พยานทั้งภาพและเสียงไม่อาจปฏิเสธ
การไล่ล่าปราบปรามผู้ชุมนุมของชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ล้ำเส้นเลยเถิดกลายเป็นเรื่องสนุกมือ ราวกับกระสุนยางที่เจ้าหน้าที่เดินเรียงหน้ากระดานยิงนั้นไม่เคยหมด
เสียงเจ้าหน้าที่บอกกับสื่อหลังพยายามกันสื่อให้ออกนอกพื้นที่ก่อนลุยสลาย ตราตรึงไปทั้งสังคมไทย
หลังเป็นข่าวครึกโครม แทนที่จะปรับตัว เปลี่ยนยุทธวิธี รอยจ้ำห้อเลือดจากกระสุนยางยังคงปรากฏกับผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธ ลามไปแม้กระทั่งสื่อเองก็ไม่รอด
แต่ไม่รอด ใช่จะหงอ วันรุ่งขึ้น พวกเขาออกไปใหม่ ไปในนามวิญญาณสื่ออิสระ-ไม่มีสังกัดออกคำสั่ง พวกเขาสั่งตัวเองออกไปบันทึกภาพ
‘ไผ่ เพนกวิน อานนท์’ และเพื่อนๆ หลายคนยังอยู่ในคุก เพื่อนพ้องน้องพี่ในนามกลุ่ม ‘ทะลุฟ้า’ นัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ไม่ทันจะได้อ่านแถลงการณ์ประณามรัฐเผด็จการ-เรียกร้องปล่อยตัวนักกิจกรรม คฝ. พร้อมอาวุธก็เดินเข้ามาบีบกดดันให้ยุติชุมนุม
หนุ่มสาวหัวร้อนเขวี้ยงหินออกไประบายความแค้น แต่ถูกสวนกลับด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนยางทันที
“วันนั้นเราไปถ่ายม็อบปกติ แล้วเขาสลายเร็ว เราตกใจอยู่ช็อตแรก เขาเริ่มล้อมเข้ามา และวิ่งไล่ไปทางเกาะพญาไท เรายืนถือกล้องอยู่และมั่นใจว่าจะปลอดภัยแน่ๆ เพราะเขาคงจะมองเราเป็นสื่อ เขาจะไม่ทำอะไร”
ไลลา ตาเฮ ช่างภาพอิสระ บอกว่าชอบถ่ายท่าทางของคน กำลังแพนกล้องตาม คฝ. ที่กำลังวิ่งไล่มวลชน วินาทีนั้นเธอคิดว่า คฝ. จะวิ่งผ่านเธอไป
เปล่า, เธอถูกคนในเครื่องแบบใช้กระบองตีเข้าที่เลนส์กล้องจนฟีลเตอร์แตกเสียหาย
“สักพักคนที่ตีเราเขาก็ไปจับคนอื่นต่อ เรายืนตกใจอยู่ ข้างหน้าก็มี คฝ. ที่มาลุมจับคน จังหวะที่ป้าเป้าโดนจับ เพราะป้าเป้ามาช่วยผู้ชายคนนั้นเราก็ไปถ่ายคนที่ถูกจับไปกับเลนส์แตกๆ”
ไม่ใช่ครั้งแรกที่ คฝ. กร้าวกับประชาชน วันที่มวลชนตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าหน้าทำเนียบรัฐบาลและถูกสลาย ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระอีกคนอยู่ตรงนั้น ทำงานปะปนอยู่ในกลุ่มสื่อมวลชนที่รอจังหวะช็อตเด็ด-มวลชนกำลังนอนชูสามนิ้วอารยะขัดขืน
“ผมถ่ายรูปตำรวจตอนตำรวจเดินแนวเข้ามา เจอตำรวจใช้ปืนลูกซองยกชี้หน้าแล้วก็สั่งว่า มึงหยุดถ่ายเดี๋ยวนี้ หยุดถ่าย บอกให้หยุดถ่าย”
ไม่ไกลกับที่ณัฐพลเจอปืนชี้หน้า ปาณิศา เขื่อนเพชร ช่างภาพอิสระสายวิดีโอก็อยู่ตรงนั้น
