ไม่พบผลการค้นหา
'กมธ.สันติภาพชายแดนใต้' จัดสัมมนาหลังประชุม 7 ครั้ง แลกเปลี่ยนกับผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นสภาพปัญหา-เข้าใจตรงกัน

วันที่ 6 ธ.ค. 2566 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุม 'การสร้างความเข้าใจรากเหง้าความขัดแย้ง และกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี' โดย จาตุรนต์ ฉายแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อแพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ กล่าวเปิดการสัมมนา พร้อมระบุว่า ปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้มีมานับร้อยปี แต่มักถูกอ้างอิงถึงด้วยสถิติตัวเลขผู้สูญเสียชีวิตมากกว่า 7,000 ราย สูญเสียมูลค่า และโอกาสทางเศรษฐกิจ

จาตุรนต์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะกระบวนการสร้างสันติภาพ งบประมาณที่ภาครัฐใช้ไปในระยะหลังนับคร่าวๆ มากกว่า 500,000 ล้านบาท มีหน่วยงานกระทรวงที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบมากกว่า 14 หน่วยงาน แต่อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกัน ทั้งที่มองว่าปัญหาได้คลี่คลายดีขึ้น และที่มองว่าปัญหายังดำรงอยู่

จาตุรนต์ กล่าวอีกว่า จากสภาพปัญหาดังกล่าว สส.ทั้งในและนอกพื้นที่ ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ได้ร่วมกันยื่นมติตั้งคณะ กมธ.ชุดนี้ เพื่อศึกษา และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีการประชุมไปแล้ว 7 ครั้ง ได้พบกับผู้แทนของรัฐบาล เช่น สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และได้มีการตั้งคณะอนุ กมธ. ขึ้นอีกสองคณะ ประกอบด้วย คณะอนุ กมธ. ศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการเจรจาสันติภาพ ที่มี สุธรรม แสงประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน และคณะอนุ กมธ. เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสันติภาพ ที่มี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา เป็นประธาน 

จาตุรนต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า คณะ กมธ. อนุ กมธ. และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ควรจะทำงานในทิศทางเดียวกัน มีความเข้าใจถึงสภาพปัญหา มีชุดข้อมูลที่ตรงกัน จึงได้มีการจัดสัมนาที่เชิงปฏิบัติการขึ้นในวันนี้ เพื่อรับฟังความรู้จากวิทยากรเป็นการภายในก่อน แล้วจึงมีการจัดเวทีเป็นการภายนอกต่อไป 

ทั้งนี้ ในช่วงเช้ามีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่อง การสร้างความเข้าใจรากเหง้าความขัดแย้ง 'การสร้างความเข้าใจรากเหง้าความขัดแย้ง และกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี' โดยผู้ทรงคุณวุฒิ คือ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ รศ.ดร.มารค ตามไท และ ซาอารี เจ๊งหลง ดำเนินรายการโดย รอมฎอน ปัญจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และในเวลา 12.00 น. จะมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงผลงานของคณะ กมธ.ต่อไป


คาด ม.ค.67 ได้ข้อเสนอที่ทุกส่วนรับได้

จาตุรนต์ แถลงผลการดำเนินงานของคณะ กมธ. วิสามัญ หลังมีการประชุมมาแล้ว 7 ครั้ง ระบุว่า วันนี้ได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติภายใต้หัวข้อ 'การสร้างความเข้าใจรากเหง้าความขัดแย้ง และกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี' เพื่อให้คณะ กมธ. คณะอนุ กมธ. และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้รับฟังจากผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญ ให้มีข้อคิดเห็นและความเข้าใจในสภาพปัญหาที่ตรงกัน

จาตุรนต์ เชื่อว่า การสัมมนาครั้งนี้ จะทำให้คณะ กมธ. และที่ปรึกษาได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทั้งยังคาดหวังว่าคณะ กมธ. ชุดนี้จะสามารถร่างเป็นข้อเสนอต่อสภาฯ และเสนอต่อไปยังรัฐบาลได้ จากการประชุมและทำงานมาระยะหนึ่ง มีประเด็นสำคัญที่คณะ กมธ. ได้พิจารณาศึกษา เป็นหัวข้อที่ยากและไม่ได้พูดคุยกันในวงกว้างนัก แม้ในสภาฯ เอง อาทิ

1) บทบาทของรัฐสภาต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ 2) การปรับการทำงานของฝ่ายบริหารเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ และมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบด้านการพูดคุยสันติภาพโดยตรง และทำอย่างเต็มเวลา 3) ขจัดอุปสรรคต่อการเดินหน้าของกระบวนการสันติภาพอันเกิดจากความกลัวต่อปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ไปสู่ระดับสากล 

4) การบัญญัติ แก้ไข และบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพโดยรวม และ 5) ปรับการจัดทำงบประมาณให้สอดคล้องกับแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี และการแสวงหาทางออกทางการเมือง

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ กมธ. ได้รับฟังและแลกเปลี่ยนกัน เช่น การส่งเสริมการเคารพอัตลักษณ์ของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะพยายามดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดเพื่อนำไปเสนอต่อสภาฯ

