แม้ว่าการเดินทางของรัฐบาลประยุทธ์ตลอดปี 2563 จะเต็มไปด้วยการเซาะกร่อนบ่อนทำลายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในระดับที่ความชอบธรรมทางการเมืองถูกทำลายลงสัปดาห์ต่อสัปดาห์ อันเป็นผลจากการชุมนุมของม็อบปลดแอกต่อเนื่องกัน โดยเฉพาะในห้วงครึ่งปีหลัง
ทว่า ถึงที่สุดแล้ว 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ยังคงเป็น 'นายกรัฐมนตรี' ของประเทศต่อไป เหมือนฉายาที่สื่อมวลชนทำเนียบมอบให้ว่า “ตู่ไม่รู้ล้ม”
โดยมีเครือข่ายชนชั้นนำ พร้อมพรั่งด้วย กองทัพ-นายทุน-นักการเมือง โอบอุ้มรัฐนาวาต่อเนื่องไปยังปี 2564
ปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบาย 'คนละครึ่ง' โดนอกโดนใจ กระทั่งฝ่ายที่ไม่ได้ชื่นชอบรัฐบาล ร้านรวง SMEs ที่มีข้อความกำกับอยู่ว่า 'คนละครึ่ง' กลับมาคึกคัก คิวยาว
เมื่อโครงการดังกล่าว ถูกแปะป้ายว่า “ประสบความสำเร็จ” นายกรัฐมนตรี บอกทันทีว่าอยู่เบื้องหลังแนวคิดนี้
"นี่นายกฯ ทำงานอย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องไปคิดข้างล่างเอง ไม่เช่นนั้นจะมีกระทรวงไว้ทำไม ผมบอกทุกอย่าง 1. จ่ายตรงได้จ่าย 2. ถ้าจ่ายตรงไม่ได้ ถ้าใช้งบประมาณสูงก็ต้องจ่ายสมทบ นี่คือหลักการของผม"
จ่ายสมทบ และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้ได้ คือ แนวคิดพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนโยบาย “คนละครึ่ง”
'สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์' รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ขยายความจากนายกรัฐมนตรีต่อ
“คนละครึ่ง เป็นดำริของท่านนายกฯ แต่แรกเริ่ม ให้ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบเรื่องรายได้จากสถานการณ์โควิด ในลักษณะ Co-pay หรือร่วมจ่าย เช่น คนที่เคยมีเงินเดือน 10,000-20,000 บาท ซึ่งอาจถูกลดเงินเดือนหรือชั่วโมงทำงาน รัฐบาลจะช่วยออกค่าใช้จ่ายประจำวันให้ครึ่งหนึ่ง แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อวัน ตัวเลข 150 บาทนี้ มาจากค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ครึ่งหนึ่งคือ 150 บาท
ท่านนายกฯ ยังสั่งการให้ช่วยเหลือพ่อค้า แม่ค้า รถเข็น แผงลอย หาบเร่ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ค้าขายหาเช้ากินค่ำ ให้ได้มีลูกค้า ได้เกิดการจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งกระตุ้นการบริโภคให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
โครงการคนละครึ่ง เหมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นก 3 ตัว คือ ได้ช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน 10 ล้านคน ตอนนี้จะขยายเป็น 15 ล้านคน, ได้ช่วยพ่อค้า-แม่ค้ารายย่อย ร้านค้าเล็กๆ 540,000 กว่ารายที่เข้าร่วมโครงการแล้ว และที่กำลังรอการตรวจสอบอีก เกือบ 160,000 ราย นอกจากนี้ ยังช่วยให้มีเม็ดเงินกระจายลงไปสู่ระดับฐานรากของเศรษฐกิจมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท ในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนที่ผ่านมาด้วย”
ทว่า ยังคงมีข้อวิจารณ์ประการหนึ่งที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตก และลำพังป่าวประกาศว่า มีอีกหลายสิทธิ-หลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอให้คนได้เลือกใช้อยู่ ยังคงไม่ใช่คำตอบที่ดี
ภาพผู้คนแห่กดสิทธิคนละครึ่ง ล้นจำนวนโควต้าที่มี จนมีคำถามพื้นๆ หนึ่งข้อเกิดขึ้นว่า
“เมื่อเป็นเงินจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศอยู่แล้ว เพราะเหตุใด ประชาชนจึงต้องมากดแย่งสิทธิคนละครึ่ง ?”
มีแนวโน้มด้วยว่า มาตรการทำนอง 'คนละครึ่ง' หรือ 'สมทบคนละครึ่ง' จะถูกนำมาใช้อีกบ่อยๆ ในประเทศ เพราะรัฐบาลเห็นว่าตอบโจทย์สถานการณ์เศรษฐกิจเฉพาะหน้า ได้รับความนิยมจากประชาชนล้นหลาม
เปิดมาต้นปีได้เพียงสองวัน แต่มีแนวโน้มต้องปิดเมือง ทำเศรษฐกิจได้รับผลกระทบกันอีกระลอกใหญ่ เป็นโจทย์ระยะยาวว่า หากต้องเอาเงินมาแจกจ่ายในลักษณะนี้บ่อยครั้งเข้า รัฐบาลจะจ่ายไหวหรือไม่ ? จ่ายไปได้นานเพียงใด ?รัฐบาลสามารถคิดค้นหรือคิดวิธี นำภาษีของประชาชนในภาพรวมทั้งประเทศ มากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านวิธีการอื่นๆ ที่คนไม่ต้องยื้อแย่งกันได้หรือไม่ ? และในระหว่างดำเนินมาตรการเฉพาะหน้าเช่นนี้ ได้วางแผนมาตรการระยะยาวใดไว้บ้าง ?
