ไม่พบผลการค้นหา
เปิดทรัพยากร 10 ปี กอ.รมน.ทั้งงบประมาณ และจำนวนบุคลากร (เฉพาะบางส่วน) หน่วยงานเดียวที่ใครๆ ก็อยากร่วม เพราะได้นับเวลาราชการทวีคูณ ทำ 1 ได้ 2 ไว้คำนวณเพิ่มบำนาญ

กรณี ส.ต.ท.กรศศิร์ หรือ นุช ที่ทำร้ายร่างกายลูกจ้างอดีตทหารหญิงยาวนาน ไม่ใช่เพียงประเด็นอาชญากรรมธรรมดา ไม่ใช่แค่ประเด็นจริยธรรมอย่างการมีเมียน้อย แต่สะท้อนระบบอุปถัมภ์ของ 'รัฐสภาที่มาจากรัฐประหาร' ตั้งแต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาจนถึง ส.ว.ปัจจุบันที่แต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งอ้างว่า 'สะอาด' กว่า 'สภาผัวเมีย' ที่มาจากการเลือกตั้ง และรังเกียจเหลือเกินกับการใช้เส้นสาย

แม้ไอลอว์เคยรายงานแล้ว ส.ว.อย่างน้อย 50 คนที่ตั้งญาติตัวเองเป็นผู้ช่วยรับเงินเดือนเดือนละหลายหมื่น เรื่องราวยังปูดออกมาอีกว่า มีการใช้เส้นสาย ส.ว. ที่มีความสัมพันธ์กับ ส.ต.ท.หญิงรายนี้ในการฝากเข้าองค์กรตำรวจอย่างกองบังคับการตำรวจสันติบาล และฝากเข้าช่วยงานราชการกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) อีกต่อหนึ่ง

ส่วนที่น่าสนใจก็คือ กอ.รมน.เป็นหน่วยงานเดียวที่ได้รับสิทธิพิเศษให้ได้รับเงินเพิ่มสู้รบ (พสร.) และวันราชการทวีคูณ ซึ่งหมายความว่า ทำงานกับ กอ.รมน.นานเท่าไหร่จะได้รับการนับเพิ่มเป็น 2 เท่า เช่น ทำงานในกอ.รมน.มา 5 ปีก็จะถูกนับเป็น 10 ปี โดยจะมีผลในการคำนวณเงินบำเหน็จบำนาญ 

สิทธิพิเศษนี้เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยที่ฝ่ายความมั่นคงไทยยังต้องสู้รบกับ 'ภัยคอมมิวนิสต์' และมันทำให้ใครๆ ก็อยากเป็น กอ.รมน. ซึ่งเป็นกองกำลังผสมระหว่าง ทหาร-ตำรวจ-พลเรือน 

กอ.รมน.เป็นหน่วยงานที่ได้งบประมาณปีหนึ่งๆ เกือบ 10,000 ล้านบาท มีบุคลากรมหาศาล อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี มีนายกฯ เป็นผู้อำนวยการ, ผบ.ทบ.เป็นรองผู้อำนวยการ, เสนาธิกากองทัพบกเป็นเลขาธิการกองอำนวยการ และยังแบ่งเป็น กอ.รมน.ภาค ซึ่งแม่ทัพภาคเป็นผู้คุม

เมื่อสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ถึงจำนวนบุคลากรของ กอ.รมน.ทั้งหมด ได้คำตอบว่า "ไม่มี" เพราะเป็นหน่วยงานลักษณะพิเศษ 

"เราก็เคยขอตัวเลขบุคลากรกับเขาไปเหมือนกัน แต่ไม่เคยได้รับ" เจ้าหน้าที่ ก.พ.กล่าว 

เมื่อค้นดูรายงานการเงินในเว็บไซต์สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็พบว่า ไม่มีเอกสารรายงานให้เห็น 

แม้ไม่รู้จำนวนแน่ชัดของบุคลากรทั้งหมดของ กอ.รมน. ไม่รู้ว่ามีข้าราชการกี่คนที่ได้นับวันราชการทวีคูณ รัฐต้องจ่ายบำเหน็จบำนาญในส่วนนี้เพิ่มขึ้นเท่าใด แต่สิ่งที่พอสืบทราบได้ก็คือ จำนวนบุคลากรที่ปฏิบัติงานใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า 

กอ.รมน.ภาค 4 ก็เหมือนทัพภาค 4 ซึ่งคุมภาคใต้ทั้งหมด 14 จังหวัด แต่หากเติมคำว่า "ส่วนหน้า" นั่นหมายถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดในโครงสร้าง กอ.รมน. 