“คิดในใจว่าถ้าเราไม่มีกล้องมา เราคงนอนกับเขาไปแล้ว ใจคือจับก็จับ เดี๋ยวกูติดคุกไปด้วยเลย แต่อีกใจก็เฮ้ย ถ่ายไว้ดีกว่าไหม คฝ. เดินเข้ามาล้อม มีอะไรบางอย่างมากระทบที่หัวเรา เดาว่าน่าจะเป็นกระบอง เขาให้เราลุกขึ้น ตะคอกใส่ “สื่อลุก” ตอนนั้นคิดในใจ แม่ง... แล้วก็ถ่ายต่อ”
ไลลา ตาเฮ ช่างภาพอิสระ
ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระ
ปาณิศา เขื่อนเพชร ช่างภาพอิสระ
ยิ่งล่วงผ่านยิ่งไร้บทเรียน ไม่เพียงแค่ฟีลเตอร์เลนส์กล้องแตก แต่ผู้รับผิดชอบยังเงียบงัน-ปล่อยปละให้ความรุนแรงลุกลาม
ถามถึงแวดวงวิชาชีพสื่อ ? – ก็เหมือนอยู่ในป่าช้า
ไลลาตั้งคำถาม “อยากรู้ว่าทำไมเขาถึงหวดเรา เขามองเราว่าไม่ใช่สื่อ หรือมองเราว่าถึงเป็นสื่อ แต่ผมก็มีสิทธิ์ที่จะทำคุณนะ ในเมื่อคุณอาจจะทำให้ผมเสียภาพลักษณ์ เขาอาจจะกลัวภาพลักษณ์เขาหรือเปล่า”
ในทัศนะของช่างภาพสาวที่ไม่มีปลอกแขน ไม่มีบัตรยืนยันแสดงตัวตนเหมือนสื่อมวลชนอาชีพ เธอบอกว่า ตำรวจก็คงคิดเหมือนคนทั่วๆ ไป ที่สื่อต้องมีป้ายสำนัก เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ได้อยู่ในขนบนี้ ทุกคนก็ไม่ใช่สื่อ
“ถ้าแบบนี้เขามีสิทธิ์จะทำอะไรก็ได้เหรอ ตำรวจจะละเมิดง่ายขึ้นเหรอ เหมือนกับทำคนทั่วๆ ไป จะไปจับคนก็ไม่จับธรรมดา ก็ไปตี ไปเตะเขาก่อน”
พอพูดถึงการมีสังกัด ช่างภาพหนุ่มเล่าว่าเขาเคยโดนตำรวจที่ถือลำโพงทำหน้าที่ประกาศในที่ชุมนุม เดินมาบอกว่า “ถ้าผู้ชุมนุมไม่หยุดยั่วยุตำรวจ กูจะจับมึง” ช่างภาพยืนยันว่าไม่เกี่ยว เขาเป็นสื่อ ตำรวจสวนกลับ “คุณไม่ใช่สื่อ คุณไม่มีปลอกแขน คุณไม่มีบัตร”
ณัฐพลเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ รับงานทั่วไป ถ่ายคอนเสิร์ต ถ่ายกีฬา ความที่ชอบงานสารคดีเป็นทุนเดิม พอมีม็อบ เขาอยากบันทึกภาพฝั่งผู้ชุมนุมบ้าง
“จริงๆ ไม่ได้เงิน แพสชั่นล้วนๆ ผมลงมาถ่ายม็อบแรกๆ ไม่มีป้ายสื่ออะไรทั้งนั้น ก็แค่พยายามวางตัวเป็นกลาง แล้วทำหน้าที่ไป”
ไม่ต่างจากปาณิศา ที่เข้าไปบันทึกภาพโดยไม่มีใครจ้าง นอกจากอยากเข้าร่วมชุมนุมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ เธออยากบันทึกเหตุการณ์ไว้ด้วย
เธอบอกถึงวิธีการทำงานในการไปอยู่จุดนั้นๆ ว่าเธอเป็นแค่ประชาชนคนหนึ่ง ไม่ได้มองตัวเองเป็นสื่อ เธออยากถ่ายภาพในจุดนั้น เพราะแค่รู้สึกว่าเป็นประชาชนคนหนึ่งที่ยืนอยู่ตรงนั้น
“ถ้าผ่านไปหลายๆ ปี กลับมาดู มันน่าจะมีคุณค่ามากๆ ว่าตอนนี้มันเคยเกิดขึ้น อย่างวันนี้ปีที่แล้วก็มีม็อบ เราเกือบจะลืมไปแล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่มีรูปถ่ายหรือฟุตเทจเก็บไว้ เราก็คงลืมไปแล้วว่าสังคมตอนนั้น โอ้โห เหี้ยยังไงหรือดียังไง
