ไม่พบผลการค้นหา
'เสรี' ขู่ '8 พรรคร่วม' โหวตให้ 'พิธา' นายกฯ ส่อขัด รธน. มาตรา 159 เหตุมีลักษณะต้องห้ามปมถือหุ้นสื่อ ซัดคนนัดชุมนุมหน้ารัฐสภาไร้วุฒิภาวะ ยัน ส.ว.ไม่กลัวม็อบ ขอรักษาหลักการ

วันที่ 10 ก.ค. ที่อาคารรัฐสภา เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคุณสมบัติของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค กรณีถือครองหุ้นสื่อ ว่าจะส่งผลต่อการโหวตเลือกนายกฯหรือไม่

โดย เสรี ระบุว่า ต้องพิจารณาคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกฯ ด้วย การที่ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นแนวทางที่สร้างความชัดเจน ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ กกต.จึงเป็นทางออก เมื่อสอบสวนไต่สวนชัดเจนแล้วสามารถสรุปเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็เป็นแนวทางที่จบปัญหา

เสรี ปฏิเสธว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การสกัดกั้นให้ พิธา เป็นนายกฯ แต่เป็นเรื่องของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้นายกฯ ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่ให้ ส.ส. และ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ส่วนมาตรา 159 ส.ส. และ ส.ว. ต้องเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้ามคือห้ามถือหุ้นสื่อ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ผิดในตัวเองอยู่แล้ว 

อย่างไรก็ตาม ควรส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อหาข้อยุติให้ชัดเจน เพราะการถือหุ้นคือเหตุ ส่วนผลคือรอศาลตัดสิน แต่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น ส.ส. และ ส.ว. ต้องทำตามบทบัญญัติในมาตรา 159 ให้ชัดเจน

“ผมเป็นห่วง 8 พรรคที่เซ็น MOU ว่าจะกล้าตัดสินใจเลือกคนที่คุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเลือกคนขัดรัฐธรรมนูญ คนขาดคุณสมบัติ ทั้งหมดจะเหมือนปลาในข้องเดียวกัน จะมีปัญหากับพรรคเหล่านั้นได้ จึงอยากฝากไปพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเหล่านี้ด้วย การที่แต่ละพรรคจะโหวต พิธา ดูรัฐธรรมนูญมาตรา 159 หรือยัง"

กรณีมีกระแสวิจารณ์ว่า ส.ว.ไม่เคารพเสียงประชาชน เสรี กล่าวว่า พรรคก้าวไกลได้ 14 ล้านเสียง และรวมกับพรรคอื่นๆ ต้องเข้าใจว่าเสียงแต่ละพรรคที่ได้มาคือประชาชนลงคะแนนให้แต่ละพรรค เช่น ลงให้พรรคเพื่อไทย เพราะจะให้แคนดิเดตนายกฯ ทั้ง 3 คน ของพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ เขาไม่ได้ให้เอาคะแนนไปบวกกับพรรคอื่นแล้วเลือกพรรคอื่นเป็นนายกฯ หากแต่ละพรรคเอาเสียงประชาชนไปบวกพรรคก้าวไกล จะกลายเป็นแต่ละพรรคไปทำขัดเจตนารมณ์ประชาชนที่เลือกพรรคนั้นๆมา 

"ดังนั้น อย่าไปรวมกันเลย มันเป็นกระบวนการผ่านความเห็นชอบจากประชาชนมาระดับหนึ่ง แต่การเลือกนายกฯ ก็เป็นสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาทำตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นคนละส่วนกัน สิ่งสำคัญคืออย่ายุยงคนให้ชุมนุมเรียกร้อง เพราะจะปั่นป่วน วันที่ 13 ก.ค.ที่มีการนัดให้กำลังใจนายพิธา หน้ารัฐสภา สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะที่ไม่รับผิดชอบ "

เสรี ย้ำว่า ส.ว.ไม่กังวล เพราะทำถูกต้องตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ หากหวาดหวั่นต่อสิ่งผิด แสดงว่าเป็นคนใช้ไม่ได้ ไม่รับผิดชอบที่กลัวม็อบ กลัวแรงกดดัน จนทำลายหลักการสำคัญของของบ้านเมือง เชื่อว่าคนทั้งประเทศไม่ต้องการให้ตนเป็นคนแบบนั้น 

เมื่อถามว่า ขณะนี้ส.ว.มีความชัดเจนในการโหวตเลือกนายกฯอย่างไร เสรี กล่าวว่า กลุ่มเราชัดเจนว่าจะไม่เลือกคนและพรรคที่ทำเรื่องซึ่งกระทบสถาบัน และกระทบมาตรา 112 เช็คเสียงตอนนี้ยังโหวตไม่ถึง 5 คน หรืออาจบวกลบนิดหน่อย

เมื่อถามว่า ส.ว.หลายคนยินดีโหวตนายกฯเสียงข้างมากกังวลหรือไม่ว่าอาจเป็นพลังเงียบ เสรี กล่าวว่า เงียบก็คือเงียบ มันไม่มีหรอก ถามว่ามีใครออกมาแสดงตัวบ้างว่าสนับสนุน รายชื่อที่ออกมาก็มีแต่ถอย แต่ถ้ามีจริงก็ให้สาธารณชนเห็นด้วยคนจะได้เชื่อ

เมื่อถามว่า ทางพรรคก้าวไกลได้ติดต่อมาบ้างหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ไม่มีการติดต่อมายังตน แต่ได้ข่าวว่ามีติดต่อมาหาเพื่อนส.ว. แต่ก็ถูกปฏิเสธไป บอกว่าถ้าไม่ถอยเรื่อง 112 ก็ไม่เลือก