ไม่พบผลการค้นหา
'ป่าน ทะลุฟ้า' เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. หลังทราบว่าถูกออกหมายจับมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 64 คดี 'ม.116-พ.ร.บ.คอมฯ' โดยที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยได้รับหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหา พบแน่งน้อย อัศวกิตติกร เป็นผู้กล่าวหา อ้างเหตุจากการโพสต์ชวนประชาชนออกมาชุมนุมไล่ทรราช

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า กตัญญู หมื่นคำเรือง หรือ 'ป่าน ทะลุฟ้า' ได้เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังทราบว่ามีหมายจับในคดีที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ก่อนพบว่าถูกกล่าวหาจากการโพสต์ชวนเชิญไปร่วมชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้า โดยมี แน่งน้อย อัศวกิตติกร เป็นผู้กล่าวหา ได้ประกันในชั้นสอบสวน วางหลักทรัพย์ 150,000 บาท

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. กตัญญูได้ทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าศาลได้มีการออกหมายจับเธอในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ออกตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 โดยไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน ทำให้เธอนัดหมายเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท.

กตัญญู พร้อมทนายความ ได้เข้าพบตำรวจ โดยเจ้าหน้าที่นำโดย พ.ต.ท.ธนะ ว่องทรง และตำรวจอีก 9 นาย ได้ลงชื่อเป็นผู้จัดทำบันทึกจับกุม โดยอ้างถึงหมายจับออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 16 พ.ย.2564 ใน 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 

  1. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (3) “ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน”
  2. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) “ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา”

คดีนี้มี แน่งน้อย อัศวกิตติกร จาก “ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์” (ศชอ.) เป็นผู้กล่าวหา โดยกล่าวหาว่ากตัญญูเป็นแอดมินของเพจ “ทะลุฟ้า” และได้โพสต์ข้อความ 2 ข้อความ ในช่วงวันที่ 11 และ 12 สิงหาคม 2564 เกี่ยวกับการเชิญชวนไปร่วมการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้า ได้แก่ #ม็อบ11สิงหา “ไล่ทรราช” และ #ม็อบ13สิงหา “ศุกร์13ไล่ล่าทรราช” ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยการชุมนุมทั้งสองครั้ง ผู้ชุมนุมพยายามจะเคลื่อนไปยังบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ 1) ทั้งนี้การชุมนุมครั้งหลังนั้น ยังเกิดสถานการณ์ที่ ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือ “ลูกนัท” ถูกกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ยิงเข้าที่ตา จนตาบอดด้วย

กตัญญูได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ให้การเบื้องต้นในประเด็นต่างๆ ได้แก่

1. ยืนยันว่าการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรองรับไว้ การเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองของตนทุกครั้ง เป็นการเรียกร้องเพื่อให้บ้านเมือง พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เป็นไปตามครรลองของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลเคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ตลอดจนปรับปรุงสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ไม่มีการกระทำอย่างใดที่มีความมุ่งหมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 แต่อย่างใด 

อีกทั้งความผิดตามลักษณะ 1 ของประมวลกฎหมายอาญานี้ ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามมาตรา 135/1 วรรคท้าย ได้บัญญัติไว้โดยแจ้งชัดว่า การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้งหรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ หรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิด

2. ข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินเลยไปกว่าข้อความอันปรากฏอยู่ในข้อกล่าวหานี้ อย่างปราศจากความเป็นจริง

3. พนักงานสอบสวนควรที่จะออกหมายเรียกก่อน โดยที่ตนเคยเดินทางมาติดตามหมายเรียกคดี พร้อมกับทนายความแล้ว เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 แต่ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ บก.ปอท. คนใดให้ความชัดเจนได้ โดยตนได้ขอลงบันทึกประจำวันไว้เพื่อเป็นหลักฐาน แต่ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่รับจดแจ้งบันทึกแจ้งไว้  แต่กลับมีการขอออกหมายจับ การกระทำของเจ้าหน้าที่จึงไม่ชอบธรรมสอดคล้องตามหลักกฎหมาย ทั้งตนก็มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีเหตุที่จะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่นใด จนทำให้ต้องออกหมายจับแต่อย่างใด

นอกจากนั้น กตัญญู และทนายความ ยังขอให้พนักงานสอบสวน เรียกผู้กล่าวหาในคดี มาให้การเพิ่มเติมว่ามีพยานหลักฐานใดที่กล่าวหาตนในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ดังกล่าวต่อไป

จากนั้น พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้อนุญาตให้ประกันตัวกตัญญูในชั้นสอบสวนนี้ โดยไม่ต้องนำตัวไปขอฝากขังต่อศาล แต่ให้ผู้ต้องหาวางหลักประกันเป็นเงิน 150,000 บาท โดยเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ และได้นัดมารายงานตัวกับพนักงานสอบสวนอีกครั้งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.30 น.

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ป่านเคยเดินทางเข้าตรวจสอบหมายจับที่ บก.ปอท เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งติดต่อทางโทรศัพท์ถึง 2 ครั้ง อ้างว่าเธอมีหมายจับในคดีที่ บก.ปอท. แต่ก็พบว่าไม่พบว่ามีหมายจับใด โดยป่านได้ขอลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่าได้มาแสดงตัวแล้ว

จากการถูกกล่าวหาในคดีนี้ ทำให้กตัญญูถูกดำเนินคดีจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองไปแล้วทั้งหมด 11 คดี โดยก่อนหน้านี้ได้ถูกกล่าวหาถึง 6 คดี ที่สน.ดินแดง เหตุจากสถานการณ์การชุมนุม #ทะลุแก๊ส ที่บริเวณดินแดง ซึ่งเธอถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไล่ไปตามวันที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าพบเห็นไปไลฟ์สดในที่ชุมนุม

นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 เธอยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลเดินทางไปพบกับครอบครัวถึงบ้านในจังหวัดน่าน ทั้งที่เธอไม่ได้อาศัยอยู่ โดยมีการกล่าวข่มขู่ให้เข้ามอบตัว และอ้างว่าชื่อเธอยังอยู่ในบัญชี Blacklist ด้วย