หนึ่งในประโยคที่สามารถใช้อธิบายถึงความเป็นไปของการเมืองไทยในปี 2563 ได้เป็นอย่างดี คือ ประโยคของ “อานนท์ นำภา” ที่ว่า “ไม่มีเพดานใดหลงเหลืออยู่แล้ว”
นั่นก็เพราะข้อเรียกร้องของม็อบปลดแอกได้พังทลายทุกเพดานของประเทศอย่างชนิดที่ในช่วงชีวิตของคนๆ หนึ่งอาจไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน และเมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็อาจคิดไม่เหมือนเดิม ใฝ่ฝันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
แม้ไม่มีเพดานใดหลงเหลืออยู่แล้ว แต่การโต้กลับก็เกิดขึ้นไม่น้อยไปกว่ากัน สะท้อนผ่านแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีที่ประกาศจะใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตรา จัดการกับผู้ชุมนุม เพื่อปกป้องสถาบันอันเป็นที่รักยิ่ง
ที่ต้องไม่ลืมก็คือ เราเดินออกจากปี 2563 ด้วยการดำเนินคดี ม. 112 อย่างน้อย 35 คน หนึ่งในผู้ที่ถูกดำเนินคดีมีอายุเพียง 16 ปี
แม้จากมุมมองของฝ่ายประชาธิปไตย การต่อสู้ในปีที่ผ่านมา ถือว่ายกเพดานได้สำเร็จ แต่สำหรับฝ่ายขวาในไทยแล้ว พวกเขามองต่างออกไป
เหมือนที่ 'หมอวรงค์' แห่งกลุ่มไทยภักดี เขียนสรุปภาพรวมการต่อสู้ของปี 2563 ไว้ว่า
“1. สถาบันพระมหากษัตริย์ ยังแข็งแกร่งดุจหินผา ที่อยู่ในหัวใจของคนไทยทุกคน แม้จะมีความพยายามจ้องทำลายจากกลุ่มที่ไม่หวังดี แต่สถาบันก็มีการปฏิรูปตนเอง ให้อยู่ในหัวใจของประชาชนตลอดไป
2. ความล้มเหลวของม็อบปลดแอก ที่เปิดมาต้องการประชาธิปไตย อ้างเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่พฤติกรรมที่แสดงออกล้วนไม่หวังดี มีแต่ความหยาบถ่อย สุดท้ายไม่รู้จะเป็นสาธารณรัฐ หรือคอมมิวนิสต์ และไม่รู้ว่าจะเป็นสามนิ้วหรือค้อนเคียว และแล้วกำลังแปรสภาพเป็นม็อบรำคาญ
3. การลุกขึ้นมาใส่เสื้อเหลือง ของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ....
4. การล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2560 ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมกัน เพียงเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง แต่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ใดๆ สิ่งนี้น่าจะร้อนแรงขึ้นในปี 2564 แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคำร้องของไทยภักดี แต่ล่าสุด มีผู้รักชาติรักแผ่นดิน ไปยื่นร้องในประเด็นใหม่แล้ว และเชื่อว่าไม่น่าจะล้มล้างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ16.8 ล้านเสียงได้
5. ความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของกลุ่มก้าวหน้า ในการเลือกตั้งอบจ. 42 ต่อ 0 เป็นปรากฏการที่สร้างความยินดีของคนไทยทั้งประเทศ ที่ชี้ให้เห็นว่าเพลงหนักแผ่นดิน มีพลังจริง ไม่คิดว่าจะถูกไล่ทั้งแผ่นดิน กระแสไม่เลือกพวกล้มล้างสถาบันได้ผล”
กลุ่มไทยภักดี ยังประกาศสนับสนุนให้บังคับใช้ ม. 112 อย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนร่วมเก็บหลักฐานดำเนินคดี ต่อผู้เข้าข่ายกระทำความผิดอีกด้วย
กระบวนการโต้กลับ ลุกลามไปยังสถานศึกษา อันเป็นพลังการต่อสู้ที่สำคัญในห้วงเวลานี้ เห็นได้จากการที่กลุ่มไทยภักดี เข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
“1. กระทรวงศึกษา ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนแก่ผู้บริหารทุกระดับ ของโรงเรียนและสถานศึกษา ในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ต้องไม่เปิดโอกาสให้กลุ่มการเมือง และเครือข่ายใช้โรงเรียนและสถานศึกษาในการปลุกระดม จาบจ้วงสถาบันหลักของชาติ
2. กระทรวงศึกษาต้องมีนโยบาย ที่ชัดเจนต่อครูและบุคคลากรทางการศึกษา ในการพิทักษ์สถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะครูหรือบุคคลากรทางการศึกษา ที่มีจิตใจเอนเองสนับสนุนผู้ที่ไม่หวังดี เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ จะเป็นอันตรายต่อความคิดของนักเรียน
3. กระทรวงศึกษาควรมีการปรับปรุงหลักสูตร เพื่อสร้างสำนึกของความภูมิใจในความเป็นชนชาติไทย
4. กระทรวงศึกษาควรมีกิจกรรมรณรงค์ สร้างจิตสำนึกต่อนักเรียน ครู ตลอดจนบุคคลากรทางการศึกษา ให้เห็นถึงความสำคัญ และความเข้าใจที่ถูกต้อง ของสถาบันหลักของชาติ
5. ถ้าหากเกิดกิจกรรมทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ในโรงเรียนหรือสถานศึกษาใด ควรต้องให้ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษานั้น ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ”
เหล่านี้คือรอยต่อสู่ปี 2564 ซึ่งสะท้อนรอยแยกของ “การเมืองคนละโลก” โดยเฉพาะการโต้กลับ เพื่อทำให้ประเทศไทยกลับมามีเพดานที่แข็งแกร่งดังเดิม.