ช่างภาพอิสระไม่ได้ถูกท้าทายแค่ความรุนแรงที่หันซ้ายก็เจอแก๊สน้ำตา หันขวาเจอกระสุนยาง แต่ถูกแถมขนาบข้างมาพร้อมกับแรงบีบจากสื่ออาชีพด้วยกันอง
ไลลาสะท้อนว่า ในสนาม ถ้าสื่อหลักเห็นเธอไปถ่าย “บางทีเขาก็บอก เฮ้ย คุณยังไม่พร้อม คุณเข้ามาได้ยังไง”
แต่ก็อีกนั่นแหละ สำหรับไลลา “ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีใครบอกเราเลยว่าความพร้อมคืออะไร เราต้องทำยังไงกับสถานการณ์นี้ เพราะเราเกิดมาเราก็เจอกับสถานการณ์นี้เลย
“การออกไปถ่ายรูปครั้งแรกของเราก็เจอกับกระสุนยาง เจอแก๊สน้ำตาเลย ไม่มีเคยใครมาบอกมาสอน เหมือนเราออกไปเจอเอง ต้องอาศัยสะสมประสบการณ์มาเรื่อยๆ
และหลายครั้งที่เธอมักถูกด้อยค่าให้เป็นเพียงแค่ผู้ชุมนุม
ข้อกล่าวหานี้ ไลลาอธิบายว่าในขบวนหนึ่งขบวนของม็อบ มีคนที่ทำหน้าที่หลายหน้าที่ บางคนเป็นแกนนำ เป็นเป็นการ์ด เป็นผู้ปฏิบัติการและบางคนเป็นสื่อ แต่ละคนมีหน้าที่ของเขา เขาจะโฟกัสหน้าที่ตัวเอง
“ส่วนเราอาจจะเป็นผู้ชุมนุมหรือเป็นผู้สังเกตการณ์ที่มีอีกขาหนึ่งเป็นสื่อ เราก็จะโฟกัสแค่หน้าที่สื่อของเรา เราก็ไม่ได้ไปโฟกัสที่การช่วยเขาขว้างขวดน้ำ เรามีแค่กล้องถ่ายรูปกับปฏิกิริยาที่ต้องการแค่ภาพถ่าย เราไม่ได้ต้องการอะไรอย่างอื่น”
แรงบีบเดียวกับที่ไลลาเจอ ณัฐพลสะท้อนว่า ทุกวันนี้การผูกขาดด้วยสื่อหลักที่มีสมาคมฯ คุ้มครองอยู่อีกที ทำให้หลายๆ เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทำความรุนแรง ภาพตรงนั้นกลับไม่สามารถเผยแพร่ออกไปได้
“ถ้าทุกคนสามารถถ่ายรูปได้ เหตุการณ์หลายๆ อย่างที่สื่อหลักเองไม่สามารถเผยแพร่ มันจะออกมาในโลกโซเชียลมากขึ้น ทำให้คนเห็นมากขึ้น โดยที่เราไม่ต้องไปสนใจว่าสมาคมฯ จะโอเคหรือไม่โอเค
จากสายตาของคนหนุ่มสาว-ช่างภาพอิสระที่ลงสนามเผชิญความรุนแรงด้วยตัวเอง เป็นอีกเหตุผลที่ช่วยตั้งคำถามว่าถ้าสื่ออาชีพตรวจสอบอำนาจรัฐมากพอ ประชาชนคงไม่จำเป็นต้องถ่ายรูปเอง
แบบที่ปาณิศาว่า “พอคุณถือวิชาชีพปุ๊บ คุณต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพ รักษามาตรฐาน แต่ถามว่าคนที่เถียงว่าคนอื่นไม่ใช่สื่อเนี่ย ต้องกลับมาถามตัวเองว่าตัวเองใช่ไหม
“จริงๆ ที่ตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ที่สื่อทำงาน เพราะเราไปดูด้วยว่าช่องไหนมันมาบ่อย ช่องไหนมันไม่มาเลย บางช่องมึงมา พอเขารุนแรงกัน มึงก็ถ่ายแป็บนึงแล้วก็ขับรถออกไป”
ไม่ต้องให้สมาคมสื่อหรือตำรวจรับรองว่าใครควรได้รับสิทธิ์ถ่ายภาพในที่ชุมนุม วิญญูชนก็ตระหนักเองได้ว่าสิทธิเสรีภาพไม่มีสังกัด แต่อยู่ในเนื้อในตัวของทุกคน