ในราชกิจจานุเบกษา จะมีรายละเอียดคำสั่งเกี่ยวกับโครงสร้าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าที่ประกาศไว้ทุกปี บุคลากร 3 ฝ่ายทหาร-ตำรวจ-พลเรือน รวมแล้วอยู่ที่ประมาณปีละ 50,000-70,000 คน โดยมีจำนวนเพิ่มมากที่สุดในช่วงรัฐประหาร รายละเอียดมีดังนี้ 

2554 - 64,272 คน

2555 - 63,247 คน

2556 - 63,247 คน

2557 - 70,487 คน

2558 - 70,738 คน

2559 - 70,075 คน

2560 - 61,604 คน

2561 - 58,547 คน

2562 - 58,547 คน

2563 - 58,547 คน

2564 - 45,501 คน

2565 - 54,101 คน

หากลงรายละเอียดว่าหลายหมื่นคนนั้นอยู่ส่วนใดบ้าง ลองดูจากตัวอย่างปี 2565 จะเป็นดังนี้ 

  • ส่วนบังคับบัญชาและอำนวยการ 770 อัตรา
  • ส่วนพลเรือน 9,453 อัตรา
  • ส่วนปฏิบัติงานด้านการข่าว 623 อัตรา (ส.ต.ท.กรศศิร์ มาช่วยงานในส่วนนี้) 
  • ส่วนกองกำลัง 40,112 อัตรา ***********
  • ส่วนสร้างความเข้าใจ 913 อัตรา
  • ส่วนสนับสนุนการรบและการช่วยรบ 977 อัตรา 
  • ส่วนสนับสนุนการพัฒนา 573 อัตรา 
  • ส่วน ลว.และสนับสนุนการปฏิบัติทางหทาร 680 อัตรา 

ทั้งนี้เมื่อมีกรณีส.ต.ท.กรศศิร์ เราได้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องกำลังคนของ กอ.รมน.อีกนิดหน่อย โดยเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2565 ที่รัฐสภา มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม กมธ. กรณีตรวจสอบประเด็นส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม ระบุว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าได้เรียกคืนสิทธิประโชน์ในส่วนของเบี้ยเสี่ยงภัยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 1.1 แสนบาท ในส่วนบุคลากร กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าให้ข้อมูล กมธ.ว่าปัจจุบันมีอัตรากำลังจร ซึ่งเป็นการช่วยราชการจากส่วนต่างๆ 54,100 นาย แยกเป็นทหาร 29,000 นาย ตำรวจ 15,000 นาย และพลเรือนประมาณ 9,000 คน

ในส่วนของงบประมาณนั้น สำนักงบประมาณระบุว่า กอ.รมน.ได้รับงบดังนี้

2555 - 6,915 ล้านบาท

2556 - 7,980 ล้านบาท

2557 - 8,202 ล้านบาท

2558 - 8,906 ล้านบาท

2559 - 10,201 ล้านบาท

2560 - 6,358 ล้านบาท

2561 - 10,050 ล้านบาท

2562 - 10,240 ล้านบาท

2563 - 9,894 ล้านบาท

2564 - 8,855 ล้านบาท

2565 - 7,765 ล้านบาท

2566 - 7,867 ล้านบาท

กอ.รมน.

