอดคล้องกับกำลังไฟฟ้าสำรองที่มีอยู่หรือไม่ หรือพยายามยื้อไว้ เนื่องจากจะทำให้โรงไฟฟ้าที่กำลังสร้างตามแผนปี 2018 ดำเนินการต่อไม่ได้หรือไม่ 

เขากล่าวต่อไปถึงการผลิตไฟฟ้าของไทยว่า ในปัจจุบันยังมีการใช้ก็าซ LNG ในการผลิตประมาณ 38 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ในปริมาณมาก และเป็นก๊าซที่มีราคาแพง นั่นทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น และมากไปกว่านั้นไทยยังลงทุนสร้างท่าเรือ LNG สร้างท่อขนส่งก๊าซเพิ่ม ซึ่งจะกลายเป็นภาระมัดมือประชาชนต่อไป

เขาเสนอทางออกว่า ไทยจะต้องหยุดอนุมัติ และชะลอการสร้างโรงไฟฟ้า หรือการซื้อไฟฟ้า ที่เป็นการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลใหม่ หรือก๊าซธรรมชาติในทุกกรณี และจะต้องเจรจากับเอกชนเพื่อลดค่าความพร้อมจ่าย เพราะโรงไฟฟ้าที่มีจำนวนมาก หลายโรงไม่ได้เดินเครื่องผลิตมานานแล้ว เพราะไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรองล้นเกิน จนกระทั่งโรงไฟฟ้าเหล่านั้นเกือบจะได้เงินทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าคือจากการจ่ายค่าพร้อมจ่ายนี้ โดยที่ยังไม่ได้ผลิตไฟฟ้าเลย ฉะนั้นรัฐบาลควรเดินหน้าเจรจาในการขอลดค่าพร้อมจ่ายลง

นอกจากนี้เขายังเสนอให้มีการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากผลิตงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่ำกว่าก๊าซธรรมชาติ 


ประเทศนี้ถูกกำหนดไม่ให้ใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้า เพื่อให้คนเข้านำก๊าซร่ำรวย 

ด้าน อาทิตย์ เวชกิจ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวถึง ความล่าช้าในการออกแผน PDP ฉบับใหม่ว่า มีความพยามยื้อเวลาอย่างชัดเจน นอกจากนี้สิ่งที่เรียกว่าแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ยังพบว่าในแผนนี้ได้รวมก๊าซธรรมชาติเอาไว้ด้วย ฉะนั้นเมื่อทำแผนพัฒนาพลังงานออกมาไทยจะไม่มีทางหนีไปจากก๊าซธรรมชาติได้

เขากล่าวต่อไปไว้ ที่ผ่านมาไทยพยามเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติ ล่าสุดมีการสร้างท่าเรือ LNG แห่งที่ 3 และเร่งสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนี่สามารถทำนายได้ว่าเราจะเห็นค่าไฟฟ้าแพงต่อไปอีกนานชั่วลูกชั่วหลาน 

อาทิยต์ อธิบายว่า ปัจจุบันทั่วทั้งโลกกำลังเผชิญหน้ากับภาวะโลกร้อน และประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 9 ของประเทศที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง ถึงหายนะ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรรม ความเป็นอยู่ และอื่นๆ แม้ไทยจะเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของโลก 

ส่วนในภาคอุตสาหกรรม แผนที่รัฐบาลไทยได้สัญญาไว้ว่า ในปี 2050 จะมีการปล่ยคาร์บอนเป็นศูนย์นั้น ในความเป็นจริงในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และการท่องเที่ยว เราไม่มีถึง 2050 เรามีเวลาเพียง 3 - 8 ปีเท่านั้น ในการลดการปล่อยคาร์บอน เพราะสินค้าที่เราผลิต การเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย และการท่องเที่ยว หากเรายังไม่เริ่มต้นการเป็นสังคมลดการปล่อยคาร์บอน เราจะเผชิญหน้ากับหายนะหมดทุกมุม 

ส่วนของการท่องเที่ยวตอนไปจะมีการโชว์ลำดับการปล่อยคาร์บอน หากการท่องเที่ยวของไทยไม่ถูกจัดอยู่ในระดับ Low Carbon การท่องเที่ยวก็จะค่อยๆ หายไป สินค้าที่ผลิตหากไม่ได้รับมาตรฐาน Low Carbon ต่อไปก็จะเจอกับกำแพงภาษี ทำให้ขายไม่ได้ และโรงงานที่เคยมาตั้งอยู่ในประเทศไทยเอง หากไทยยังคงผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติซึ่งปลดปล่อยคาร์บอนสูงก็มีโอกาศที่จะย้ายฐานผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งในเวลานี้สำหรับประเทศไทยยังมองไม่เห็นทางที่จะมีการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานทางเลือกในการผลิดไฟฟ้า

เขากล่าวต่อว่า พลังงานหมุนเวียนมีอยู่เป็นพันเท่าของพลังงานที่ใช้ต่อปี ฉะนั้นหากไม่มีการใช้พลังงานจากฟอสซิลเลยโลกนี้ก็มีพลังงานสะอาดใช้แบบไม่มีวันหมด แต่เวลานี้สำหรับประเทศไทยกลับมีกฎระเบียบที่ผู้มีอิทธิพลสั่งให้คงกฎนี้ไว้หลายสิบปี คือ การไม่ให้มีการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่ประชาชนผลิตได้เอง 

“นี่คือกฎที่นรกมาก เพราะห้ามไม่ให้เราซื้อไฟฟ้าจากเพื่อบ้านในซอยที่เขาผลิตได้จากแสงอาทิตย์ แต่กลับเลือกการนำเข้า LNG ที่แพงๆ มาทำไฟฟ้าขายให้เรา แต่ไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานสะอาดมีเยอะกลับถูกทิ้งทั้งประเทศ”

“ยืนยันได้ว่า ไม่ใช่การไฟฟ้าไม่เก่ง ไม่ฉลาด ไม่ใช่ไม่รู้ แต่พวกเขาถูกสั่งไม่ให้ทำ การปล่อยรับไฟไหลย้อนมันเรื่องเด็กๆ ไม่มีเห็นผลที่จะบอกว่าทำไม่ได้ แต่เพราะมีคนที่ร่ำรวยจากการนำเข้าก๊าซมาขาย และยิ่งก๊าซแพงเท่าไหร่ก็ยิ่งบวกเพิ่มไปที่ค่าไฟ ฉะนั้นไม่ว่าก๊าซจะแพงเท่าไหร่ นำไปผลิตไฟฟ้าแล้วแพงแค่ไหน คนที่นำเข้าก๊าซ ขายก๊าซ คนที่ผลิตไฟฟ้า ขายไฟฟ้า จะรวยตลอด และก๊าซยิ่งแพงยิ่งดีสำหรับพวกเขา เพราะพวกเราคือคนจ่าย”