นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ คณะทำงานนโยบายด้านเศรษฐกิจพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (2 ก.พ.) มีโอกาสลงพื้นที่เยี่ยม กลุ่มสตรีทอผ้าไหม ต.เนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาท พบว่ากลุ่มสตรีที่นั่นเดิมพัฒนาการทอผ้าซิ่นลาวทอมือลายดอกมะขามยกช่อ ซึ่งได้รับการจดลิขสิทธิ์เป็นสินค้าเอกลักษณ์ของ จ.ชัยนาท ผ่านการส่งเสริมนโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จ.ชัยนาท ที่ช่วยเหลือกลุ่มสตรีนี้ด้วยการสนับสนุนแหล่งทุน ทำให้กลุ่มสตรีมีเงินทุนหมุนเวียน ขายได้ทั่วโลกผ่านเฟซบุ๊ก แต่ในยุค คสช.พบว่า 5 ปีที่ผ่านมามีประเด็นสำคัญ 3 เรื่องคือ 1.รัฐบาล คสช.รวบอำนาจการบริหารจัดการกองทุนไว้ที่ส่วนกลาง ลดทอนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และเครือข่ายสตรี ไม่ได้ปล่อยให้ชาวบ้านบริหารจัดการกันเองเหมือนกองทุนหมู่บ้าน
2.ลดทอนความสำคัญของกองทุนฯ จากเดิมที่เคยอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักนายกฯ ขณะนี้อยู่ภายใต้การดูแลของกรมพัฒนาชุมชน งบประมาณจากเดิม 7,700 ล้านบาทเหลือเพียง 1,800 ล้านบาท และ 3.ตัดแต่งพันธุกรรม โดยปัจจุบันเน้นการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กลุ่มสตรีเพื่อการสร้างรายได้เพียงอย่างเดียว
"กองทุนสตรีฯ เดิมถูกริเริ่มขึ้นเพื่อต้องการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศ ให้ผู้หญิงเป็นกำลังสำคัญ สามารถเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับผู้ชายได้อย่างเท่าเทียม การที่รัฐบาล คสช.รวบอำนาจ ลดทอนบทบาท และตัดแต่งพันธุกรรมกองทุนสตรีฯ จึงเป็นเสมือนการลิดรอนสิทธิและโอกาสที่ผู้หญิงจะสามารถลืมตาอ้าปากและหลุดพ้นจากปัญหาสังคมได้ เพียงเพราะนโยบายนี้ถูกริเริ่มมาจากผู้หญิงที่คสช.ยึดอำนาจมาเท่านั้น แต่ที่รัฐบาล คสช.ผิดพลาดที่สุดคือ การบริหารงานจนเศรษฐกิจประเทศตกอยู่ในภาวะรวยกระจุก จนกระจาย แม้ประชาชนจะเข้าถึงกู้เงินดอกเบี้ยต่ำได้ ถ้าเศรษฐกิจโดยรวมไม่ดี ทำมาค้าขายไม่ขึ้น ประชาชนก็ไม่มีรายได้กลับมาใช้คืนเงินกู้" น.ส.ชยิกากล่าว
นอกจากนี้ น.ส.ชยิกา ยังได้กล่าวอีกด้วยว่า พรรคไทยรักษาชาติมีแนวคิดที่จะฟื้นกองทุนสตรีฯ ให้กลับมาเป็นกองทุนพัฒนาสตรี โดยสตรีเพื่อสตรีอีกครั้งต่อยอดให้สามารถพัฒนาภาวะผู้นำ และแก้ไขปัญหาสตรีด้วยทักษะของศตวรรษที่ 21 และทักษะยุคดิจิทัล พร้อมด้วยการยกระดับกองทุนให้มีกฎหมายรองรับ และประชาชนสามารถมีส่วนรวมได้อย่างกว้างขวางอีกครั้ง เพราะการพัฒนาศักยภาพสตรีที่เป็นประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศให้มีศักยภาพจะส่งผลให้ประเทศมีรายได้มากขึ้นตามไปด้วย