วันที่ 2 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี ส.ส.พรรคภูมิใจไทยยื่นถอดถอน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผ่าน ชวน หลีกภัยประธานรัฐสภา ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ว่า
สืบเนื่องจากพรรคก้าวไกลโดย พิธา ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่โยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรม ของ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา
ซึ่งแถลงการณ์ของพรรคในเวลานั้นเป็นการแถลงที่ไม่เห็นด้วยต่อการโยกย้ายดังกล่าว และเชื่อว่าการโยกย้ายนั้นเป็นส่วนสำคัญมาจากความเห็นทางการเมือง และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับ นพ.สุภัทร กลับปรากฏว่าทางภาคภูมิใจไทยไปร้องต่อประธานสภาฯเพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าการกระทำของนายพิธา เป็นการกระทำที่มีการแทรกแซงหรือเข้าไปก้าวก่าย การทำงานของข้าราชการประจำ
รังสิมันต์ ชี้แจงว่า สำหรับแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกลเป็นการกระทำที่สามารถทำได้ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายด้วยรัฐธรรมนูญซึ่งที่ผ่านมาก็แถลงแบบนี้เป็นประจำ แต่สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือหลังจากที่ออกแถลงการณ์ดังกล่าวนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ได้มีการเขียนข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวในลักษณะ ที่พยายามเชื่อมโยง นพ.สุภัทร กับพรรคก้าวไกล ว่ามีการกระทำที่สอดคล้องกัน แสดงให้เห็นว่าการโยกย้ายตำแหน่งของ นพ.สุภัทรไม่ได้เป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ทั่วไปตามปกติ แต่การย้ายดังกล่าวเกิดจากการที่ นพ.สุภัทร ทำหน้าที่เป็นแพทย์ที่พยายามตรวจสอบการทำงานของกระทรวง แสดงว่าแรงจูงใจในการโยกย้ายครั้งนี้คือแรงจูงใจทางการเมือง จึงมองว่าใครกันแน่ที่ผิด
"พรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านทำหน้าที่ทำในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาพยายามแสดงจุดยืนในการปกป้องข้าราชการน้ำดีข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ถูกรังแก จากผู้บริหารระดับสูง จึงเป็นเรื่องที่เป็นตลกร้ายที่พรรคภูมิใจไทยมีการเข้าชื่อเพียงเพราะพรรคก้าวไกล มีจุดยืนในการปกป้องข้าราชการชั้นผู้น้อย ถ้า นพ.สุภัทรมีประเด็นในเรื่องของการทุจริตมีการปฏิบัติหน้าที่ไม่โปร่งใสตนจะไม่ว่าสักคำ แต่ นพ.สุภัทร คือตัวอย่างของข้าราชการน้ำดีพรรคก้าวไกลจึงออกมาปกป้อง เช่นนี้แล้วการที่พรรคภูมิใจไทยเข้าชื่อแบบนี้ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนี้ต่างหากที่ใช้เครื่องมือทางกฎหมายเพื่อทำลายการตรวจสอบของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน"
พร้อมยืนยันว่าพรรคก้าวไกลไม่มีทางอยู่เฉย อาจจะมีการตอบโต้แน่นอน ถ้าเป็นเช่นนี้พรรคก้าวไกลและพรรคภูมิใจไทยคงต้องสู้รบกันไปอีกนาน การดำเนินการของพรรคภูมิใจไทยเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและตนจะไม่ปล่อยให้พรรคการเมืองใช้อำนาจใช้กฎหมายในการรังแกข้าราชการ หรือเพื่อทำลายการตรวจสอบของพรรคการเมืองฝ่ายค้านแน่นอน
ส่วนจะนำเรื่องนี้ไปเป็นข้อมูลในการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา152 ด้วยหรือไม่ รังสิมันต์ กล่าวว่า ในการอภิปรายเราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และจะตรวจสอบรัฐมนตรีทุกคนโดยจะพิจารณาจากเอกสารหลักฐานต่างๆ ซึ่งก็รวมไปถึงรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยที่เคยมีการตรวจสอบเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้ม และการเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อด้วย
รังสิมันต์ กล่าวถึงการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวานนี้ (1 ก.พ.) ที่มีกระแสวิจารณ์ว่าเป็นการหาเสียง ว่า ตนไม่คิดว่ารัฐบาลปฎิบัติหน้าที่อีกแล้ว วันนี้รัฐบาลกำลังหาเสียง ซึ่งตนยืนยันมาโดยตลอดว่างานหลักของรัฐบาลไม่ใช่บริหารประเทศ
"งานหลักของรัฐบาลคือการหาเสียง งานเสริมคือการดูด ส.ส. ส่วนงานพาร์ทไทม์ชั่วคราว ก็จะมีบ้าง แล้วแต่จะเรียกที่อาจจะมาดูว่ายังไม่ถึงไหน แต่ไม่ทำอะไร มิเช่นนั้น ประเทศเราไม่อยู่ในสถานการณ์แบบนี้หรอก" รังสิมันต์ กล่าว
รังสิมันต์ ระบุว่า อยากให้พิจารณาว่า ปัญหาทางสังคม ปัญหาของประเทศเราอยู่ตรงไหนมันเกิดจากสนิมที่อยู่ในระบบราชการ แล้วถามว่าสนิมที่อยู่ในระบบราชการเหล่านี้อยู่ภายใต้การควบคุมของใครบ้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอยู่ภายใต้การดูแลของใคร
"วันนี้ไม่ว่ารัฐมนตรีต่างๆไม่ว่าจะพรรคไหน พยามทำหน้าที่ตอนสุดท้ายของตัวเองให้เต็มที่ ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะไม่เป็นแบบนี้ วันนี้เขาสนใจว่าการเลือกตั้งจะได้กี่ที่นั่ง เรื่องอื่นไม่อยู่ในความสนใจของรัฐบาลอีกต่อไป ดังนั้นจึงไม่แปลกที่พล.อ.ประวิตรไปราชบุรี แล้วจะกลายเป็นเรื่องการหาเสียง" รังสิมันต์กล่าว
ส่วนจะมีเรื่องนี้อภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 กรือไม่ รังสิมันต์ ย้ำว่า การอภิปรายครั้งนี้จะเป็นการตรวจสอบครั้งสุดท้าย ดังนั้น รัฐมนตรีทุกคนมีโอกาสหมด แต่ตอนยังไม่สามารถตอบได้ตอนนี้ว่าจะเป็นใครบ้าง ขอให้ติดตามอย่างไม่กระพริบตา ซึ่งสเกลที่เตรียมไว้เป็นระดับเดียวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