810999_0.jpg

จาตุรนต์ ระบุว่า การที่คณะ กมธ. มีองค์ประกอบจาก สส.ทั้งจากฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ และนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งมีผู้รู้มาเป็นที่ปรึกษาจำนวนมาก ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่ายินดี ทำให้การศึกษาเรื่องนี้มีความรอบด้าน และรู้ดีว่าประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คาดหวังและรอคอยข้อเสนอที่ดีต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ 

อย่างไรก็ตาม จาตุรนต์ เผยว่า การทำงานของคณะ กมธ. มีแนวโน้มขยายเวลาจากกรอบเวลาเดิมที่ได้รับมา 90 วัน และตั้งหัวข้อในการศึกษาพิจารณาที่ชัดเจน รวมถึงการลงพื้นที่รับฟังปัญหาในเดือนหน้า อย่างน้อย 2-3 ครั้ง พร้อมคาดว่าจะทยอยมีข้อสรุปในประเด็นใหญ่ๆ ช่วงกลางเดือน ม.ค.

สำหรับการทำงานของฝ่ายบริหารที่ไม่เป็นเอกภาพนั้น หมายถึงหน่วยงาน ศอ.บต. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า จาตุรนต์ ชี้แจงว่า การทำงานของภาครัฐมี 2 ส่วน คือคณะพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ ซึ่ง กมธ. จะศึกษาดูว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร อีกส่วนคือการบริหารความรับผิดชอบการแก้ปัญหาความขัดแย้งจากผลกระทบของคำสั่ง คสช. จะเห็นได้ว่าแต่ละหน่วยงานที่ดูแลเรื่องชายแดนภาคใต้รับบัญชาการจากนายกรัฐมนตรีทั้งหมด แต่ไม่มีการประสานเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน แต่ละหน่วยงานยังถือกฎหมายคนละฉบับ

ทั้งนี้ คณะ กมธ. ได้รับทราบข้อเสนอของพรรคก้าวไกลเรื่องการยุบ กอ.รมน. และได้เห็นปัญหาความลักลั่นไม่เป็นเอกภาพ ซึ่งทาง กมธ. จะต้องดูว่าองค์กรที่เหมาะสมในการรับผิดชอบแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ควรจะเป็นอย่างไร

สำหรับการแก้ปัญหากฎหมายพิเศษต่างๆ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก นายจาตุรนต์ ระบุว่า คณะ กมธ. จะหาข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมจากองค์ความรู้ของฝ่ายต่างๆ ให้ฝ่ายบริหารปฏิบัติตามได้หรือไม่ กฎหมายเหล่านี้ควรจะใช้หรือไม่ใช้อย่างไร ควรยกเลิกหรือไม่ แต่บางเรื่องไม่ใช่ปัญหาเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็นปัญหาระดับประเทศ โดย กมธ.มีหน้าที่ทำข้อเสนอที่คิดว่าเหมาะสมที่สุด

ในแง่ของเสียงโหวตในสภาฯ จาตุรนต์ กล่าวว่า กมธ. นี้มีองค์ประกอบทั้ง สส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล การทำข้อเสนอให้เป็นที่ยอมรับของสภาฯ เป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งยังได้รับการช่วยเหลือจากสถาบันพระปกเกล้าให้มีการสอบถามความเห็นจาก สส. ให้กว้างขวาง เพื่อจัดทำข้อเสนอที่เป็นที่ยอมรับจาก สส.

ส่วนคณะกรรมการจะมีการพูดคุยถึงประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน เช่นความเห็นเรื่องการกระจายอำนาจ หรือรูปแบบการบริหารปกครองพิเศษ หรือไม่นั้น จาตุรนต์ ยืนยันว่า จะต้องมีการพูดคุยแน่นอน เรื่องเหล่านี้ต้องศึกษาหาข้อมูลให้ได้ข้อสรุป หาเรื่องมีผลกระทบต่อทั้งประเทศ พร้อมย้ำว่า การกระจายอำนาจของทั้งประเทศขณะนี้มีสถานะถอยหลัง ส่วนรูปแบบการปกครองพิเศษ ต้องยอมรับว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความแตกต่างจาก กทม. และเมืองพัทยา ดังนั้น ต้องหาสมดุลที่ควรมีการกระจายอำนาจมากขึ้น เหมือนหลายจังหวัดที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว

ส่วนจะมีกฎหมายมาคุ้มครองผู้เห็นต่างและผู้อยู่ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาจากประเทศต่างๆ รวมถึงการทำงานที่ผ่านมาของประเทศไทยด้วย แต่ปัญหานี้ก็มีความซับซ้อน เนื่องจากหาเรื่องที่มีการดำเนินคดีและมีประชาชนผู้เสียหาย การจะออกกฎหมายเพื่อระงับการดำเนินคดีหรือนิรโทษกรรม ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก แต่ก็ต้องคิดหากฎหมายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่นที่พูดกันมากถึงกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ก็เป็นโจทย์หนึ่งที่คณะ กมธ. ต้องพิจารณา