ไม่พบผลการค้นหา
สำรวจความท้าทายของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีปี 2019 ทั้งเรื่องข้อมูลผู้ใช้งานรั่วไหล ความไม่เป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ ตลอดจนสงครามระหว่างประเทศที่มีตัวตายตัวแทนเป็นบริษัทไอทียักษ์ใหญ่

ปี 2018 ที่ผ่านมา โลกถกเถียงกันกว้างขวางเกี่ยวกับการใช้งานโลกออนไลน์ ทั้งเรื่องความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และสงครามไซเบอร์ ที่หลายสำนักข่าวต่างคอยแสดงความกังวลใจออกมาเป็นระลอกๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อมูลผู้ใช้งานรั่วไหล หรืออัลกอริธึมของแอปพลิเคชั่นล่วงล้ำมารู้เห็นประวัติการใช้งานมากเกินความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม ผู้คร่ำหวอดในแวดวงเทคโนโลยียังคงเชื่อกันว่า ปี 2019 นี้ สถานการณ์ร้ายๆ อาจไม่คลีคลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นสักเท่าไหร่ เผลอๆ จะยิ่งแย่กว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ จนกลายเป็นยูเซอร์เองนั่นแหละที่ต้องมารับกรรมไป

Delete Facebook

ความเป็นส่วนตัวที่ไม่ส่วนตัว

แม้ว่าปีที่แล้ว สหภาพยุโรปจะออกกฎหมายรักษาความปลอดภัยพื้นฐานบนโลกไซเบอร์ให้พลเมือง หรือ General Data Protection Regulation (G.D.P.R) ทำให้บริษัทไอทีขนาดใหญ่ทั่วโลกต้องปรับกฎ และเปลี่ยนแปลงตัวกันขนานใหญ่ เพื่อไม่ให้ละเมิดความเป็นส่วนตัวของชาวยุโรป

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกประเทศที่มีกฎหมายอะไรแบบนี้ออกมา แน่นอนว่า ‘ส่วนใหญ่’ ไม่มี! ไม่ว่าจะสหรัฐอเมริกา ประเทศบ้านเกิดของหลายแอปฯ ยอดฮิตของโลก หรือประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ

ประเด็นความปลอดภัยของผู้ใช้งานบนโลกออนไลน์ เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้น และแม้จะมีข่าวออกมาว่า โทรศัพท์เราสามารถโดนมอนิเตอร์ได้ ธุรกรรมการเงินของเราอาจจะถูกขายเป็นข้อมูล หรือข้อความในเมสเสนเจอร์ของเราอาจจะถูกแอบอ่านโดยเจ้าของแพล็ตฟอร์มได้ แต่ก็ยังมีน้อยประเทศนักที่จะใส่ใจกับการวางมาตรการตรงนี้

กระทั่งผู้ใช้งานเองก็เช่นกัน แม้ว่าจะมีฟังก์ชั่นให้ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวได้ สามารถลบอีเมล หรือข้อความเก่าทิ้งไปได้ เพื่อไม่ให้ข้อมูลการใช้งานของเราถูกดึงไปขาย หรือใช้ในเชิงมาร์เก็ตติ้ง แต่หลายๆ คนก็เพิกเฉย และเมินที่จะอ่านข้อกำหนด

ทางออกที่ง่ายที่สุดคือ การลบแอปฯ ต่างๆ ไม่ใช้เสียเลย แต่นั่นก็ไม่ใช่ไอเดียที่ดี เพราะว่ามือถือกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปเสียแล้ว การลบแอปฯ จึงเท่ากับการสูญเสียส่วนหนึ่งชีวิตประจำวันไป สู้ยอมเสียความเป็นส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ ดูง่ายกว่าเป็นเท่าตัว

glen-carrie-773789-unsplash.jpg

ข้อมูลรั่วไหลจะยังมีภาคต่อ

ปี 2018 หลายข่าวดังของโลกตกเป็นเรื่องของข้อมูลที่รั่วไหลจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ๆ ไม่ว่าจะกูเกิล+ หรือเฟซบุ๊กที่ถูกแฮ็กข้อมูลผู้ใช้งานไปเกือบ 60 ล้านราย โดยมีทั้งข่าวคาวๆ ที่บอกว่า ผู้พัฒนาร่วมของเฟซบุ๊กสามารถเข้าถึงภาพที่ผู้ใช้งานอัพโหลด ทว่าไม่ได้โพสต์ และบริษัทวิจัยรายใหญ่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ว่ากันว่า ถูกนำไปวิเคราะห์แคมเปญหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปลายปี 2016 ที่ผ่านมา

การแฮ็กข้อมูล ยังลามไปในอุตสาหกรรมโรงแรมด้วย อย่างโรงแรมเครือแมรีออทก็ออกมายอมรับว่า ข้อมูลลูกค้ากว่า 500 ล้านคนถูกดึงออกไป โดยเป็นข้อมูลที่ทางโรงแรมให้ลูกค้าลงทะเบียนไว้ตอนเช็กอิน ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ หรือข้อมูลบัตรเครดิต

