ไม่พบผลการค้นหา
ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ ห่วงใยโลกออนไลน์ แจงเป็นการทำร้ายจิตใจผู้เสียหาย รวมถึงหลายครั้งเป็นการเบี่ยงประเด็น และสาดโคลนเข้าหากัน

นางสาวปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แสดงความกังวลถึงความคิดเห็น และข่าวสารในโลกออนไลน์ หลังนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดนลอบทำร้ายจนมีอาการบาดเจ็บ และต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี

“จ่านิวไม่ได้โดนตี หรือลอบทำร้ายทางกายภาพเท่านั้น แต่ด้วยกระแสคอมเมนต์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ เหมือนเป็นการกระทำซ้ำ”

ปิยนุช.jpg
  • นางสาวปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ กล่าวภายหลังเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 21 “ทุเลาความรุนแรงและความเกลียดชังในสังคมไทย” ว่า โลกออนไลน์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบด้านจิตใจต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาแล้ว หลายๆ ครั้งยังเห็นการเบี่ยงประเด็น ที่เหมือนการสาดโคลน หรือทำให้ประเด็นดังกล่าวถูกมองข้ามไป และไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา 

โดยมองว่าการสร้างข่าวที่ไม่เป็นความจริง ส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ที่ถูกกล่าวหา อย่างเช่นนักกิจกรรม ที่เสียหายทั้งในแง่ชื่อเสียง รวมถึงความน่าเชื่อถือกับกรณีที่เรียกร้อง และย้ำว่าไม่ใช่แค่ ‘จ่านิว’ เพราะใครก็ตามก็ไม่สมควรเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ 

นอกจากนี้ นางสาวปิยนุช ยังย้ำว่าทุกคนเห็นต่างกันได้ มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

“อย่างน้อยถ้าคุณไม่เห็นด้วย ก็อยากให้มองพวกเขาเป็นคนๆ หนึ่ง ที่ไม่ควรจะโดนทำร้ายแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกายหรือการโจมตีในโลกออนไลน์ ไม่ควรจะเกิดขึ้นทั้งสองทาง ทางกายภาพสามารถดูแลรักษาได้ แต่ถ้ารุนแรงมากก็จะน่าเป็นห่วง

ในเรื่องของการคอมเมนต์ก็ไม่ควรจะล้ำเส้น และปล่อยให้ความเห็นกลายเป็นการใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) เรามีเสรีภาพในการแสดงออก แต่ก็ควรที่จะเคารพกัน” ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ ทิ้งท้าย

ด้านศาสตราจารย์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ออนไลน์ ถึงการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ว่า ควรจะทำพฤติกรรมที่เห็นได้จากการดำเนินชีวิตจริง แบบที่เห็นหน้าเห็นตากัน ไปปรากฎในโลกออนไลน์ 

ชัยวัฒน์.jpg
  • ศาสตราจารย์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ประเด็นก็คือเวลาอยู่ในโลกออนไลน์เรามีตัวคนอีกลักษณะหนึ่ง เวลาเจอกันซึ่งหน้า เรามองลงไปในดวงตาผู้คนมันเห็นความสัมพันธ์อีกอย่างหนึ่ง ความเป็นมนุษย์ปรากฎชัด แต่ในโลกออนไลน์มันไม่มีส่วนนี้อยู่ และไม่จำเป็นต้องมี ความหยายคายทุกชนิดจึงแสดงออกมาได้ 

ความสัมพันธ์ระหว่างคนมีความอ่อนโทรมลง ไม่มีความอารีอารอบ ไม่เอื้ออาทร ซึ่งเกิดขึ้นจากความขัดแย้งที่มีมานานแล้ว สังคมไทยแบ่งพรรคแบ่งพวกมานานมากแล้ว ส่วนวิธีการที่ว่าจะทำอย่างไรกับมันคงไม่ใช่การกวาดไปใต้พรม แต่ต้องหาวิธีอยู่ร่วมกับมันให้ได้"

ศาสตราจารย์ ชัยวัฒน์ ย้ำว่าบางครั้งสังคมไทยมองตนเองว่าเป็นสังคมที่อารีอารอบ รักสันติ แต่ในข้อเท็จจริงอาจจะต้องมองด้านมืดที่มีอยู่ด้วย คำถามที่น่าสนใจคือทำไมเราถึงพาตัวเองมาถึงจุดนี้ได้