ถามว่าหน่วยงานแบบนี้ตั้งขึ้นมาได้ยังไง 

ย้อนกลับไปในช่วงสงครามเย็น 'ภัยคอมมิวนิสต์' ถือเป็นภัยอันดับหนึ่งของประเทศ จึงเกิดหน่วยงานนี้ขึ้นในปี 2508 ในสมัยรัฐบาลถนอม กิตติขจร แต่ใช้ชื่อว่า กองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (บก.ปค.) อยู่ภายใต้คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 มีวัตถุประสงค์ในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต่อมาในปี 2516 ได้เปลี่ยนชื่อให้ดูซอฟท์ลงเป็น กอ.รมน.หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จัดการภัยภายในประเทศโดยเฉพาะ 

หลังสิ้นสุดสงครามเย็น ภัยคอมมิวนิสต์จบลง รัฐบาลชวน หลีกภัย ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ฯ แต่ กอ.รมน.ก็ยังคงอยู่ ภายใต้ 'คำสั่งนายกฯ' กลายเป็นหน่วยงานเล็กๆ เงียบๆ ไม่ค่อยมีบทบาท 

ในงานศึกษาของพวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เรื่องกิจการพลเรือนของทหารในยุคประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้ง:พัฒนาการและความชอบธรรม ระบุว่า ในสมัยนายกฯ ชวน ได้กำหนดให้ กอ.รมน.มีบทบาทช่วยงานในหลายๆ เรื่อง เช่น ยาเสพติด ความมั่นคงชายแดน การข่าว ปฏิบัติการจิตวิทยา ในสมัยนายกฯ ทักษิณ ต้องการให้ กอ.รมน. ลดบทบาทในการจัดการปัญหาภาคใต้ลง และมีบทบาทสนับสนุนการแก้ไขปัญหายาเสพติดมากขึ้น 

กอ.รมน.กลับมาผงาดง้ำอีกรอบหลังการรัฐประหาร 2549 โดย คมช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช.ในยุคนั้นออก พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ศ.2551 ยกระดับ กอ.รมน.จากหน่วยเล็กๆ ตามคำสั่งนายกฯ เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจมาก โครงสร้างใหญ่โต มีงบประมาณและบทบาทสูง โดยกำหนดให้มี กอ.รนม.ในระดับจังหวัดและระดับภาคด้วย 

ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงเอาอำนาจการจัดโครงสร้างกอ.รมน.เอามาใส่ไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ทำให้ 'อาการหนักขึ้น' เพราะตอนที่จัดโครงสร้างภายใต้คำสั่งนายกฯ ตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน เป็นการจัดโครงสร้างแบบเฉพาะกิจ เอาคนมาช่วยราชการ พอมีพ.ร.บ.ความมั่นคง องค์กรอย่างกอ.รมน.ก็กลายเป็นโครงสร้างปกติ และบรรจุอัตราได้ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร 

"แต่ในข้อเท็จจริง ทหารก็ปาเข้าไป 90% แล้ว" ภราดรกล่าว 

จนกระทั่งมาถึงการรัฐประหาร 2557 คสช.ได้ออกคำสั่ง คสช. ที่ 51/2560 ขยายบทบาทและสถานะของ กอ.รมน.อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และมีอำนาจตีความได้เองว่า สิ่งใดคือ 'ภัยคุกคามในศตวรรษที่ 21' 

สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงเคยเขียนบทความไว้ว่า คำสั่ง คสช.นี้ทำให้ กอ.รมน.มีสถานะเป็น 'ผู้ควบคุมงานความมั่นคง' ของประเทศไว้ทั้งหมดและมีลักษณะเป็น 'รัฐซ้อนรัฐ' 

เมื่อถามถึงสิทธิพิเศษอย่าง เวลาราชการทวีคูณ ภราดรตอบว่า 

"จริงๆ แล้วเคยมีหลายหน่วยงานที่นับเวลาราชการทวีคูณ เพราะเมื่อก่อนเป็นการสู้รบป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ แต่ปัจจุบันนี้น่าจะเหลือเพียงเฉพาะกอ.รมน.หน่วยเดียวแล้ว เพราะเผชิญเหตุในภาคใต้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่จะได้ก็ต้องเป็นไปตามสเปคและระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่ตามที่กอ.รมน.กำหนด"

"ส่วนจำนวนคนที่ได้เวลาทวีคูณมีเท่าไหร่ คุณเช็คไม่ได้หรอก เพราะคนคุมคือ กอ.รมน.ซึ่งดีลกับกระทรวงการคลังโดยตรง อย่างกองทัพบกเขาก็จะรู้ยอดคนที่ไปอยู่กอ.รมน.แล้วก็เอาไว้อ้างสิทธิเวลาทวีคูณตอนที่เขาเกษียณได้ 