ไลลาบอกว่า เราต้องยืนยันในการเป็นสื่อประชาชน อย่างน้อยสื่อหลักที่มักอ้างจรรยาบรรณก็ไม่ได้แปลว่าจะมีจรรยาบรรณเสนอภาพความจริงเสมอไป หลายต่อหลายครั้งก็เลือกปกปิดความจริง และไปเอาใจผู้มีอำนาจด้วยซ้ำ
“ผมคาดหวังให้ในม็อบมันปลอดภัย ทุกคนกล้าที่จะโทรศัพท์ขึ้นมาถ่าย เพราะทุกวันนี้ไม่ใช่แค่สื่อหลักอย่างเดียวที่จะรายงานข้อเท็จจริงได้ครอบคลุม หลายเหตุการณ์ก็มาจากโทรศัพท์ของคนที่อยู่ในม็อบถ่ายแล้วมาประติดประต่อเป็นความจริงร่วมกัน” ณัฐพลให้ภาพชัด
ไม่ต่างจากปาณิศา ที่ยืนยันว่าเป็นเพียงประชาชน “ทุกครั้ง ไม่ว่าเราจะถือกล้องหรือไม่ถือกล้อง คุณไม่มีสิทธิละเมิด เพราะการชุมนุมเป็นสิทธิของเรา”
มองข้ามความรุนแรงเบื้องหน้า ปาณิศาคาดหวังว่าทั้งฝ่ายรัฐบาล รวมถึงสื่อจะเข้าใจสิทธิมนุษยชนร่วมกัน
เป็นไปได้ไหม เมื่อถึงวันนั้น คำว่า “ขอให้พวกพี่สนุกหน่อย” จะไม่หลุดจากปากใครง่ายๆ
สภาพหน้าเลนส์ของไลลาที่แตกละเอียด หลังถูก คฝ. ตีเมื่อวันที่ 11 ส.ค.2564
ผลงานภาพของไลลา เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2564 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กิจกรรมจัดโดยกลุ่มทะลุฟ้า #ม็อบ11สิงหาไล่ล่าทรราช ชายในภาพถูก คฝ. จับที่เกาะพญาไท
ผลงานภาพของไลลา เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2564 บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้โรงพยาบาลทหารผ่านศึก โดยกลุ่ม REDEM นัดเดินจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปกรมทหารราบ 1
ผลงานภาพของณัฐพล ถ่ายระหว่างกลุ่มแพทย์อาสา DNA โดน คฝ. รุมกระทืบจนหมดสติ บริเวณสะพานผ่านพิภพลีลา สนามหลวง เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 64
ผลงานภาพของณัฐพล ขณะตำรวจใช้ปืนลูกซองชี้หน้า แล้วสั่งให้หยุดถ่ายรูป หลังจากการสลายของหมู่บ้านทะลุฟ้า เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2564
ผลงานภาพของณัฐพล ขณะเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของชาวเมียนมา หน้าสถานทูตเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564
ผลงานภาพจากคลิปวิดีโอของปาณิศา ขณะตำรวจเข้าสลายการชุมนุม ระหว่างมวลชนทำอารยะขัดขืนในกิจกรรมหมู่บ้านทะลุฟ้า เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2564
ผลงานภาพของปาณิศา ระหว่างกิจกรรมของเยาวชนที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2563
ผลงานภาพของปาณิศา ระหว่างกิจกรรมของมวลชนเรียกร้องประชาธิปไตย ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2563
ภาพพรอทเทรตโดย ณปกรณ์ ชื่นตา