ไม่พบผลการค้นหา
‘ชลน่าน’ ยืนยันนโยบายสาธารณสุขมีเอกภาพ เปลี่ยนจากกระทรวงขอเงิน สู่กระทรวงสร้างรายได้ แต่ไม่กระทบบริการประชาชน ลั่นใน 100 วันแรก เขตสุขภาพนำร่องใช้บัตร ปชช. ใบเดียว เชื่อมโยงข้อมูลครบวงจร

วันที่ 12 ก.ย. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่ 2 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย โดยมี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลุกขึ้นชี้แจงเป็นครั้งแรก ในประเด็นนโยบายด้านสุขภาพที่กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบ ตามที่สมาชิกได้มีข้อซักถามหรือเสนอแนะ ว่านโนบายกระจายอำนาจระบบสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมถึงนโยบายด้านชีวภิบาล หรือการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ตลอดจนเรื่องน้ำสะอาด และความมั่นคงด้านวัคซีน นโยบาย 50 เขต 50 สถานอนามัย

สำหรับนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวเนื่องกับกระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มนำเอานโยบายของรัฐบาลที่เป็นภาพกว้าง แปรไปสู่นโยบายของกระทรวง ประจำปี 2567 เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และจะมีการประกาศนโยบายดังกล่าวให้ข้าราชการกระทรวงในวันที่ 22 ก.ย. มีกระบวนการจัดทำภายใต้กรอบ 5 ด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ ผลลัพธ์สุขภาพเปรียบเทียบกับดัชนีระดับภูมิภาคอาเซียน ความต้องการของประชาชน ภาพอนาคต และนโยบายด้านสาธารณสุขของพรรคการเมือง

“ให้ความมั่นใจกับท่านสมาชิกที่เคารพว่า สิ่งที่ห่วงใย หลวมเกินไป ไม่มีทิศทาง ไม่มีเป้าหมาย ถ้าท่านได้เห็นนโยบายในระดับกระทรวงแล้ว ท่านได้โปรดมั่นใจ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขที่ผมกำกับดูแลอยู่”

นพ.ชลน่าน ชี้ว่า กระทรวงสาธารณสุขในภาพเดิม เป็นกระทรวงขอเงินจากรัฐบาลไปให้บริการประชาชน แต่กระทรวงสาธารณสุขยุคใหม่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศ ถือเป็นกระทรวงเศรษฐกิจกระทรวงหนึ่ง แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือ ขาดองค์กรหรือหน่วยงานที่มารับผิดชอบในเชิงรวม การบริการต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย 

“นิยามของสุขภาพดี คือมีสุขภาวะที่สมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกาย ทั้งทางจิตใจ ทางปัญญา และทางสังคม ต้องครบทั้ง 4 ด้าน ปัญหาที่เราเจอและทำให้คนไทยได้รับผลกระทบมาก คือสุขภาพทางปัญญาไม่ถึงพร้อม โกรธกันก็ด่ากัน แม้ในสภาแห่งนี้ก็เกิด ไม่ชอบใจกันก็ยิงหัวกัน และสภาวะทางสังคมที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพ”

ด้วยเหตุนี้ นพ.ชลน่าน จึงเสนอให้มีกรรมการชุดหนึ่งเพื่อเชื่อมโยงประสานร่วมกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งแยกจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ดูแลด้านยุทธศาสตร์และนโยบาย 

สำหรับการกระจายอำนาจให้มีเขตสุขภาพ รัฐบาลให้ความสำคัญไปที่การดูแลประชาชนให้ดีที่สุด และจะทำการกระจายอำนาจให้ดีขึ้น ขณะที่ Medical Hub ซึ่งสมาชิกเป็นห่วงว่าอาจดูแลสุขภาพได้ไม่ทั่วถึง กระทบกับการบริการคนภายใน ภายใต้ฐานคิดเดิมอาจเป็นแบบนั้น แต่หลักนโยบายของพรรคเพื่อไทย ให้ความสำคัญกับความทั่วถึงเป็นธรรม ใช้บัตรประชาชนใบเดียว เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันโดยตลอด

“เมื่อเราเปิดให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงหาเงินเข้าประเทศแล้ว จะไม่กระทบรบกวนกับประชาชน และเรามั่นใจว่า เม็ดเงินที่เข้าสู่ระบบ จะมาช่วยผลักดันและต่อเติมให้การดูแลประชาชนดียิ่งขึ้น” นพ.ชลน่าน กล่าว

นพ.ชลน่าน ยอมรับว่า การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปอยู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บางแห่งมีปัญหาจริง แต่ต่อไปจะมีการลงพื้นที่ไปตรวจดูคุณภาพของการบริการในระดับปฐมภูมิ เพื่อให้การรักษาไม่ต้องมาถึงโรงพยาบาลระดับที่ 2 หรือ 3

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังมุ่งจะทำให้โรงพยาบาลทั้งสังกัดภาครัฐและเอกชน เป็นโรงพยาบาลของประชาชนที่สามารถเข้าถึงได้ทุกแห่ง ภายใต้ค่าบริการที่ตอบแทนโรงพยาบาลได้ จะช่วยแก้ปัญหาบุคลากรไหลออก อีกทั้งการจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ก็ทำด้วยความเป็นธรรม

ขณะที่โครงการ 50 เขตสุขภาพ บางแห่งอาจใช้การเสริมสถานบริการที่มีอยู่ แต่บางแห่งก็จำเป็นต้องสร้างใหม่จริงๆ โดยกล้าประกาศว่า เป็นโครงการนำร่องเพื่อเอาฤกษ์เอาชัย ให้การเข้าถึงสถานบริการทั่วทุกแห่งในกรุงเทพฯ พร้อมทั้งปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และผู้เกิดใหม่น้อย กระทรวงสาธารณสุขต้องเข้าไปดูแลเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์เป็นวาระแห่งชาติ ต้องเลิกความคิดว่าลูกมากจะยากจน หากไทยไม่เพิ่มฐานประชากร จะไม่สามารถแข่งกับใครได้

“โครงการที่ประกาศ Quick Win ในหลายเรื่อง เช่น บัตรประชาชนใบเดียว ผมเข้าไปรับงานภายใน 100 วันแรกแล้วประกาศได้เลย เราจะมีเขตสุขภาพเขตหนึ่งที่สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียว เหมือนนโยบายของเราได้ เพื่อนำร่องให้ประชาชนได้เห็น และเพื่อให้จังหวัดอื่น เขตอื่น มีแนวทางไปสู่การปฏิบัติ” นพ.ชลน่าน กล่าว