ไม่พบผลการค้นหา
ขณะที่การประชุมสุดยอดอาเซียนซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ชูแนวคิดกรีนมีตติง จัดการประชุมอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ผอ.กรีนพีซ ชี้ว่าการใช้วัสดุรีไซเคิลไม่เท่ากับการรักษาสิ่งแวดล้อม เมื่อสิ่งของต่างๆ ในการประชุมยังคงถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

ในการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN SUMMIT) ประจำปี 2562 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ไทยได้ชูการนำแนวคิดกรีนมีตติง (green meeting) โดยใช้วัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งวัสดุรีไซเคิลและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย มาใช้กับการออกแบบสถานที่การประชุมรวมถึงของที่ระลึก ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปขยะพลาสติกเป็นเส้นใยทอกระเป๋าหรือเสื้อ การใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์อาหารทำจากชานอ้ออยย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือเก้าอี้กระดาษ 300 ตัวซึ่งทำจากกระดาษรีไซเคิล

มีการตั้งข้อสังเกตว่าไทยยึดแนวคิดดังกล่าวในเชิงปฏิบัติมากแค่ไหน เมื่อผลิตภัณฑ์ซึ่งดูเหมือนจะรักษ์โลกทั้งหมดนั้น ถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้ในงานประชุมนี้เพียงครั้งเดียว

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการองค์กรกรีนพีซ ประจำประเทศไทย ชี้ถึงความไม่สมเหตุสมผลของการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ต่างๆ ใหม่เพียงเพื่อใช้ในการประชุมสุดยอดอาเซียนเพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ขณะที่ในประเทศเองก็มีปัญหาจากภาชนะพลาสติกที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านรวงข้างทางแจกกันโดยทั่วไป

ธารา กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่าการใช้กระดาษรีไซเคิลไม่เท่ากับการใช้แนวคิดกรีนมีตติง ทั้งยังเสริมว่าทางโรงแรมก็มีเก้าอี้ให้อยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลที่ต้องผลิตเก้าอี้ใหม่เลย

ทั้งนี้ ทางผู้จัดการประชุมระบุว่าเก้าอี้กระดาษซึ่งพิมพ์โลโก้ ASEAN THAILAND 2019 ไว้นั้น จะถูกนำไปใช้ซ้ำในการประชุมอาเซียนอื่นๆ ในปีนี้

สำหรับที่นั่งของผู้นำชาติอาเซียนนั้น ไม่ใช่เก้าอี้กระดาษรีไซเคิล แต่เป็นเก้าอี้ไม้ตัวใหญ่หุ้มเบาะซึ่งจัดเตรียมโดยทางโรงแรม ดิ แอทธินี ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน ทั้งนี้ กิดากร อังคณารักษ์ ตัวแทนบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ผู้สนับสนุนการจัดการประชุมนี้ชี้ว่าเป็นเพราะจำเป็นต้องมีที่นั่งที่สบายกว่าไว้รับรองผู้นำประเทศ