ทว่า เมื่ออำนาจยุบสภาเป็นของนายกรัฐมนตรี แต่เพียงผู้เดียว นักการเมืองไม่อาจละสายตาไปจาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้
เพราะวันที่ 24 ธ.ค. 2565 มีความหมายต่อนักการเมืองทุกหมู่เหล่า ก็เพราะ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ.2561 มาตรา 41(3) กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน ต่อเนื่องกัน ในกรณีที่รัฐบาลไม่ยุบสภา และกอดคอกันไปจนครบวาระ
และวันครบวาระก็คือ 24 มี.ค. 2566
นั่นหมายความว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยุบสภา นักการเมืองที่เป็น งูเห่าขาประจำ หรือ งูเห่าฝากเลี้ยงทั้งหลาย ที่ฝังตัวอยู่ตามพรรคการเมืองต่างๆ ต้อง “เปิดเผยตัวตน” ย้ายพรรค ไปอยู่พรรคต้นสังกัดที่จ่ายค่าจ้างเลี้ยงดู
ไม่แปลกที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จะออกโรงวิเคราะห์ว่า 24 ธันวาคม วันดังกล่าวเป็นระยะเวลา 90 วันก่อนรัฐบาลครบวาระ ซึ่ง ส.ส.หลายคนอาจย้ายพรรคกันก่อนวันดังกล่าว อาจส่งผลกระทบถึงการตัดสินใจยุบสภาของนายกฯ ได้ หากจัดการเรื่องการย้ายพรรคเสร็จ แต่ส่วนตัวคิดว่าถึงอย่างไรรัฐบาลจะยุบสภาฯ ก่อนครบวาระ
“เพราะผู้มีอำนาจจะได้ประโยชน์สูงสุด เช่น หากยังไม่มีกฎหมายเลือกตั้งก็จะรักษาการได้ยาว กรณีมีกฎหมายเลือกตั้ง เขาจะสามารถคุมจังหวะจัดการเรื่องการย้ายพรรคของ ส.ส. และเตรียมความพร้อมสำหรับพรรคการเมืองของตัวเองได้มากกว่าใคร อีกทั้งยังเป็นการลดแรงกดดันประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง”
“เมื่อฝ่ายผู้มีอำนาจจัดตัว ส.ส. พอยุบสภาปั๊บ ก็ย้ายพรรคได้ทันที ไปอยู่อีกพรรคหนึ่งโดยไม่เสียสิทธิใดๆ ซึ่งเงื่อนไขยุบสภาต้องจัดการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน เป็นช่องทางที่ดูเหมาะสมที่สุด ในการจัดตัวของเขา และลดกระแสคัดค้านจากประชาชน” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย วิเคราะห์
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดบัญชี ส.ส.งูเห่า ที่เตรียมสลับขั้วย้ายพรรค เนื่องจากมีการเปิดตัวไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคใหม่อย่างเปิดเผย มีดังนี้
พรรคเพื่อไทย จักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ
ธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ ผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ นิยม ช่างพินิจส.ส.พิษณุโลก วุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก และสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา
พรรคเพื่อชาติ คือ อารี ไกรนรา ส.ส.บัญชีรายชื่อ
พรรคเศรษฐกิจไทย ปรากฏชื่อ นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์, ธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี และ ธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก
คณะที่พรรคก้าวไกล ที่พร้อมย้ายไปพรรคภูมิใจไทย คือ คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี ส.ส.ชลบุรี พีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย อกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย เกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
แต่เงื่อนไขดังกล่าวใช่ว่าจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตัดสินใจรีบยุบสภา ปิดเกมในวันที่ 24 ธ.ค. 2565ตามการคาดการณ์
เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ และเครือข่ายยังมี “ไพ่ในมือ” อีกหลายใบให้เลือกใช้
และแม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะร่างแผนปฏิบัติงาน เคาะวันเลือกตั้งเอาไว้แต่เนิ่นๆ กรณีที่รัฐบาลอยู่ครบวาระ โดยกำหนดให้วันที่ 7 พ.ค. 2566 เป็นวันเลือกตั้ง แต่ในความเป็นจริงทางการเมือง วันเลือกตั้งอาจไม่ใช่วันที่ 7 พ.ค. 2566 เสมอไป
เช่น หาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจยื้ออำนาจ – ลากยาวไปกระทั่งจวนจะครบวาระ หรือ เหลืออีก 1 วันครบวาระ 24 ม.ค. 2566 แล้วค่อยตัดสินใจยุบสภา
หลังจากพ้น 5 วัน นับตั้งแต่มี พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 103 วรรคสาม
เป็นไปได้ว่า กกต.จะต้องขยับไทม์ไลน์เลือกตั้งออกไป ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติในการ “กาปฏิทินเลือกตั้ง” ของ กกต. จะกำหนดเอาวันสุดท้ายของเส้นตายที่กฎหมายกำหนด 60 วัน เป็นวันเลือกตั้ง หรือ เลือกวันที่ใกล้ครบ 60 วัน หากวันนั้นตรงกับวันอาทิตย์ เพื่อให้ประชาชนสะดวกในการลงคะแนน ล็อกวันเลือกตั้งอาจจะลงเอยช่วงปลายเดือน พ.ค. 2566
หลังเลือกตั้ง กกต.ต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ซึ่งจะตรงกับช่วงต้นเดือน ก.ค. หรือ เร็วกว่านั้น หาก กกต.ใช้เวลาไม่ถึง 60 วัน จากนั้นภายใน 15 วัน ต้องเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก
จากนั้นเป็นช่วงของการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ โดย พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นนายกฯ รักษาการ ไปจนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่
คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ช้าหรือเร็ว รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนด ขึ้นอยู่กับการเลือกนายกฯ ในรัฐสภา ระหว่างนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็รักษาการยาวต่อไป
ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่จำเป็นที่ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องตัดสินใจยุบสภา 24 ธันวาคม เสมอไป