ไม่พบผลการค้นหา
กฤษฎีกาตีความ ธนาคารกรุงไทยไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 55% ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ

ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับหนังสือจาก 'กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน' ว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งผลการตีความสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจของกองทุนฟื้นฟูฯ และ ธ.กรุงไทยแล้ว

โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ตาม (1) มาตรา 4 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561

และเนื่องจากกองทุนฟื้นฟูฯ ปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 55.07% ดังนั้นจึงส่งผลให้ ธ.กรุงไทย ถือว่าไม่มีลักษณะเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็นรัฐวิสาหกิจตาม (2) และ (3) ของบทนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ไปด้วย

ผยง ยังแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยว่า ธนาคารกรุงไทยได้ศึกษาความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของธนาคารแล้ว และได้ข้อยุติว่า โดยผลของความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประกอบกับผลของ พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและการบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2562 ส่งผลให้กรรมการ ผู้บริหารสูงสุด ตลอดจนพนักงานของธนาคาร ไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานของกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 

สำหรับผลกระทบด้านกฎหมายฉบับอื่นๆ ธนาคารจะเรียนแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไปเช่นกัน


ทำเนียบผู้ถือหุ้นรายใหญ่

ราคาในตลาดหุ้นของธนาคารกรุงไทย หรือชื่อย่อ KTB ณ วันที่ 7 พ.ย. 2563 อยู่ที่ 9.15 บาท โดยปรากฏอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่ดังนี้

dvav.png

(ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)


กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ คืออะไร ? 

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในธนาคารแห่งประเทศไทย เรียกว่า "กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน"

ให้กองทุนมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ โดยมี "ฝ่ายจัดการกองทุน" เป็นเจ้าหน้าที่ และให้แยกไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่น มีหน้าที่โดยสรุปดังนี้

1. การแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ

2. การบริหารหนี้ F1 และ F3

ดำเนินการเกี่ยวกับการชำระคืนต้นเงินกู้และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือจัดการและฟื้นฟูสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาวิกฤติทางการเงินเมื่อปี 2540 ตามพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555

3. การบริหารสินทรัพย์

บริหารจัดการสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นจากการให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินในอดีต เช่น 1) หุ้น ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด และหุ้นอื่น ๆ  

2) ลูกหนี้ที่เกิดจากวิกฤติสถาบันการเงิินปี 2540 และตามมาตรา 14 สิงหาคม 2541 และ 3) ทรัพย์สินอื่น อาทิ เงินลงทุนระยะสั้น อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ทั้งนี้ การบริหารจัดการดังกล่าวรวมถึงการเรียกเก็บหนี้ นอกเหนือจากการนำมาเพื่อลดความเสียหายจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลช่วงวิกฤติสถาบันการเงินแล้ว ยังเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ F1 และ F3 ตามพันธกิจที่รัฐบาลมอบหมายด้วย

สถานะของกองทุนฯ มีฐานะทั้งเป็นส่วนหนึ่งและเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในส่วนของการบริหารงานกองทุนฯ เป็นฝ่ายหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยฝ่ายจัดการกองทุนทำหน้าที่ในการบริหารภายใต้กรอบของคณะกรรมการจัดการกองทุน มีการจัดทำบัญชีและงบประมาณเป็นของกองทุนฯ เอง และมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจบัญชี โดยได้รายงานผลการสอบบัญชีนั้นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และแจ้งธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อทราบ


ใครบริหาร ?

ในแง่การบริหาร กองทุนฯ บริหารงานโดยคณะกรรมการจัดการกองทุน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธาน และปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง และมีกรรมการอื่นแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 9 คน

ปัจจุบันคณะกรรมการจัดการกองทุนมีกรรมการทั้งสิ้น 10 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย 3 คน กระทรวงการคลัง 3 คน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย อีกแห่งละ 1 คน โดยมีผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดการกองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งกรรมการจัดการกองทุน เลขานุการคณะกรรมการจัดการกองทุน และผู้จัดการกองทุนด้่วย


อ่านข่าวอื่นๆ :