การทำรัฐประหารโดยผู้นำเผด็จการทหาร มิน ออง หล่าย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นำมาสู่วิกฤตการเมืองและมนุษยธรรม อันเป็นเหตุให้เมียนมาไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีบรูไนเป็นเจ้าภาพ
แต่ดูเหมือนว่า จุดยืนในการไม่สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการของอาเซียนอาจจะต้องสั่นคลอนเมื่อกัมพูชารับบทเป็นเจ้าภาพการประชุมในปีหน้า
นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน กล่าวว่า ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาควรได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมประชุม และในปีหน้าที่กัมพูชาจะได้เป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ผู้นำประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ รวมทั้งเมียนมา จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมหน้ากัน
“เมียนมาเป็นสมาชิกในครอบครัวอาเซียน พวกเขาต้องมีสิทธิเข้าประชุมสิ”
ฮุน เซน ยังเอ่ยถึงแผนเยี่ยมประเทศเมียนมาเพื่อคุยกับ มิน ออง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร ที่เมืองเนปิดอว์
“ถ้าไม่ทำงานร่วมกับผู้นำ แล้วจะให้ทำงานกับใครล่ะ?”
เขากล่าวในพิธีเปิดโครงการก่อสร้างที่ได้รับทุนสนับสนุนจากจีนที่กรุงพนมเปญ เมื่อวันจันทร์ (6 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ในขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาเตรียมเยือนกัมพูชาในวันอังคารนี้ (7 ธ.ค.)
นอกจากนี้ผู้นำกัมพูชาอ้างถึงข้อตกลงของอาเซียนว่าจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน พร้อมเสริมว่า "ภายใต้กฎบัตรอาเซียน ไม่มีใครมีสิทธิที่จะขับไล่สมาชิกคนอื่นออกไป"
นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ของรัฐบาลทหาร เมียนมาตกอยู่ในความปั่นป่วนทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ โดยประชากรส่วนใหญ่ของประเทศปฏิเสธการเข้ายึดครองอำนาจของกองทัพ ข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมืองของเมียนมาระบุว่ รัฐบาลทหารได้สังหารประชาชนไปแล้วกว่า 1,300 คน ในขณะที่อีกหลายพันคนถูกควบคุมตัว
ที่มา:
https://www.irrawaddy.com/news/burma/myanmar-junta-has-right-to-attend-asean-meetings-hun-sen.html
อ่านข่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดในเมียนมา:
‘UN-สหรัฐฯ ประณามกองทัพเมียนมา หลังขับรถชนม็อบต้าน รปห. เสียชีวิต 5 ราย’
https://voicetv.co.th/read/1WFsWD7eE
‘10 เดือนรัฐประหารเมียนมา บทท้าทายมนุษยธรรมไทย’
https://voicetv.co.th/read/FFLaZkXvi