"ในความเห็นผม พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก เป็นกฎหมายที่ประเทศประชาธิปไตยในโลกนี้เขาก็มีกัน แต่การจัดโครงสร้าง ความเหมาะสมต่อสถานการณ์ก็ต้องว่ากันอีกเรื่อง เมื่อมีกฎหมายความมั่นคงก็ต้องมีกลไกที่จะใช้กฎหมายก็คือ กอ.รมน.แล้วปัญหาความมั่นคงไม่สามารถแก้ได้ด้วยทหารอย่างเดียว ต้องบูรณาการ เพียงแต่ความใหญ่เล็กขององค์กร คือ ฝีมือคนเป็นรัฐบาล ถ้าคุณมีฝีมือดี หน่วยเหล่านี้ก็จะกะทัดรัด และทันสมัย" 

นั่นคือความเห็นจากอดีตเลขาฯ สมช. 

ภารกิจของ กอ.รมน.ถูกเขียนไว้ในเอกสารยุทธศาสตร์ กอ.รมน. พ.ศ. 2560-2564 ครอบคลุมดังนี้

1. การล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ 

2. ความเห็นต่างและความขัดแย้งทางความคิดของคนภายในชาติ 

3. สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

4. ภัยคุกคามไซเบอร์ 

5. ภัยพิบัติทางธรรมชาติ 

6. แรงงานต่างด้าวและผู้หลบหนีเข้าเมือง 

7. การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ 

8. ปัญหายาเสพติด 

9. ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

10. ผลกระทบที่เกิดจากพันธกรณีระหว่างประเทศต่อความมั่นคงภายใน

แต่ใครๆ ก็รู้ว่าเรื่องเด่นคือ การจัดการกับความเคลื่อนไหวทางการเมือง ติดตามนักกิจกรรม นักการเมือง ปิดเว็บไซต์ ใช้ IO ในโซเชียลมีเดียจนมีข่าวว่าถูกเฟซบุ๊กปิดบัญชีไปจำนวนมาก ฯลฯ 

ผลงานกอ.รมน.นั้น 'เลื่องชื่อ' มาตั้งแต่สมัยปราบคอมมิวนิสต์ งานศึกษาของพวงทองชี้ว่า ในช่วงปี 2516-2519 ที่กระแส 'ขวาพิฆาตซ้าย' เข้มข้นรุนแรง เชื่อกันว่า กอ.รมน. เป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังของกลุ่มฝ่ายขวา เช่น นวพล กระทิงแดง อภิรักษ์จักรี (รวมทั้งลูกเสือชาวบ้าน) และ กอ.รมน.ยังเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. ยังเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ฆาตกรรมชาวบ้านนับพันคนในจังหวัดพัทลุงเมื่อปี 2515 หรือที่รู้จักกันในชื่อเหตุการณ์ 'ถีบลงเขา เผาลงถังแดง' และเหตุการณ์สังหารประชาชนและเผาหมู่บ้านที่บ้านนาทราย จังหวัดหนองคายในปี 2517

ส่วน 'ผลงาน' ที่ใกล้เข้ามาหน่อยคือ กรณีการเสียชีวิตของ 'อับดุลเลาะ อีซอมูซอ' ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่หมดสติระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี และเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหตุเกิดเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 แพทย์แจ้งว่าเขามีอาการสมองบวม ซึ่งคาดว่าเกิดจากการขาดอากาศหายใจเป็นเวลานาน ในเวลานั้น พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า แถลงข่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องตั้งแต่การเชิญตัว การควบคุมตัวเพื่อซักถามและ "ยังไม่พบหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่า เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่"

ต่อมาศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายว่าเป็นเพราะสมองบวม ขาดออกซิเจนในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ แต่ในส่วนพฤติการณ์ที่ทำให้ตายนั้นไม่รู้สาเหตุ เนื่องจากพยานหลักฐานที่มีอยู่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ ขณะที่ทนายความผู้ตายระบุว่า การที่หลักฐานในคดีออกมาได้แค่นี้ก็เนื่องจากทีมทนายเข้าไม่ถึงข้อมูลหลักฐานต่างๆ เพราะเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