ปีที่ผ่านมา หลายเคสที่รั่วไหลไม่ชัดเจนว่าเกิดจากระบบความปลอดภัยที่อ่อน หรือเป็นเพราะความประมาทขององค์กรตั้งแต่แรก เคสของแมรีออทยังอาจจะพอกล้อมแกล้มยอมรับได้ (บ้าง) แต่ไม่ใช่กับกรณีเฟซบุ๊ก และกูเกิลที่ขึ้นชื่อว่ามีทีมความปลอดภัยไซเบอร์ที่ดีที่สุดในโลก

หลายฝ่ายมองว่า ปัญหาการรั่วไหลที่เกิดขึ้นนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทลงโทษต่อบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ยังไม่แข็งแรงพอ และปีนี้ก็คงยังต้องรับมือกับข่าวข้อมูลรั่วไหล ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป

แน่นอนว่า ถ้าเกิดซ้ำกันไปเรื่อยๆ มีสิทธิ์ที่ภาวะการรั่วไหลของข้อมูลนี้จะสามัญเหมือนกับปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลบัตรเครดิตที่ทำให้เกิดการฉ้อโกงเกิดขึ้นโดยง่าย

Untitled-2.jpg

สงครามไซเบอร์ทั้งออฟไลน์-ออนไลน์

สงครามโลกยุคใหม่ ไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือสงครามเย็นอีกต่อไป แต่เป็นสงครามที่ใช้ตัวแทนเป็นบริษัทไอที และมีสนามรบคือ ซิลิคอนวัลลีย์

เมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ และจีน ต่างใช้บริษัทไอทีของอีกฝ่าย ที่ทำรายได้เข้าประเทศบ้านเกิดมหาศาล เป็นตัวต่อรองในเกมการเมืองระดับโลก

สหรัฐฯ แบนขายหัวเว่ย จีนก็แบนขายแอปเปิ้ล หรือการตอบโต้ด้วยกำแพงภาษีของ 2 ชาติ

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังมีศึกสงครามข่าวปลอมกับรัสเซีย หลังจากที่มีการสืบสวนว่า รัฐเซียปล่อยข้อมูลเท็จออกมาระหว่างช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปลายปี 2016 และรัฐบาลสหรัฐฯ เองก็โดนแฮ็กเกอร์ผู้ไม่ประสงค์ดี แฮ็กระบบราชการ เพื่อเข้าถึงอีเมลแอ็คเคานท์ของข้าราชการ

มีการสืบสวนจากนิตยสารโพลิทิโค (Politico Magazine) อีกด้วยต่างหากว่า สายลับจากจีน และรัฐเซีย แฝงตัวทำงานอยู่ในซิลิคอนวัลลีย์ เพื่อขโมยโนว์ฮาวของบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ อย่าง กูเกิล เฟซบุ๊ก ไมโครซอฟต์ ฯลฯ มากไปกว่านั้น คนจีนที่ทำงานอยู่ในซิลิคอนวัลลีย์ก็ถูกรัฐบาลจีนกดดันให้บอกความลับของบริษัท

สงครามเทคโนโลยีนอกประเทศรุนแรงพอควร แต่ความรุงรังภายในประเทศที่เกิดท่ามกลางบริษัทไอทีทั้งหลายก็คงปรากฎให้เห็นอยู่ไม่น้อย อาจจะด้วยจุดยืนของชาวซิลิคอนวัลลีย์ ที่เอนเอียงไปยังเสรีภาพค่อนข้างมาก ทำให้พนักงานทั้งจากแอมะซอน กูเกิล ไมโครซอฟต์ ต่างออกมาประท้วงบริษัทตัวเอง ทันทีที่บริษัทมีทีท่าจะจับมือทำธุรกิจกับรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์

  • พนักงานกูเกิลประท้วงให้ปรับกฎคุ้มครองการคุกคามทางเพศของพนักงาน และประท้วงให้บริษัทยกเลิกการประมูลระบบคลาวน์คอมพิวติ้งให้เพนตากอน
  • กูเกิลถูกกระแสโจมตีอีกครั้งเมื่อออกแบบ ‘ดราก้อนฟลาย’ ระบบเซ็นเซอร์เซิร์จ เอนจิ้น ให้กับจีน
  • เซลส์ฟอร์ซ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์บนระบบคลาวน์ ถูกพนักงานลงชื่อเรียกร้องให้หยุดทำงานร่วมกับศุลกากร และหน่วยป้องกันชายแดนของสหรัฐฯ
  • พนักงานไมโครซอฟต์เขียนจดหมายเปิดผนึกขอให้บริษัทหยุดทำงานร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และศุลกากร รวมทั้งหยุดการประมูลสัญญาคลาวน์คอมพิวต้ิงของเพนตากอน
  • พนักงานแอมะซอนขอให้ทางบริษัทหยุดให้บริการแอมะซอนเว็บเซอร์วิสต์ระบบคลาวน์ของอเมซอนแก่รัฐบาลสหรัฐฯ

ดูจากสถานการณ์ระหว่างประเทศก็ยังคาราคาซัง ส่วนในประเทศก็ยังไม่มีวี่แววจะดีขึ้น ดังนั้น 2019 ดูจะเป็นปีที่ซิลิคอนวัลลีย์ และสหรัฐอเมริกา ทำงานหนักกันต่อไป

ที่มา :

On Being
198Article
0Video
0Blog